“เสถียร จันทิมาธร”

การทำความเข้าใจต่อรายละเอียดของ “ศึกผาแดง” หรือ “ศึกเซ็กเพ็ก” มีความสำคัญเป็นอย่างสูง เพราะจะทำให้ประจักษ์ต่อความเป็นจริง

เริ่มจากทางด้าน “กำลังพล”

หนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” ของหลี่เฉวียนระบุว่า ซุนกวนแต่งตั้งให้จิวยี่และเทียเภาเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารซ้ายและขวา ให้โลซกดำรงตำแหน่งจ้านจวินเซี่ยวเว่ยนำทหารเรือที่เกรียงไกรจำนวน 30,000 นายไปรวมตัวกับนายทหารของกองทัพเล่าปี่จำนวน 50,000 นาย

หนังสือ “อินไซด์ สามก๊ก (ฉบับอ่านสามก๊กอย่างไรให้แตกฉาน)” ของ ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย ระบุว่า กำลังพลฝ่ายโจโฉ 120,000-350,000 คน

ฝ่ายซุนกวน เล่าปี่ 50,000-70,000 คน

หนังสือ “ประวัติศาสตร์จีน” ของ ทวีป วรดิลก กล่าวว่า ในปีค.ศ.208 โจโฉยกทัพใหญ่มีกำลังทหารถึงกว่า 200,000 คนมุ่งพิชิตอาณาจักรซุนกวนเพื่อรวมจีนเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน ซุนกวนรวมกำลังกับเล่าปี่ ขุนศึกเชื้อพระวงศ์ฮั่นซึ่งควบคุมบริเวณตอนกลางแม่น้ำฮั่น

จากความเป็นพันธมิตรระหว่างซุนกวนกับเล่าปี่ซึ่งมีกำลังทหารทั้งสิ้น 50,000 คน

แม้ว่าตัวเลขทางด้านกำลังพลระหว่าง 2 ฝ่ายจะดำเนินไปอย่างเลื่อนไหล แต่ความเด่นชัดอย่างยิ่งก็คือ กำลังพลทางด้านของโจโฉเหนือกว่าอย่างชนิดครึ่งต่อครึ่ง

ขณะเดียวกัน จุดด้อยของโจโฉคือไม่ชำนาญการรบทางเรือ

กระนั้น เมื่ออ่าน “101 คำถามสามก๊ก” อัน ถาวร สิกขโกศล แปลมาจากคำตอบต่อคำถามที่ว่า “นายทหารที่ร่วมศึกเซ็กเพ็กมีใครบ้าง” ของเฉิงเสี่ยวฮั่น”

ก็จะประจักษ์ในสภาพความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

ในศึกเซ็กเพ็ก ฝ่ายชนะคือทัพพันธมิตรซุนกวนกับเล่าปี่นั้นกำลังหลักคือทหารกังตั๋งของซุนกวน

พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติเล่าปี่บันทึกไว้ว่า

โจโฉได้มณฑลเกงจิ๋วจากเล่าจ๋องแล้วกลัวว่าเล่าปี่จะยึดเมืองกังเหล็งซึ่งมีความพร้อมทางด้านการทหารมากจึงนำพลม้า 5,000 คน “เร่งเดินทัพทั้งคืนทั้งวัน 300 ลี้” ไล่ตามตีเล่าปี่

เล่าปี่ลนลานหนีตาย “องค์ยุพราช (เล่าปี่) ทิ้งลูกเมียหนีไปกับขงเบ้ง เตียวหุย จูล่งและพลม้านับสิบคน” หนีไปถึงท่าน้ำฮั่นจิ๋น กวนอูเอาเรือมารับจึงข้ามแม่น้ำเหมียนสุ่ยไปได้ ภายหลังรวมไพร่พลกับเล่ากี๋ เจ้าเมืองกังแฮซึ่งมารับจึงมีทหารประมาณ 10,000 คน

นี่คือกำลังพลทั้งหมดของเล่าปี่

ทางฝ่ายทัพกังตั๋งของซุนกวนมีไพร่พลมากถึง “หลายหมื่น” ตามพงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคง่อก๊ก บทประวัติซุนกวน บันทึกไว้ว่า “ซุนกวนดีใจมากรีบส่งจิวยี่ เทียเภา และทัพเรือ 30,000 ตามขงเบ้งไปพบเล่าปี่รวมกำลังกันต้านโจโฉ”

ที่ว่ากำลัง 50,000 จึงเป็นของซุนกวนมากกว่า 30,000 ที่เหลือเป็นของเล่าปี่

หนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” ของหลี่เฉวียนระบุว่า เป็นอย่างที่จิวยี่ คาดการณ์ไว้กองทัพโจโฉไม่ชินกับดินฟ้าอากาศของภาคใต้ เกิดโรคระบาดขึ้นภายในกองทัพ

เพียงแค่เริ่มประมือกันกองทัพโจโฉก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

จึงถอยร่นไปอยู่ที่ฝั่งเหนือของแม่น้ำฉางเจียง ตั้งทัพที่เมืองอูหลิน คุมเชิงกับกองทัพซุนกวน เล่าปี่ อยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำ และเพื่อลดการโคลงของเรือรบ พิชิตจุดอ่อนของชาวเหนือที่ไม่เคยชินกับการทำสงครามยุทธนาวี โจโฉจึงสั่งให้นำโซ่เหล็กมาโยงเรือรบเข้าไว้ด้วยกัน

อุยกาย ผู้นำทหารของจิวยี่พุ่งเป้าไปยังจุดอ่อนของกองทัพโจโฉที่ “โยงเรือเข้าไว้ด้วยกัน” ทำให้การเคลื่อนตัวเป็นไปได้ช้าจึงเสนอให้ใช้ไฟบุกโจมตี

เมื่อเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้โดยจิวยี่ อุยกาย เรือของโจโฉก็กลายเป็นทะเลเพลิงในชั่วพริบตา ลมแรงพัดโหมไฟจนค่ายทหารที่อยู่บนฝั่งติดไฟขึ้นมา กองทัพพันธมิตรซุนกวน เล่าปี่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำก็ฉวยโอกาสได้เปรียบบุกเข้าโจมตี

กองทัพโจโฉรับมือไม่ทัน แตกพ่ายไม่เป็นขบวน ทหารถูกไฟคลอกและจมน้ำตายเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

โจโฉนำกองทัพที่พ่ายแพ้ยับเยินกลับไปเมืองเจียงหลิงอย่างหมดสภาพ โดยใช้ทางบกเดินผ่านถนนหัวหรง

กองทัพพันธมิตรซุนกวน เล่าปี่ รีบเดินทัพมาปิดล้อมเจียงหลิงไว้

โจโฉไม่มีกะจิตกะใจจะนึกถึงเรื่องการสู้รบจึงยอมสละเมืองเจียงหลิงแล้วกลับไปอยู่บริเวณเมืองเซียงหยางและผ่านเฉิง อันเท่ากับยอมรับความพ่ายแพ้ อันเท่ากับชี้ชัดว่าฝ่ายของซุนกวน เล่าปี่ ได้กำชัยชนะอย่างสิ้นเชิง

ประเด็นแหลมคมเป็นอย่างมากคือสถานการณ์หลังสงคราม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน