“เสถียร จันทิมาธร”

ถามว่าทำไมต้องนำรายละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านซุนกวน ทางด้านจิวยี่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านโลซก มาถ่ายทอดอย่างชนิดที่เรียกว่าเกือบทุกเม็ด

ตอบได้เลยว่า ข้อมูลเหล่านี้ “สำคัญ”

ขณะเดียวกัน ถามว่าทำไมต้องหยิบยกเอาเนื้อหาจากสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) มาเป็นตัวหลักนำร่อง

คำตอบ เพราะความ “คลาสสิค”

แม้จะเป็นการแปลในลักษณะตัดทอน ตอนแต่ง ระหว่างซินแซผู้รู้ภาษาจีน กับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการใหญ่ แต่กล่าวในแง่สำนวนภาษาแล้วก็ต้องยอมรับว่า ยอดเยี่ยม ล้ำเลิศ เป็นอย่างยิ่ง

คำยกย่องจาก “ปราชญ์” สมัยรัชกาลที่ 6 ไม่ผิดพลาดหรอก

ขณะเดียวกัน สำนวนแปล วรรณไว พัธโนทัย ก็สำคัญ สำนวนแปล พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ก็ทรงความหมาย

การผสาน 3 สำนวนเข้าด้วยกันจึงทำให้เห็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ เรียนรู้อย่างถี่ถ้วนก็คือ ซุนกวนคิดอย่างไร จิวยี่คิดอย่างไร ขณะที่เผชิญกับแรงกดดันจาก “ภายนอก” และ “ภายใน”

ภายนอก 1 คือ ทัพโจโฉ ภายนอก 1 คือยุทธศาสตร์ของเล่าปี่ที่กำหนดโดยขงเบ้ง

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์อันเรียกว่า “นโยบายบนยี่ภู่” ที่กำหนดและจัดวางไว้โดยโลซกก็ถือได้ว่าเป็นปัจจัยภายในที่สำคัญ

การอ่านกระบวนการของ “หลอกวนจง” จึงต้องอ่านอย่าง “วิเคราะห์”

สามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า ครั้นเวลาเย็นโลซกก็พาขงเบ้งมาหาจิวยี่ จิวยี่ให้นั่งโดยสมควร

โลซกจึงถามจิวยี่ว่า “บัดนี้โจโฉคิดจะทำร้ายเราจะคำนับดีหรือจะทำประการใดขอท่านว่าให้แจ้ง”

จิวยี่จึงว่า “อันโจโฉทำการทั้งนี้ถือเอารับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นใหญ่ครั้นจะขัดแย้งอยู่เล่าก็เหมือนคิดคดต่อแผ่นดิน อนึ่ง ทหารโจโฉก็มากล้วนมีฝีมือเข้มแข็งนัก ฝ่ายเราก็น้อยตัวเห็นจะสู้โจโฉมิได้ ถ้าเราออกไปนอบน้อมโจโฉนั้นจะมีความสุขเห็นฉะนี้เป็นมั่นคง เวลาพรุ่งนี้จะเข้าไปว่าแก่ซุนกวนให้แต่งคนออกไปคำนับตามประเพณี”

สำนวนแปลตรง “เนื้อความ” นี้ไม่ว่าสำนวน วรรณไว พัธโนทัย ไม่ว่าสำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ล้วนตรงและสอดรับกับสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

วรรณไว พัธโนทัย ว่า “พรุ่งนี้จะไป พบกับนายของเราแล้ว จะส่งทูตไปขอสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ”

พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ว่า “ข้าตัดสินใจ พรุ่งนี้เจอนายท่านจะให้ ยอมแพ้”

สํานวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) โลซกได้ฟังดังนั้นก็โกรธจึงว่า “ท่านเจรจาฉะนี้ผิดนัก แลแผ่นดินเมืองกังตั๋งได้ว่าราชการสืบกันมาจนถึง 3 ชั่วคนแล้วก็มิได้อ่อนน้อมต่อผู้ใด ครั้งนี้ท่านจะให้ออกแก่โจโฉนั้นเห็นประการใด

“เมื่อซุนเซ็กจะถึงแก่ความตายนั้นก็ได้สั่งไว้แก่ท่านให้ช่วยทำนุบำรุงซุนกวนผู้น้อง

“หวังว่าจะให้เมืองกังตั๋งมั่นคงเหมือนได้อิงภูเขา เหตุไฉนเมื่อการมาถึงแล้วท่านจะสละเสีย มิได้ช่วยทำนุบำรุง จะพลอยตามถ้อยคำสอพลอดังนี้”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย อ้างคำพูดโลซกท่อนท้ายว่า “พวกเราหวังพึ่งท่านที่จะรักษาแผ่นดินไว้ให้มั่นคงเหมือนหนึ่งได้พึ่งพิงภูเขาไทสัน แต่เหตุไฉนท่านกลับเห็นงามตามอ้ายพวกขี้ขลาดทั้งหลายไปด้วยเล่า”

สำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช อ้างคำพูดโลซกท่อนท้ายว่า “เวลานี้ต้องการให้ท่านขุนพลเป็นดังขุนเขาไท่ซาน พิทักษ์ปกป้องดินแดน เหตุไฉนท่านจึงแสดงความเห็นดังหนึ่งคนขี้ขลาด”

คำพูดนี้สะท้อนความเป็นจริงและตัวตนของโลซกได้ครบถ้วน

1 เป็นความผิดหวังเพราะคาดหมายจิวยี่เอาไว้เป็นอย่างสูงว่า น่าจะมีความคิดโน้มเอียงหรืออย่างน้อยก็คล้ายๆ กับของตน

1 เป็นความเชื่อมั่นใน “แนวทาง” ของตนอย่างเด็ดเดี่ยว เฉียบขาด

ยิ่งกว่านั้น หากศึกษากระบวนการแห่ง “ถ้อยคำ” ของจิวยี่ไม่ว่าเมื่อพบโลซกเบื้องต้น พบเทียเภา พบลิบอง หรือแม้กระทั่งเมื่อพบกับฝ่ายบุ๋นอย่างเตียวเจียว หรือจูกัดกิ๋น อาจสัมผัสได้ในความลังเลและไม่แน่ใจ

กระนั้น ก็ไม่ถึงขนาดที่ออกมายอมรับว่า “พรุ่งนี้จะเข้าไปว่าแก่ซุนกวนให้แต่งคนออกไปคำนับตามประเพณี”

อารมณ์ของโลซกจึงแสดงออกด้วยความพลุ่งพล่านอย่างเป็นพิเศษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน