“เสถียร จันทิมาธร”

ในฐานะมือรองของจิวยี่ในการศึกโลซกรับรู้กระบวนการทางความคิด และการเคลื่อนไหวทางการทหารของจิวยี่อย่างค่อนข้างละเอียด

ไม่ว่าความพยายามเสนอแผนยืมมือโจโฉเพื่อกำจัดขงเบ้ง

และต่อมาก็คือการส่งเทียบเชิญเล่าปี่และคณะให้มาปรึกษาการสงคราม สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า

โลซกจึงถามจิวยี่ว่า “ท่านจะให้เล่าปี่มาหานั้นจะประสงค์สิ่งใด”

จิวยี่ตอบว่า “อันน้ำใจเล่าปี่นั้นมิได้รู้คุณคน แม้จะสมัครสมานด้วยเล่าปี่นานไปก็จะทำร้ายแก่เรา จำจะคิดอ่านกำจัดเสียแต่กำลังยังน้อยอยู่ดีกว่า”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายความต่อเนื่องว่า

ฝ่ายจิวยี่ส่งเล่าปี่แล้วก็กลับเข้าค่าย โลซกถามว่า “ท่านล่อเล่าปี่มาถึงที่นี่ได้แล้วไฉนจึงไม่ฆ่าเสีย”

จิวยี่ตอบว่า “กวนอูเป็นยอดทหารเรือแห่งยุคเราติดตามเล่าปี่มาด้วย ข้าพเจ้าสั่งการลงไปอ้ายกวนอูก็คงจะต้องทำร้ายข้าพเจ้าเป็นแน่”

โลซกได้ฟังดังนั้นก็พอใจเป็นอย่างยิ่ง

พอดีทหารเข้ามาบอกว่าโจโฉแต่งทูตถือสาส์นมาพบ จิวยี่จึงเชิญให้เข้ามาข้างใน ทูตยื่นสาส์นของโจโฉให้จิวยี่หน้าซองเขียนว่า

“ถึงท่านขุนพลจิวยี่ จากสมุหนายกราชวงศ์ฮั่น”

สํานวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า จิวยี่เห็นดังนั้นก็โกรธจึงฉีกหนังสือขยี้ทิ้งเสีย สั่งให้เอาผู้ถือหนังสือไปฆ่าเสียด้วย

โลซกจึงว่า

“คำโบราณกล่าวไว้ว่า แม้เมืองใดเป็นศึกกันก็ดีอย่าให้ทำอันตรายแก่ผู้ถือหนังสือแลผู้คนไปมานอกจากคนแปลกปลอมเป็นอันขาดทีเดียว เหตุใดท่านจึงจะมาฆ่าผู้ถือหนังสือเสียดังนี้”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า

โลซกทัดทานว่า “เมื่อ 2 แผ่นดินกระทำศึกกัน ทูตของ 2 ประเทศไม่ควรต้องถูกประหาร”

จิวยี่ตอบว่า “เราประหารเพื่อแสดงอานุภาพของเรา”

ว่าแล้วสั่งให้เอาตัวทูตไปตัดศีรษะมอบให้ผู้ติดตามถือกลับไปให้โจโฉ

บทบาทของ โลซกจึงเป็นบท บาทในความพยายามทัดทาน กระนั้น ความโน้มเอียงของโลซกก็เด่นชัดว่าดำเนินไปอย่างไร

นั่นก็คือ เขาจะอ่อนไหวมากเป็นพิเศษต่อกรณีอันเกี่ยวกับพันธมิตรระหว่างซุนกวน เล่าปี่

นั่นก็คือ ต่อโจโฉเขาจะมีความเด็ดเดี่ยวที่จะเดินหน้าเข้าสัประยุทธ์ต่อกร การทัดทานอาจมีเพื่อรักษาหลักการ แต่ก็มิได้ยืนหยัดอย่างไม่ยอมแปรเปลี่ยน

กระนั้น คนที่ตัดสินใจย่อมเป็นจิวยี่ในฐานะ “ผู้บังคับบัญชา”

ในฐานะผู้บังคับบัญชาจิวยี่ย่อมรับรู้การข่าวมาเป็นอย่างดีว่า แม้โจโฉไม่ชำนาญการรบทางน้ำ แต่ก็ได้ความช่วยเหลือจากทหารเก่าอันเคยรับใช้เล่าเปียวในเกงจิ๋ว

โดยเฉพาะบทบาทของชัวมอ และ เตียวอุ๋น

การข่าวนี้เมื่อประสานกับการเดินทางเข้ามาของเจียวก้าน เพื่อนเก่าแก่ของจิวยี่ ทำให้จิวยี่มีโอกาสแสดงความสามารถในการวางแผนย้อนกลับได้อย่างแยบยล สร้างกลอุบายสร้างความระแวงสงสัยต่อชัวมอ เตียวอุ๋น ให้เกิดขึ้นกับโจโฉ

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า ฝ่ายกองลาดตระเวนนำข่าวการประหาร ชัวมอ เตียวอุ๋น ไปรายงานต่อจิวยี่

จิวยี่ดีใจนัก ร้องลั่นด้วยความยินดีว่า “อ้าย 2 ตัวนี้เป็นตัวร้ายที่เราต้องกังวลอยู่ บัดนี้มันตายแล้วก็ไม่มีอะไรต้องวิตกกังวลเหลืออยู่อีก”

โลซกจึงว่า “ท่านแม่ทัพใช้ยุทธวิธีอย่างนี้โจโฉจะต้องแพ้ไปไม่ต้องสงสัยเลย”

จิวยี่ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าขุนนางทั้งปวงไม่สามารถล่วงรู้กลอุบายของข้าพเจ้านี้ได้เลย จะมีก็แต่ขงเบ้งคนเดียวเขาฉลาดกว่าข้าพเจ้า ที่จะไม่รู้เห็นจะไม่มี ท่านลองไปพูดคุยลองเชิงดูทีหรือว่าขงเบ้งจะรู้หรือไม่แล้วกลับมารายงานให้ข้าพเจ้าทราบ”

นั่นคือบทบาทของโลซก นั่นคืองานที่จิวยี่มอบหมายให้โลซกแบกรับ

ไม่ว่าจะมองผ่านบทบาทในทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะมองผ่านบทบาทในฐานะผู้ช่วยของจิวยี่ในการทำศึกเซ็กเพ็กกับทัพโจโฉ

โลซกดำรงบทบาทในฐานะ “ผู้ประสาน”

เป็นการประสานระหว่างซุนกวนกับเล่าปี่ เป็นการประสานระหว่างจิวยี่กับเล่าปี่และขงเบ้ง เพื่อดำรงจุดหมายตาม “นโยบายบนยี่ภู่” อันเป็น “ยุทธศาสตร์กังตั๋ง”

นั่นก็คือ ทำแนวร่วมกับเล่าปี่เพื่อสัประยุทธ์กับโจโฉ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน