‘กรมธรณี’ พาลุย ‘เมืองกระบี่’ ศึกษาแหล่งธรณีวิทยา

เสน่ห์ของแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตั้งแต่อดีต ของส่วนประกอบโลก ทั้ง แร่ ดิน หิน น้ำ จนเกิดเป็นภูเขา ถ้ำ น้ำตก น้ำพุร้อน ชั้นหินที่แปลกตา จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เราคุ้นชิน

จ.กระบี่ ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแหล่งศึกษาด้านธรณีวิทยา ทั้งถ้ำ หิน สุสานหอย น้ำตกร้อน ล่าสุดกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นำโดยนายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมฯธรณี พาสื่อมวลชนร่วมศึกษาแหล่งธรณีวิทยา ธรณีพิบัติภัย ซากดึกดำบรรพ์ รวม 4 จุดศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ สู่การจัดการท่องเที่ยวเชิงธรณีสู่ชุมชน

จุดแรกเป็นซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนาลายจุด” ถ้ำเขายายรวก ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก โดยนายจิรศักดิ์ เจริญมิตร นักทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 (สุราษฎร์ธานี) กรมทรัพยากรธรณี เผยที่มาของการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ว่า ทางอบต.อ่าวลึกเหนือ ได้แจ้งว่าพบโครงกระดูกในถ้ำเขายายรวก ทางกรมจึงเข้าตรวจสอบพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ไฮยีน่าลายจุด และแรดชวา

เราพบซากดึกดำบรรพ์ฮายีน่า ใน 6 พื้นที่ของไทย เช่น แม่ฮ่องสอน นครราชสีมา ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช ส่วนที่กระบี่นับเป็นจุดที่ต่ำสุดของไทย ทีมวิจัยได้ศึกษาไอโซโทปเสถียร ของธาตุคาร์บอนและศึกษาไอโซโทปของออกซิเจนจากเคลือบฟันของซากดึกดำบรรพ์ น่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีน หรือประมาณ 200,000-80,000 ปีที่ผ่านมา

ซากดึกดำบรรพ์ฮายีนาลายจุด

“คาดว่าบริเวณนี้เคยเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา สลับป่าทึบเป็นหย่อมๆ เป็นเส้นทางการย้ายถิ่นหรืออพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไปยังหมู่เกาะต่างๆ ถือเป็นหลักฐานสำคัญของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดลงมาทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมาในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันไฮยีนาสูญพันธุ์จากไทยแล้ว และพบไฮยีนาแค่ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น”

ด้านนายวาสนา ระพือพล ผญบ.บ้านเพชร ม.6 เล่าที่มาของถ้ำยายรวก ว่า ในอดีตชาวบ้านเล่าว่า มียาย ชื่อ รวก มาบริเวณดังกล่าวและหายไป จึงตั้งชื่อถ้ำแห่งนี้ ว่า ถ้ำเขายายรวก ปัจจุบันเมื่อมีการสำรวจพบซากดึกดำบรรพ์ ทางคณะกรรมหมู่บ้านจึงคอยเฝ้าระวังคนที่ลอบเข้ามา มีกฎหมู่บ้านในการเข้า-ออกพื้นที่แห่งนี้ เพราะในถ้ำยังมีซากดึกดำบรรพ์สัตว์หลงเหลืออยู่ ดังนั้นหมู่บ้านจะร่วมพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ถ้ำเขายายรวก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

จุดที่ 2 “สุสานหอยกระบี่” บ้านแหลมโพธิ์ ม.6 ต.ไสไทย อ.เมือง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี นายมนตรี รองอธิบดีกรมฯธรณี อธิบายว่า หินที่สุสานหอยเป็นหินชั้น เกิดการสะสมตัวของตะกอน ดินเหนียวหรือดินเคลย์ ตะกอนทราย และปูนในแอ่งสะสมตัว 8 ชั้น มีความหนา 0.50 – 1 เมตร แต่ละแผ่นมีซากหอยกาบเดี่ยว จำพวกหอยขมน้ำจืดสกุลวิวิพารัสจำนวนมหาศาลทับถมกัน และเชื่อมด้วยน้ำปูนจนยึดติดกันเป็นแผ่น วางซ้อนเป็นชั้นๆ คล้ายลานซีเมนต์ มีซากหอยโผล่ให้เห็นอย่างชัดเจน โดยอายุของสุสานหอย อยู่ในยุคเทอร์เชียรี หรือประมาณ 65 – 1.75 ล้านปี

นายมนตรี เผยข้อกังวลว่า ปัจจุบันชั้นหินสุสานหอยพังทลายลงมาก เนื่องจากอยู่ชายฝั่งทะเล ขวางทิศทางคลื่น ทำให้ชั้นหินแตก พัดพาเศษหินเศษดินออกทะเล ขณะเดียวกันมาจากกิจกรรมท่องเที่ยวจากการเหยียบย่ำบนชั้นหิน ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันดูแลรักษาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และหวงแหนแหล่งศึกษาที่มีคุณค่าให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

 

ส่วนที่จุดศึกษาที่ 3 ด้านธรณีพิบัติภัย “หินถล่มที่เกาะทะลุ” ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี นายมนตรี พาสื่อมวลชนลงเรือสำรวจหินถล่มเมื่อเดือนต.ค. 63 ที่ผ่านมา

นายมนตรี เผยว่า เกาะทะลุหรือเกาะแม่อุไร เป็นหินตะกอนเนื้อประสานชนิดหินปูนเนื้อโดโลไมต์ อายุยุคเพอร์เมียน หรือประมาณ 251-299 ล้านปี มีสีเทา เนื้อแน่น เป็นมวลหนา ไม่แสดงชั้นหิน มีรอยแตกรอยร้าวมากมาย เปราะแตกหักง่าย อยู่ในเขตมรสุม เกิดคลื่นซัดอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยการเร่งการผุกร่อนของหินอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเหตุหินถล่มดังกล่าวขึ้น โดยหินที่ถล่มลงมามีน้ำหนัก 254,016 กก. หรือประมาณ 254 ตัน

นายมนตรี กล่าวถึงการเฝ้าระวังว่า เบื้องต้นสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 ได้แนะนำให้กันพื้นที่โดยรอบของพื้นที่เกาะทะลุ รวมถึงพื้นที่รอบหินที่ถล่มรัศมี 100 เมตร ห้ามไม่ให้เรือประมง เรือท่องเที่ยวเข้าในพื้นที่ เนื่องจากอาจมีเศษหินที่ยังค้างอยู่บริเวณด้านบนเกาะร่วงหล่นลงมา และหินถล่มอาจมีการเคลื่อนตัวหรือแตกหักเพิ่มมากขึ้น โดยจะเฝ้าระวังการเคลื่อนตัวของหิน หรือการแตกเพิ่มเติมของหินจนกว่าหินจะมีเสถียรภาพที่มั่นคง

 

สุดท้ายจุดศึกษาที่ 4 รองอธิบดีกรมฯธรณี พาเยี่ยมชมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา “น้ำตกร้อน” ต.คลองท่อม อ.คลองท่อม พร้อมอธิบายว่า น้ำตกร้อนเป็นน้ำตกขนาดเล็ก สูงประมาณ 5 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร น้ำตกร้อนเกิดจากน้ำผิวดินซึมลงไปใต้ดินไหลผ่านชั้นน้ำในระดับลึก ถึงหินแกรนิตที่มีความร้อนอยู่ กระทั่งน้ำใต้ดินนั้นร้อนขึ้นมากกว่าจุดเดือดของน้ำ แรงดันของไอน้ำเพิ่มขึ้น น้ำใต้ดินจึงไหลย้อนขึ้นมาสู่ผิวดิน กลายเป็นน้ำพุร้อนขึ้นสู่ผิวดิน ไหลรวมกับลำธาร

บางบริเวณสายน้ำมีควันลอยกรุ่นน้ำร้อน มีสารละลายแคลเซียมคาร์บอเนตในปริมาณสูง ไหลผ่านชั้นหินปูนผ่านชั้นดินและป่า เกิดคราบหินปูนสีต่างๆ โดยเฉพาะตลิ่งคลองท่อมที่คราบหินปูนพอกหนาเกิดเป็นแอ่งน้ำตกขนาดเล็กหลายแอ่ง นักท่องเที่ยวสามารถลงแช่น้ำร้อนได้อย่างสบาย อุณหภูมิของน้ำเฉลี่ย 42 องศาเซลเซียส น้ำใส ไม่มีกลิ่น ที่สำคัญของความพิเศษคือของน้ำตกร้อนแห่งนี้ คือเป็นน้ำตกร้อนที่หาดูได้ยากในประเทศไทย และอาจจะมีเพียงแห่งเดียวในภาคใต้

“สภาพแวดล้อมในอดีตช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต เรียนรู้ข้อจำกัดของธรรมชาติ เพื่อให้เราสามารถปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้าใจ” นายมนตรี ย้ำทิ้งท้ายถึงความสำคัญทางธรณีวิทยา

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน