ชื่นชมความสำเร็จของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ในการเลี้ยง “กุ้งขาวแวนนาไม” ในโรงเรือนระบบปิด ประสบผลสำเร็จน่าพอใจ เป็นการสร้างรายได้ระหว่างเรียน
นายมาโนช ขำเจริญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง เผยว่า ทางคณะเป็นผู้สนับสนุนโครงการฝึกทักษะให้นักศึกษา ภายใต้สัญญาความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง กับ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนงบประมาณและลูกกุ้ง Super PL ให้นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
จุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ระหว่างเรียน ด้วยการนำความรู้ทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ในโรงเรือนระบบปิด ตั้งแต่การผลิตลูกกุ้ง เตรียมบ่อ การเก็บข้อมูลเชิงวิชาการ การให้อาหาร และจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเลี้ยง
จากการเลี้ยงก็ประสบผลสำเร็จน่าพอใจ ได้กุ้งขาวตัวโตตามขนาดที่ตลาดต้องการเลี้ยงเพียง 35 วัน ได้กุ้งขาวขนาด 45 ตัวต่อกิโลกรัม สามารถจับขายได้ในราคาที่สูง
ที่สำคัญผลกำไรจากการเลี้ยงกุ้งขาว รายได้จะเป็นของนักศึกษาที่สามารถนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเทอม ค่าดำรงชีพได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ และจบการศึกษาก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้อีกต่างหาก
การเลี้ยงกุ้งขาวในโรงเรือนระบบปิดจะใช้พื้นที่น้อย สามารถบริหารจัดการควบคุมปัจจัยภายนอกทั้งลม ฟ้า อากาศ สัตว์ปีกอย่างนก ได้ดีกว่าระบบบ่อเปิดกลางแจ้ง ดูแลง่าย แต่ก็มีข้อจำกัดในการระบายน้ำอยู่บ้าง แต่ก็เป็นปัจจัยควบคุมได้
จากผลสำเร็จดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ยินดีให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนต่อไป
น.ส.กมลทิพย์ ชูทิพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อธิบายว่า ตนและเพื่อนๆ ในสาขาได้แบ่งหน้าที่ในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม เริ่มตั้งแต่การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง ขนาด 100 คิว ในการเลี้ยงกุ้งจำนวนประมาณ 15,000 ตัว เป็นลูกกุ้งขาวแวนนาไม Super PL
ในทุกๆ วันจะตรวจวัดคุณภาพน้ำ และคำนวณปริมาณอาหารกุ้ง ตรวจสอบคุณภาพกุ้ง จัดเวรผลัดเปลี่ยนดูแล และวางแผนด้านการตลาด
ขั้นตอนเริ่มต้นจากการจับกุ้งเป็น ซึ่งมีอายุ 35 วัน วัดกุ้งได้ขนาดไซซ์ที่ 120 ตัวต่อกิโลกรัม แบ่งขายกุ้งเป็นๆ ให้พ่อค้าคนกลางในราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท เพื่อลดความหนาแน่นในบ่อเลี้ยง ทำให้กุ้งในบ่อมีขนาดโตขึ้น เหมาะสมกับขนาดพื้นที่เลี้ยง
จากนั้นได้จับกุ้งเพื่อขายปลีกให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร และบุคลากรในภายมหาวิทยาลัย ราคากิโลกรัมละ 220 บาท ได้กุ้งขนาด 45 ตัวต่อกิโลกรัม สามารถมาซื้อสดๆ ได้ที่หน้าโรงเรือนเลี้ยงกุ้ง และสร้างรายได้ถึง 45,000 บาท โดยไม่หักต้นทุน
น.ส.เนตรนภา สุจริต นักวิชาการประมง ที่ปรึกษาให้กับนักศึกษากลุ่มดังกล่าว เล่าว่า กุ้ง Super PL จะใช้เวลาเลี้ยงเป็นเวลา 2 เดือน การเลี้ยงกุ้งในลักษณะโรงเรือนแบบปิด มีอุปสรรคในเรื่องการบริหารจัดการของเสียภายในบ่อ ซึ่งจะแตกต่างจากบ่อเลี้ยงกุ้งกลางแจ้งโดยทั่วไป
แต่ผลลัพธ์ที่นักศึกษาได้ทำการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมเป็นที่น่าพอใจ ได้ปริมาณไม่น้อยกว่า 90% เลยทีเดียว
ขณะที่ นายทินวุฒิ ล่องพริก หัวหน้าหน่วยวิสาหกิจศึกษา กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติงานที่ศูนย์ วิสาหกิจศึกษา ที่โรงอนุบาลกุ้ง มีลักษณะเป็นโรงเรือนแบบปิด มีลักษณะเป็นโรงเรือนติดกัน 3 หลัง หลังคาแบบโดมผ้าใบสีขาวโปร่งแสง ใช้เป็นสถานที่ฝึกทักษะทางการปฏิบัติงานของนักศึกษาสาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ปัจจุบันมีนักศึกษาชั้นปี ที่ 2 และปีที่ 3 ฝึกทักษะการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ทั้ง 2 โรงเรือน โดยโรงเรือนตรงกลางจะใช้เป็นบ่อพักน้ำ ซึ่งถือเป็นความโชคดี ที่มหาวิทยาลัยมีความพร้อมทางด้านทรัพยากร
การเลี้ยงกุ้งดังกล่าวแตกต่างจากการเลี้ยงกุ้งในบ่อทั่วไป ที่นิยมเลี้ยงกุ้งในบ่อกลางแจ้ง การเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนลักษณะนี้จะช่วยควบคุมแสงสว่าง ลดปัญหาเรื่องฝนฟ้าอากาศที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง และลดปัญหาเรื่องสัตว์อื่นๆ ที่เป็นศัตรูสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งยังสามารถเลี้ยงกุ้งได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
หากใครสนใจการเลี้ยง “กุ้งขาวแวนนาไม” ในโรงเรือนระบบปิด สอบถามได้ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง
ทรงวุฒิ นาคพล