“เสถียร จันทิมาธร”

การรุกลงใต้ของโจโฉไม่เพียงแต่เป็นการประลองกำลังครั้งใหญ่ระหว่างทัพวุยกับทัพจก หากแต่ยังเป็นการพิสูจน์บทบาทและความหมายของ 2 ยุทธศาสตร์สำคัญอันดำรงอยู่ในสามก๊ก

1 คือยุทธศาสตร์กังตั๋ง 1 คือ ยุทธศาสตร์หลงจง

หนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” ของ “หลี่เฉวียน” ระบุว่า ศักราชเจี้ยนอัน ปีที่ 13 (ค.ศ.208) หลังโจโฉรวมดินแดนทางเหนือให้เป็นปึกแผ่นและสยบแคว้น อูหวนแล้วก็นำทัพใหญ่เคลื่อนพลลงไปทางใต้พยายามรวบรวมประเทศให้เป็น หนึ่งเดียว

ในเวลานั้นทางใต้มีผู้ที่มีอิทธิพลหลักๆ 2 คน 1 คือ ซุนกวน ชาวกังตั๋ง และ 1 คือ เล่าเปียว ชาวเกงจิ๋ว นอกจากนั้น ยังมีเล่าปี่ผู้ที่พึ่งพาอาศัยเล่าเปียวตั้งทัพอยู่ที่เมือง ฝานเฉิง

เดือน 7 โจโฉนำทัพใหญ่จำนวน 200,000 คนบุกประชิดเมืองเกงจิ๋ว เดือน 8 เล่าเปียวป่วยตาย เล่าจงลูกชายคนรองขึ้นสืบตำแหน่งแทน เดือน 9 กองกำลังทหารของโจโฉเดินทัพถึงเมืองซินเหย่ยังไม่ทันได้เห็นเงาของกองทัพโจโฉเล่าจงก็ส่งคนไปแอบยื่นหนังสือขอยอมจำนนอย่างลับๆ แล้ว

การรุกของโจโฉไม่เพียงแต่ค่อยๆ กลืนเกงจิ๋ว หากแต่ยังทำให้ทัพของเล่าปี่ต้องถอยร่นโดยมีเล่ากี่ บุตรของเล่าเปียวเป็นพันธมิตรแนบแน่น

เล่าปี่รู้ว่าตนไม่ใช่คู่ต่อสู้ของโจโฉจึงส่งขงเบ้งเดินทางไปยังกังตั๋งเพื่อสร้างพันธมิตร

หลอก้วนจงเขียนรายละเอียดในยุทธนิยาย “สามก๊ก” โดยวางบทบาทหลักให้กับ 2 นักวางกลยุทธ์ 1 คือ ขงเบ้ง และ 1 คือ โลซก

“หลี่เฉวียน” นำรายละเอียดนำเสนอผ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” ของเขาว่า ซุนกวนรู้ว่าที่โจโฉลงมาทางใต้ไม่เพียงแต่จะมากำจัดเล่าปี่แล้วยึดเมืองเกงจิ๋วเท่านั้น หากยังต้องการยึดครองกังตั๋งอีกด้วย

เวลานั้นโจโฉได้เขียนจดหมายถึงซุนกวน กล่าวว่า

ตนเองนำทัพใหญ่จำนวน 800,000 คน อยากร่วมมือกับซุนกวนทำสงครามกับแคว้นอู๋

นี่เป็นการขู่ขวัญซุนกวนและบีบบังคับให้ยอมจำนน กองทัพใหญ่บุกประชิดพรมแดนภาย ในกองทัพซุนกวนเกิดความแตกแยกขึ้น บ้างก็เสนอให้ต่อต้าน บ้างก็เสนอให้ยอมจำนน

ซุนกวนไม่รู้จะทำเช่นไรไปชั่วคราว

เมื่อขงเบ้งได้พบกับซุนกวนก็พูดคุยกันถึงเรื่องสถานการณ์ของเล่าปี่และลองหยั่งเชิงท่าทีของซุนกวนเรื่องการร่วมมือกันต่อต้านโจโฉโดยกล่าวว่า

“ท่านควรประเมินพละกำลังของตนเองเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต หากพอที่จะสามารถต่อต้านโจโฉได้ก็สู้ถือโอกาสขณะที่มีเวลาอยู่ตัดขาดความสัมพันธ์กับเขาเสียเลยดีกว่า หากมีกำลังไม่เพียงพอก็วางอาวุธและยอมสวามิภักดิ์เสีย”

ซุนกวนรู้สึกว่าขงเบ้งกำลังเหน็บเขาอยู่

แม้ขงเบ้งจะใช้คำพูดมาจี้ให้ซุนกวนต่อต้านโจโฉแต่ซุนกวนก็ยังคงตัดสินใจไม่ได้ จึงเรียกประชุมเหล่าขุนนางเพื่อปรึกษาหารือถึงแผนการที่จะเตรียมไว้รับมือ

เตียวเจียวเป็นผู้นำฝ่ายที่เสนอให้ยอมจำนน ชักชวนให้ซุนกวนสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ

แต่โลซกไม่เห็นด้วย เสนอให้ซุนกวนเรียกจิวยี่ที่เป็นผู้นำกองทัพอยู่นอกเมืองกลับมาเพื่อร่วมกันปรึกษาวิธีการที่จะต่อต้านโจโฉ

หลังจิวยี่กลับมาถึงก็พยายามโน้มน้าวให้ซุนกวนออกต่อต้านโจโฉ

“ที่ดินของเมืองกังตั๋งมีนับพันลี้ กองกำลังทหารก็เกรียงไกร ปัจจัยต่างๆ ก็มีอย่างอุดมสมบูรณ์ เหล่าวีรบุรุษต่างก็ยินยอมพร้อมใจอุทิศตนรับใช้ประเทศชาติ เหตุใดจึงต้องยอมจำนนด้วยเล่า”

ในที่สุดซุนกวนก็ตัดสินใจต่อต้านโจโฉ

แต่งตั้งให้จิวยี่เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารฝ่ายซ้าย แต่งตั้งให้เทียเภาเป็น ผู้บัญชาการมณฑลทหารฝ่ายขวา

ให้โลซกดำรงตำแหน่งจ้านจวินเซี่ยวเว่ย

นำทหารเรือไปรวมตัวกับทหารของเล่าปี่เดินทางถึงเมืองเซ็กเพ็ก

สะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจของซุนกวนอย่างน้อยภายในง่อก๊กก็มี 2 คนเป็นแรงหนุนอย่างทรงพลัง กล่าวคือ 1 จิวยี่ และ 1 โลซก

โดยมี ขงเบ้ง กับ เล่าปี่ ดำรงอยู่ในสถานะแห่งพันธมิตร

การสร้าง “แนวร่วม” ระหว่างทัพของแคว้นง่อ กับ ทัพของเล่าปี่ เพื่อต้านยันการรุกเข้ามาของทัพวุยจึงเกิดขึ้นในทางเป็นจริง และกลายเป็นพลังอันมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างชัยชนะให้กับศึกเซ็กเพ็ก

เป็นไปตามแนวแห่ง “ยุทธศาสตร์กังตั๋ง” เป็นไปตาม “แถลงการณ์หลงจง”

การทำความเข้าใจต่อรายละเอียดและเงาสะท้อนแห่งศึกเซ็กเพ็กจึงสำคัญ ทั้งต่อ โลซก ขงเบ้ง และต่อง่อก๊ก เล่าปี่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน