การลงมติเลือก กสม. ช่วยทำให้ประเทศชาติมีศักดิ์ศรีในทางสากลดีขึ้น หรือทำให้ยิ่งตกต่ำลง ?

การลงมติเลือก กสม. – ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ลงมติรับรองผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติ ( กสม.) ชุดที่ 4 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ด้วยการไม่เห็นชอบผู้ที่มีประสบการณ์เชิงประจักษ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน 5 คน และเห็นชอบข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว 2 คน ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม.

ผลของการลงมติดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางบนหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ วิทยุ และโทรทัศน์ ถึงความไม่ชอบมาพากลของการลงมติในครั้งนี้ มีข้อสังเกต 6 ประการในการทำหน้าที่ของ สนช. ดังต่อไปนี้

1. คะแนนเสียงที่ออกมาต่อการไม่รับรองผู้ที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นพวก NGO และนักวิชาการที่ทำงานร่วมกับ NGO รวมทั้งสิ้น 5 คนนั้น มีลักษณะที่เกาะกลุ่มกัน คือ 10 – 15 คะแนนรับรอง และ 135 – 145 คะแนน ไม่รับรอง แสดงให้เห็นถึงเบื้องหลังของคะแนนที่ออกมาเช่นนี้ว่า มีการ block vote โดยผู้ที่คุมเสียงใน สนช. อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม มี สนช. ประมาณ 10 – 15 คนที่มีความเป็นอิสระจากการถูกควบคุมกำกับการลงคะแนนให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้คุมเสียงใน สนช. ต้องการ

2. การไม่รับรองบุคคลทั้ง 5 คน เป็นการสวนทางกับหลักการปารีส ที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทุกประเทศต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน (People Sector) หรือภาคประชาสังคม (Civil Society Sector) เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา และเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ การไม่รับรองบุคคลดังกล่าวจะต้องถูกการตั้งคำถามจากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติอย่างแน่นอน และจะส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ติดลบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลากว่า 4 ปี ในช่วงที่ประเทศไทยถูกปกครองด้วยรัฐบาล คสช. ก็จะยิ่งติดลบมากขึ้น และจะส่งผลต่อสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยที่ขณะนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม B จะถูกลดลงเป็นกลุ่ม C ในที่สุด

3. การไม่รับรองบุคคลทั้ง 5 คน เป็นการสวนกระแสความคาดหวังขององค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากกระแสการตอบรับหลังจากมีการเปิดเผยผลการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ของภาคประชาสังคม และนักวิชาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Asian NGO Network on National Human Rights Institution (ANNI) ที่มีความหวังว่า หากบุคคลทั้ง 5 คนได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. บทบาทของ กสม.ชุดต่อไปน่าจะดีขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่สถานภาพของ กสม. จะเลื่อนขึ้นจาก B ขึ้นเป็น A

4. การลงมติของ สนช. แบบถูกสั่งการโดยผู้กำกับ สนช. เป็นผลจากรายงานการตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ผ่านการสรรหาทั้ง 7 คนของคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ฯ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่า คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ มีอคติกับกลุ่มที่มาจาก NGO อย่างชัดเจนแล้ว

ยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายจาก สนช. อย่างไม่มีขอบเขต ไร้เหตุผล ทำตามอำเภอใจ ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการขุดคุ้ยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ถูกตรวจสอบ แล้วนำไปเป็นประเด็นในการไม่รับรอง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

5. กระบวนการลงมติของ สนช. ไม่ได้เป็นกระบวนการที่โปร่งใส ถ้าดูคำแนะนำของ สมาพันธ์สถาบันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” หรือ Global Alliance of National Human Rights Institution – GANHRI จะเห็นว่าเขามองกระบวนการสรรหารวมถึงการแต่งตั้งด้วย ดังนั้น ไม่ใช่แค่ว่ากระบวนการสรรหามีการพัฒนาในรูปแบบที่ดีคือการมีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และมีกระบวนการให้ข้อมูลกับทางสังคมในชั้นของคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น

แต่พอเข้าไปถึง สนช. สังคมกลับไม่รู้ว่ากระบวนการเป็นอย่างไรบ้าง คณะกรรมาธิการตรวจคุณสมบัติฯ ก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลยที่สังคมจะสามารถเข้าถึงได้ GANHRI ได้ให้ความเห็นไว้อย่างชัดเจนว่า กระบวนการสรรหา ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการตรวจประวัติต้องมีการหารือการขอความเห็นจากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน สหภาพแรงงาน องค์กรอาชีพต่างๆ ที่สำคัญมากกว่านั้น คือ การที่ สนช. จะมีมติในการรับ หรือไม่รับผู้ที่ได้รับการสรรหา

ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานสิทธิมนุษยชน คือ บุคคลเหล่านี้มีประวัติหรือมีประสบการณ์ในการทำงานสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ในการประเมินต้องมีความเชื่อมโยงกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ผ่านการสรรหาว่าได้มีประสบการณ์อย่างถ่องแท้หรือไม่ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการในพื้นที่

รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่ นี่เป็นเกณฑ์ที่ สนช. ควรจะใช้ แต่คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ และ สนช. กลับไปใช้อคติในการไม่ชอบ NGO เป็นตัวตั้ง

6.ขณะนี้กระบวนการสรรหา ตรวจสอบประวัติ และลงมติรับรอง กสม. ครั้งที่ 1 ซึ่งใช้เวลา 6 เดือนได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 การสรรหา การตรวจสอบประวัติ และการลงมติรับรองครั้งที่ 2 เพื่อให้ได้ผู้ที่สมควรเสนอชื่อให้แต่งตั้งเป็น กสม. ชุดที่ 4 เพิ่มใก้ครบอีก ๕ คน คงต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 6 เดือน กว่าจะได้รายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อให้เป็น กสม. คงจะเลยช่วงครึ่งปีแรกไปแล้ว และก็ไม่แน่ใจว่า ผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่ออีก 5 คน จะเป็นอย่างไร

สังคมคงคาดการณ์ได้ว่า หากกระบวนการเลือกตั้งวุฒิสภาที่กำลังดำเนินการกันอยู่นี้คงจะได้วุฒิสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกับ สนช.ชุดปัจจุบัน การรับรอง กสม. ก็คงไม่ต่างกับที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 เราคงได้ กสม. ที่เป็นอดีตข้าราชการบำนาญและนักวิชาการที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลเข้ามาเป็น กสม. ถ้าเป็นเช่นนี้ เราคงไม่ต้องมีความคาดหวังกับ กสม. อีกต่อไป และที่สำคัญคือ กสม. ของเราจะถูกลดสถานะจาก B เป็น C อย่างแน่นอน

ซึ่งหมายถึง กสม. ของประเทศไทยจะไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมใดๆ ได้กับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงการประชุมของ ANNI นอกเหนือจากจะมีการเชิญเข้าประชุมในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งขณะนีทั่วโลกมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 120 สถาบัน ประเทศไทยกำลังจะเป็น 1 ใน 10 ที่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม C ขณะที่ 77 สถาบันเป็น A และ 33 สถาบันเป็น B

คำถามก็คือ สนช. รู้เรื่องนี้หรือไม่ สิ่งที่ สนช. กำลังคิด กำลังทำอยู่นั้น เป็นการช่วยทำให้ประเทศชาติมีศักดิ์ศรีในทางสากลดีขึ้น หรือทำให้ยิ่งตกต่ำลง ? ใครก็ได้ช่วยตอบคำถามนี้ที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน