“เสถียร จันทิมาธร”

กรณีที่ซุนกวนปฏิเสธบังทองถือว่าเป็นกรณีน่าศึกษา 1 อาจเพราะว่าบังทองกล่าววาจาล่วงล้ำก้ำเกินต่อจิวยี่ที่ซุนกวนให้ความนับถือ แต่อีกเหตุผล 1 เป็นเรื่อง เนื่องแต่ “นรลักษณ์”

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายความรู้สึกของซุนกวน

“จึงพิจารณารูปแลลักษณะบังทอง เห็นคิ้วใหญ่ จมูกโด่ง หน้าดำ หนวดสั้น รูปนั้นวิปริตนัก น้ำใจจึงไม่ยินดี”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย

“เห็นคิ้วดกดำ จมูกเชิด หน้าดำ หนวดสั้น รูปร่างอัปลักษณ์ก็ไม่ถูกใจ”

สำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช “ซุนเฉวียนเห็นคนนี้มีคิ้วดกหนา จมูกโด่ง หน้าดำ มีเคราเล็กๆ รูปลักษณ์แปลกพิกล ในใจไม่ชอบ”

หลู่ซู่ถามว่า “นายท่านทำไมไม่รับผางซื่อหยวน”

ซุนเฉวียนว่า “คนบ้าบอ จะมีประโยชน์อะไร”

ขณะที่สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซุนกวนให้เหตุผลที่ไม่รับบังทองไว้ทำราชการว่า “เราพิเคราะห์ดูรูปร่างก็ไม่สมที่ว่ามีสติปัญญา แล้วพูดจาพลุ่มพล่ามถึงเอาไว้ก็ไม่เห็นจะได้ราชการ”

แม้โลซกจะอ้างว่าบังทองช่วยจิวยี่แต่งกลอุบายไปลวงโจโฉจึงได้เผาเรือ

“โจโฉทำการครั้งนั้นเป็นความคิดของโจโฉเองจะเป็นความคิดบังทองนั้นหาไม่ เราไม่ชอบใจไม่เอาไว้แล้ว”

การครั้งนี้จึงสะท้อนทั้งซุนกวน จึงสะท้อนทั้งโลซก

โลซกจึงไปหาบังทองว่า “เราช่วยว่ากล่าวอุดหนุนท่านก็หนักหนา ซุนกวนก็ไม่เอาท่านไว้ท่านจงค่อยรักษาตัวอยู่พลางเถิด”

บังทองได้ยินโลซกว่าดังนั้นก็ก้มหน้านิ่งเสียมิได้ตอบประการใด แต่ทอดใจใหญ่อยู่

โลซกจึงว่า “เราเห็นกิริยาอาการท่าน ต่อจะไม่อยู่ในเมืองกังตั๋งแล้วท่านก็มีวิชาการประกอบทั้งปัญญาจงพิเคราะห์ดูเห็นว่าจะไปอยู่ทิศใด ตำบลใด จะเป็นประโยชน์แก่ท่านก็เชิญบอกเราให้แจ้งเถิด”

บังทองได้ยินดังนั้นจึงบอกว่า “น้ำใจเราใคร่ไปอยู่ด้วยโจโฉ”

โลซกจึงว่า “ท่านมีสติปัญญาดุจแก้วอันงามซึ่งจะไปอยู่ด้วยโจโฉนั้นเหมือนไปอยู่ในที่มืดที่ลับไม่สมควร ขอท่าน ไปอยู่ ณ เมืองเกงจิ๋ว อยู่ด้วยเล่าปี่เห็นจะเป็นประโยชน์แก่ท่าน”

บังทองจึงตอบว่า “ความจริงในใจเราคิดเหมือนหนึ่งท่านว่า ที่เราจะไปอยู่ด้วยโจโฉนั้นหากว่าลองใจท่านดู”

โลซกจึงว่า “กระนั้น เราจะมีหนังสือไปถึง เล่าปี่ใบหนึ่งฝากท่านไปให้ช่วยทำนุบำรุงเล่าปี่ หวังมิให้เล่าปี่กับซุนกวนนายเราเป็นอริแหนงใจกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย จะได้พร้อมใจช่วยกันกำจัดโจโฉเสีย”

บังทองจึงว่า “ความคิดท่านเหมือนหนึ่งข้าพเจ้าคิดไว้เชิญท่านเขียนหนังสือเถิด”

โลซกเขียนหนังสือให้บังทอง บังทองก็รับเอาหนังสือแล้วไปเมืองเกงจิ๋ว

หากตรวจสอบกับสำนวน วรรณไว พัธโนทัย ก็จะมองเห็นจุดต่างเล็กน้อยแต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไป

เมื่อบังทองบอกว่าจะไปอยู่กับโจโฉ โลซกได้ท้วงขึ้น

“ไปอยู่กับโจโฉก็เท่ากับเอาไข่มุกที่สุกใสไปทิ้งไว้ในที่มืดเท่านั้นเอง ท่านควรไปหาเล่าปี่ที่เกงจิ๋วดีกว่า เล่าปี่คงจะรับท่านไว้ด้วยความยินดีเป็นแน่”

เปรียบเทียบกับสำนวนแปล พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช

“เหมือนไข่มุกต้องตกลงในที่มืด ท่านควรไปจิงโจวไปพึ่งพระเจ้าอาหลิวท่านต้องให้ความสำคัญกับท่านแน่นอน”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย ตรงกับสำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตัดคำ “ไข่มุก” ออกไปแล้วใช้รูปประโยค “ท่านมีสติปัญญาดุจแก้วอันงาม ซึ่งจะไปอยู่ด้วยโจโฉนั้นเหมือนไปอยู่ในที่มืดที่ลับ ไม่สมควร” ทำนองเดียวกับเอาคำว่า “มะเฟือง” มาแทนคำว่า “บ๊วย” กระนั้น

คำสนทนาระหว่างโลซกกับบังทองนี้สำคัญ

สําคัญ 1 สะท้อนให้เห็นว่าบังทองเป็นคนมากด้วย “กลยุทธ์” ตั้งใจจะไปอยู่กับ เล่าปี่แต่ก็เสนอชื่อโจโฉมาเพื่อประลองใจ

สำคัญ 1 สะท้อนถึงจุดยืนอันแน่วแน่ของโลซก

แม้ไม่สามารถนำเอาบังทองมาร่วมทำงานในง่อก๊กตามเป้าหมายได้ แต่ก็ไม่ยอมให้ตกไปอยู่ในมือของโจโฉ ตรงกันข้าม กลับหนุนให้บ่ายหน้าไปยังเล่าปี่

เท่ากับยึดกุมยุทธศาสตร์กังตั๋ง มั่นคง ไม่แปรเปลี่ยน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน