“เสถียร จันทิมาธร”

จากการสรุปและประเมินผลของ “หลีอันสือ” จากการแปลของ เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล ต่อกรณีศึกเซ็กเพ็ก เมื่อปี ค.ศ.208

เป็นการต่อสู้ระหว่างโจโฉกับซุนกวนเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น

ฝ่ายเล่าปี่แทบไม่ได้ลงแรงอะไรเลย แต่กลับได้ประโยชน์มากที่สุดเพราะถือโอกาสที่โจโฉล่าถอยเข้ายึด 4 เมืองแห่งเกงจิ๋วมาครอง ได้แก่ บุเหลง เตียงสา เลงเหลงและฮุยเอี๋ยง

จากนั้นก็อาศัยเมืองเหล่านี้เป็นฐานบุกยึดเอ๊กจิ๋วและสถาปนาจ๊กก๊กในเวลาต่อมา

ส่วนฝ่ายซุนกวนนับว่าออกสู้รบเสียเปล่า แม้จะชนะศึกและได้ลำกุ๋นกับครึ่งหนึ่งของ กังแฮมาครองด้วยความยากลำบาก แต่กลับต้องให้เล่าปี่ “ยืม” ลำกุ๋นซึ่งมีอาณาเขตใหญ่กว่า

แต่แล้วเล่าปี่กลับไม่ยอมคืน

โจโฉต้องกลายเป็นผู้แพ้ที่สูญเสียมากที่สุดในสงครามครั้งนี้ ไม่เพียงเสียทหารนับแสนนาย เกงจิ๋วที่เพิ่งได้มาก็เสียไปจนเกือบหมด ที่สำคัญคือ เล่าปี่อาศัยโอกาสนี้สร้างอำนาจจนแข็งแกร่งทำให้แผ่นดินต้องแบ่งเป็น 3 ขั้วอำนาจใหญ่

โจโฉไม่เพียงไร้กำลังโจมตีกังหลำแม้แต่เอ๊กจิ๋วยังไม่อาจเข้าไปได้ ความฝันที่จะรวมประเทศจีนเป็นหนึ่งจึงดับฝันไปตลอดกาล

สีจ๋าวฉื่อ นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตกกล่าวว่า

“ในอดีตพระเจ้าฉีหวนกงเคยถูก 9 รัฐลุกขึ้นต่อต้านเพราะมักโอ้อวดคุณงามความดีของตน ส่วนโจโฉแบ่งฟ้าดินเป็น 3 ขั้วอำนาจเพราะความหยิ่งผยองเพียงชั่วขณะ ทั้ง 2 ทำลายสิ่งที่สั่งสมมาหลาย 10 ปี ให้พังพินาศลงในชั่วข้ามคืน”

นี่เป็นบทวิจารณ์ที่ดีที่สุดสำหรับ “ศึกผาแดง”

หลังศึกเซ็กเพ็ก 2 ปี ในค.ศ.210 รัชศกเจี้ยนอันปีที่ 15 เล่าปี่เดินทางเข้าพบซุนกวนที่ง่อก๊กหวังจะยืมเมืองลำกุ๋นโดยให้เหตุผลว่าไพร่พลเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน หากได้ ลำกุ๋นเพิ่มผู้คนจึงจะลงหลักปักฐานได้

จิวยี่ยื่นหนังสือต่อซุนกวนเป็นการเฉพาะ

“เป็นที่ทราบกันดีว่า เล่าปี่เป็นบุรุษผู้เห่อเหิมทะเยอทะยานยิ่งนัก ทั้งยังมีแม่ทัพ ผู้เก่งกาจอย่างกวนอูและเตียวหุยคอยเป็นแขนขา คงไม่พอใจกับการอยู่ใต้อำนาจผู้อื่นอย่างถาวรแน่

“ข้าเห็นว่าเราควรสร้างวังหรูหราให้เล่าปี่พำนักพร้อมให้สาวงามจำนวนมากคอยบำเรอ ให้เขาเสพสมความสนุกเพลิดเพลินจนลืมซึ่งความทะเยอทะยาน ส่วนกวนอูและเตียวหุยควรให้แยกไปประจำการอยู่คนละที่

“แล้วให้คนอย่างข้าจิวยี่เป็นผู้บัญชา การรบ เมื่อนั้นทั่วหล้าจึงจะสงบ

“แต่วันนี้เรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้น มิหนำซ้ำยังจะแบ่งดินแดนแก่เขา ให้ 3 คนนั้นใช้เป็นทุนร่วมรบในสมรภูมิเกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มังกรทะยานขึ้นฟ้าไม่ยอมสถิตอยู่ใต้น้ำอีกต่อไปเสียมากกว่า”

ข้อเสนอ “จิวยี่” ดังนี้ ต่างจากความเห็นของ “โลซก”

ความจริง ความคิดในการ “ฮุบ” ลำกุ๋นของเล่าปี่มิใช่เพิ่งเริ่มคิด หากดำรงอยู่ในยุทธศาสตร์ของขงเบ้งมานานแล้วตั้งแต่เพิ่งเสร็จศึกผาแดงใหม่ๆ

เรื่องนี้จิวยี่อ่านออกตั้งแต่ต้น

ขณะที่โลซกมีความเห็นมาตั้งแต่ต้นอีกเหมือนกันว่า “ถ้ายกทัพไปรบเอาเมืองลำกุ๋นไม่ได้ก็ให้เล่าปี่ตีเอาเถิด”

ดังนั้นเมื่อเล่าปี่เดินหน้าตามยุทธศาสตร์โลซกก็ยังยืนยัน

“เราจะแช่แข็งเล่าปี่ไม่ได้เด็ดขาด แม้ท่านแม่ทัพจิวยี่จะได้รับชัยชนะในศึกผาแดงแต่เขี้ยวเล็บของโจโฉยังแข็งแรงมาก เราเพิ่งได้เกงจิ๋วมาครองจิตใจของชาวเมืองยังไม่ภักดีต่อเราไม่สู้ให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วเสีย ยืมมือเขาบริหารบ้านเมืองซื้อใจประชาชน เช่นนี้โจโฉจะได้มีศัตรูเพิ่มขึ้น ส่วนเราก็จะมีพันธมิตรเพิ่มขึ้น นี่เป็นอุบายที่ดีที่สุด”

หลังเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้วซุนกวนตัดสินใจดำเนินการตามอุบายที่โลซกเสนอ

โจโฉทราบข่าวเรื่องซุนกวนให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วในขณะที่กำลังเกษียณหนังสืออยู่พอดีก็ตกใจสุดขีดพู่กันในมือหลุดร่วงลงพื้นโดยไม่รู้ตัว

ไม่ว่ากลยุทธ์การยืมเกงจิ๋วอันมาจากเล่าปี่ ไม่ว่ากลยุทธ์ยินยอมให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วอัน ซุนกวนทำตามข้อเสนอแนะของโลซก

ดำเนินตาม “แถลงการณ์หลงจ้ง” ดำเนินตาม “ยุทธศาสตร์กังตั๋ง”

เพราะโลซกเห็นความจำเป็นในการดำรงพันธมิตรในแนวร่วมระหว่างซุนกวน เล่าปี่ เพื่อต่อกรกับโจโฉ ขณะที่ขงเบ้งพัฒนายุทธศาสตร์ปีกขั้นหนึ่ง อาศัยลักษณะพันธมิตรในแนวร่วมให้เป็นผลดีต่อตนเอง

เป็นผลดีต่อการสร้างความมั่นคงและขยายพื้นที่ให้กับเล่าปี่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน