เมื่อไปนาต้นจั่นยุคแรกๆ ทีมงานทุ่งแสงตะวันเช็กอินเรียนรู้อยู่นอนที่บ้านโฮมสเตย์หลังแรกของชุมชน คือบ้าน คุณป้าเสงี่ยม แสวงลาภ และครั้งที่สองเข้าพักที่บ้าน คุณป้าจอม แก้วคต สองคุณป้าผู้ริเริ่มขับเคลื่อนชุมชนโฮมสเตย์มาตั้งแต่แรกเริ่มจนพัฒนามาเป็นโฮมสเตย์ติดแกลมในปัจจุบัน

ยายเสงี่ยม ยายจอม สองนักบุกเบิก
คุณป้าเสงี่ยม เปิดบ้านครั้งแรกทำโฮมสเตย์ปีพ.ศ.2547 หลังกลับจากดูงานที่ญี่ปุ่นแล้วคลิกว่า “การทำโฮมสเตย์นั้น เขาขายความเป็นมา ขายวิถีชีวิต ขายวัฒนธรรม แรกๆ ชวนเพื่อนๆ มาทำร่วมกันก็ไม่มีใครกล้าเพราะยังมองตัวเองไม่ออก แต่เมื่อทำเป็นตัวอย่างอยู่เป็นปีๆ และออกมาดี เพื่อนๆ ก็เข้ามาร่วม จากป้าหลังเดียวเพิ่มมาเป็น 5 หลัง 6 หลัง 10 หลัง 12 หลัง 16 หลังในปี 2551
ใหม่ๆ เริ่มแรกรับท่องเที่ยวสไตล์ลึกซึ้ง เข้าพักกับครอบครัวของเรา มาเข้าครัวทำอาหารด้วยกัน เก็บผักหาปลาหากับข้าวมาแล้วก็มาทำครัวด้วยกัน ช่วยกันตำน้ำพริก โขลกน้ำพริก ขูดมะพร้าว สนุกสนาน เรื่อยมาจนได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย หลังจากนั้นก็มีทั้งฝรั่งทั้งคนไทยมากันไม่หยุด คุณป้าๆ เจ้าของบ้านก็ได้พัฒนาตัวเองไปด้วย”

บ้านกลางนาดรุณี

ยินดีต้อนรับ
คุณป้าเล่าถึงวันวานอย่างขำๆ ให้ฟังว่า “การท่องเที่ยวกีฬาเขามาช่วยเราฝึกภาษา ป้าจอม ป้าพร ป้าๆ ทุกคนมาเรียนกัน ป้าจอมท่องนะ อันนี้กล้วยบ้านเรา ฝรั่งเขาพูดบานาน่า ก็ท่องไป บานาน่า บานาน่า หมดวัน เอ้า! ยายพรท่องเข้านะ มะแก๋วบ้านเรา ภาษาฝรั่งเขาพูดว่ากัวว่า ป้าพรก็พูดกลัวว่ะ กลัวว่ะ ทั้งวัน งูๆ ปลาๆ ไป เอ้า! ยายช่วย บ้านมีเงาะ เงาะฝรั่งเขาเรียกรำบูแทน รำบูแทน ฝึกกันมาทีละนิดๆ จนรับฝรั่งได้” มาถึงตอนนี้ลูกหลานคนรุ่นใหม่สานต่อสบายมาก เก่งกันทุกคน

โฮมสเตย์แสนสบาย
จากที่ไม่เป็นอะไรเลยก็มาเป็นรูปเป็นร่างต่อยอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ 25 เจ้าของ 44 หลัง 100 กว่าห้องต่อคืน รับนักท่องเที่ยวได้ 200 กว่าคนต่อคืน ส่งต่อให้ลูกหลานทำเป็นรุ่นที่สามแล้ว

บ้านพักทุกหลังมาตรฐานเดียวกัน
เข้าบ้านหลังไหนมาตรฐานเดียวกันหมด คุณป้าจอม ผู้ควบคุมมาตรฐานอาหารขันโตกบอกว่า “ลูกค้าเข้าพักวันแรก เราจะต้องให้เขาได้ทานน้ำพริกซอกไข่ก่อนเลย แล้วก็ลาบ คนเหนือถือว่าเข้าบ้านมาครั้งแรกจะมีโชคมีลาภ เราจัดลาบให้ทานเลย นอกจากนั้นก็น้ำพริกอื่นๆ หมุนวนกันไป บ้านเราขึ้นชื่อเรื่องน้ำพริกสารพัด แต่ละมื้อจัดได้ไม่ซ้ำกันเลย”
กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ไม่ง่าย ต้องมีทั้งความกล้าหาญและกล้าทดลองทำ “ภาษาชาวบ้านว่าตายเป็นตาย เราจะต้องทำให้สำเร็จ ต้องมีเป้าหมายชัดเจน”

สำรับมื้อเช้า
ความสำเร็จที่รุ่นย่ายายสร้างไว้ มาถึงทุกวันนี้ ลูกหลานกลับมาอยู่บ้าน ทำมาหากินได้ ทำให้หมู่บ้านเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน ป้าเสงี่ยมเล่าอย่างภูมิใจว่า “จบปริญญากันทั้งนั้นที่กลับมาอยู่นี่ ไม่ต้องไปไหนแล้ว อยู่บ้านเรา อยู่กับพ่อกับแม่ ได้เลี้ยงลูกเอง ทำงานในชุมชนของเรา มีเงินเดือนให้ พอถึงครึ่งปี กลางปีก็มีโบนัสให้ มีฝ่ายบัญชีการเงิน ฝ่ายจัดการส่งรับลูกค้า เราช่วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เดินไปพร้อมกัน”

น้องอาย จากเด็กน้อยในทุ่งแสงตะวันสู่เจ้าของอชิโฮมสเตย์
น้องอาย อชิรญา จูแจ้ง “หนูเปิดบ้านพักโฮมสเตย์ชื่อบ้านอชิค่ะ เรียนจบการท่องเที่ยวมา ก็ตั้งใจมาอยู่บ้าน สามีก็เป็นคนบ้านเดียวกัน เขาเป็นฝ่ายสื่อ ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ทำงานศิลป์ต่างๆ”
น้องอาร์ต ธนวัฒน์ วุฒิสาร “ผมรู้สึกตั้งแต่เด็กๆ เลยครับว่าโตมาต้องมาทางนี้แน่ๆ จบป.โทแล้วก็กลับบ้าน มาทำเรื่องจัดการระบบการเข้าพักของนักท่องเที่ยว งานเอกสาร ข้อมูลต่างๆ ครับ”
น้องเต้ สโรชิณี ศรีวิลัย “หนูเรียนจบด้านออกแบบดีไซน์ มาจากกรุงเทพฯ ตั้งใจตั้งแต่แรกเลยว่าไปเรียนเอาวิชาความรู้ กลับมาทำงานที่ชุมชนของเรา ตอนนี้เป็นนักออกแบบผ้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชนค่ะ”

เด็กๆ กลับมาขับเคลื่อนชุมชน
น้องฟิล์ม ธนากร แสวงลาภ “ผมมาทำสวน ไม่ได้ทำโฮมสเตย์แบบเพื่อนๆ เพราะที่บ้านมีสวนผลไม้ทุกอย่าง ลองกอง ทุเรียน เงาะ มะนาว วนกันออกตลอดปี ก็เก็บมาขายนักท่องเที่ยวครับ”
น้องทาย มงคล นัครา “ผมทำโฮมสเตย์กับแม่ครับ ชื่อบ้านละอองดาว และตอนนี้กำลังจะเปิดอีกหลังครับ”
ทุ่งแสงตะวันภูมิใจเสนอเรื่องราวของโฮมสเตย์ติดแกลม บ้านนาต้นจั่น ศรีสัชนาลัย สุโขทัย ชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืนที่รวมคน 4 รุ่นไว้ด้วยกัน เสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ 05.05 น. ทางช่อง 3 HD และ 07.30 น. ทางยูทูบ PayaiTV และเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน
วสวัณณ์ รองเดช