“เสถียร จันทิมาธร”

สามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) บรรยายว่า ครั้นเวลาเช้าซุนกวนออกว่าราชการ ขุนนางฝ่ายทหารพลเรือนอยู่พร้อมกัน จิวยี่เข้าไปคำนับแล้วจึงว่า

“บัดนี้ข้าพเจ้าแจ้งว่าโจโฉยกกองทัพมาจะทำอันตรายแก่เมืองเราท่านจะคิด ประการใด”

ซุนกวนเห็นจิวยี่เข้ามาว่าดังนั้นก็มีความยินดีจึงเอาหนังสือซึ่งโจโฉให้มานั้นส่งให้ จิวยี่ดู จิวยี่คลี่หนังสือออกอ่านแล้วจึงว่า

“อ้ายศัตรูแผ่นดินเฒ่านี้คิดว่าเมืองกังตั๋งหามีคนดีที่จะรู้เท่าไม่หวังจะเกลี้ยกล่อมให้ตายใจ”

ซุนกวนได้ยินดังนั้นจึงถามว่า “เนื้อความทั้งนี้ท่านเห็นเป็นประการใด”

ปรึกษาคนทั้งปวงแล้วหรือเขาเห็นพร้อมกันเป็นประการใด”

ซุนกวนจึงว่า “ปรึกษายังมิตกลง ที่จะให้เราเข้าไปคำนับก็ว่า จะให้ต่อสู้ก็ว่า ความ 2 ประการนี้แก่งแย่งกันอยู่ จึงให้เชิญท่านมาบัดนี้หวังจะให้ว่าลงให้ขาด”

จิวยี่จึงว่า “ซึ่งปรึกษาจะให้ไปคำนับนั้นผู้ใด”

สามก๊กสำนวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายถึงคำตอบของซุนกวนว่า “เตียวเจียวกับพวกยืนยันให้ทำเช่นนั้น”

จิวยี่จึงหันไปถามเตียวเจียวว่า “ท่านมีเหตุผลอันใดจึงยืนยันให้ยอมสวามิภักดิ์ ข้าพเจ้าใคร่ขอทราบ”

ท่วงทำนองของจิวยี่ถือว่า รอบคอบและรัดกุม

เหตุผลของเตียวเจียวปรากฏผ่านสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า ข้าพเจ้าเห็นว่า โจโฉมาปราบปรามบ้านเมืองทั้งนี้ด้วยถือรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นข้อใหญ่

อนึ่ง โจโฉก็ได้เมืองเกงจิ๋ว ซ่องสุมผู้คนไว้เป็นอันมาก

เห็นมีกำลังใหญ่หลวงนักจะสู้มิได้จึงจะให้ไปคำนับตามประเพณีก่อน ภายหลังจึงคิดผ่อนผันไปตามควร

สำนวนแปล วรรณไว พัธโนทัย ระบุคำของเตียวเจียวว่า

อันโจโฉนั้นได้องค์เทพบุตรไว้ใต้นิ้วหัวแม่มือของเขา จึงออกปราบปรามหัวเมือง ทั้งหลายทั้ง 4 ทิศโดยอ้างรับสั่งของฮ่องเต้เป็นประมาณ

เมื่อเร็วๆ นี้เขายึดเกงจิ๋วไว้ได้จึงมีศักดาอานุภาพมากขึ้น

กังตั๋งจะสามารถต้านทานโจโฉได้ก็ด้วยกำลังน้ำในแม่น้ำ (แยงซีเกียง) เท่านั้น แต่บัดนี้โจโฉมีเรือรบ เรือไล่ พร้อมสรรพนับพันๆ ลำ ถ้าเขาบุกเข้าตีเราทั้งทางบกและทางน้ำเราจะต้านไหวหรือ

สู้อ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ไปก่อนแล้วจึงค่อยคิดอ่านแก้ไขกันภายหลังดีกว่า

อาจกล่าวได้ว่าบทสรุปของเตียวเจียวคือ 1 โจโฉมีความชอบธรรม เพราะดำเนินการภายใต้โองการแห่งฮ่องเต้ 1 ทัพของโจโฉมีกำลังมากกว่า ยิ่งได้เกงจิ๋วเข้ามาเสริมยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่ง ขณะที่ กังตั๋งมีความได้เปรียบเฉพาะ “กำลังน้ำ” ในแม่น้ำแยงซีเกียงเท่านั้น

จึงเห็นว่าควรจะ “ยอมสวามิภักดิ์” แล้วค่อยหาทางแก้ไขในภายหลัง

ท่าทีของเตียวเจียวเป็นเช่นเดียวกับที่เคยสรุปให้ซุนกวนรับทราบในเบื้องต้น ดำเนินไปเช่นเดียวกับที่ปรึกษาคนอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นยีหวน ไม่ว่าจะเป็นโปเจ๋า

ไม่ว่าจะเป็นซีหอง ไม่ว่าจะเป็นลกเจ๊ก ไม่ว่าจะเป็นเหยียมจุ้น ไม่ว่าจะเป็นเทียตก ไม่ว่าจะเป็นโกะหยง

คำยืนยันของโกะหยง ที่ว่า

“อันเล่าปี่นั้นแพ้โจโฉมาจึงต้องการจะอาศัยกองทัพของเราไปสู้กับโจโฉ เหตุไฉนท่านจึงยอมให้เล่าปี่ใช้อย่างง่ายๆ เช่นนี้ ข้าพเจ้าอยากจะให้ท่านฟังคำของเตียวเจียวให้จงดีเถิด”

เป็นการยืนยันโดยตรงกับซุนกวน

เท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่า ยกเว้นโลซกแล้ว บรรดาที่ปรึกษาล้วนเห็นไปในแนวทางเดียวกันกับเตียวเจียว นี่ย่อมขัดกับความต้องการลึกๆ ของซุนกวน

สถานการณ์ภายหลังจิวยี่ได้ถูกเรียกตัวเข้ามายังกังตั๋งและผ่านการแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งจากขงเบ้ง จากโลซก ประสานเข้ากับความเห็นจากเตียวเจียว

ท่าทีของจิวยี่ก็เริ่มแปรเปลี่ยน

การแปรเปลี่ยนของจิวยี่สอดรับกับเป้าหมายที่ขงเบ้งกำหนดเอาไว้ครบถ้วน ขณะเดียวกัน ก็สอดรับกับความต้องการอันแน่วแน่ของโลซก

ยิ่งกว่านั้น ซุนกวนก็คิดเช่นนี้เหมือนกันแต่มิได้แสดงออกอย่างแจ้งชัด

หลังฟังเหตุผลจากปากของเตียวเจียวอันเหมือนกับเป็นบทสรุปร่วมของบรรดาที่ปรึกษาฝ่ายพลเรือนแล้ว ท่าทีของจิวยี่ที่ปรากฏออกมาเฉียบขาด และมั่นคงอย่างยิ่ง

จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียด รอบด้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน