เฟซบุ๊กแฟนเพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล โพสต์ตั้งคำถามชวนคิดถึงการออกมาวิ่งของ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม นักร้องดัง อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้เสนอแนวทาง 10 ประการ เพื่อช่วย ตูน อีกแรง ปีต่อ ๆ ไป จะได้ไม่ต้องมาวิ่งให้เหนื่อยอีก โดยครั้งนี้ได้ออกมาตั้งคำถาม และชวนคิดถึงประเด็นที่มีคนพูดถึงกันน้อยมาก หรือแม้แต่ ตูน ก็ยังไม่พูดในเรื่องนี้ นั้นคือเรื่องปัญหาหลักของสาธารณสุขไทย โดยมี 2 ข้อใหญ่ๆ คือ เงินไม่พอ กับ กระจายเงินไม่ดี โดยข้อความระบุว่า

#ตูนไม่ได้พูด
#แต่ผมต้องพูดและอยากชวนทุกคนพูด
.
ตามข่าวการวิ่งเป็นระยะ
มีภาพประทับใจมากมาย
มีคำพูดจาก ตูน ที่น่าจดจำมากมาย
.
แต่ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่มีคนพูดถึงน้อยเกินไป
นั่นคือ การแก้ปัญหาในระยะยาว
ขอไล่ไปเป็นข้อ ๆ
.
1. ส่วนตัวไม่เชื่อว่า จะมีใครที่จะคิดว่า
ตูน วิ่งรับบริจาคแล้ว ปัญหาขาดแคลน
ด้านสาธารณสุขจะหมดไป
เหมือนที่ใครหลาย ๆ คน
พยายามจะบอกว่า
คนที่เชียร์ตูนคิดตื้น ๆ แบบนั้น
หรือ ไม่คิดอะไรเลย
.
2. ตูนก็บอกเองว่า
ไม่อยากจะพูดถึงสาเหตุว่า
ปัญหา อยู่ที่ไหน
แต่ขอทำสิ่งที่ตัวเองทำได้
.
3. ส่วนตัว(อีกที) เข้าใจเลย
เพราะ ขนาดตัวเองนี่กำลังจะพิมพ์
ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ยังรู้สึกว่ายากที่จะเรียบเรียงออกมา
ขนาดที่คิดว่า ตัวเองอยู่กับหน้างาน
รู้ข้อมูลอยู่ไม่น้อยนะ
แต่ มันมีหลายแง่ หลายมุมเหลือเกิน
.
4. ปัญหามันซับซ้อน พอสมควร
ถ้าผมเป็น ตูน – นักร้องคนหนึ่ง
ที่อยากจะช่วยเรื่องนี้
ก็คงคิดคล้าย ๆ กัน คือ ป่วยการจะพูด
และถ้าเริ่มพูดเมื่อไหร่ …
ข้อแย้ง คนสนับสนุน
เสียงเชียร์ เสียงค้าน เสียงปรบมือ
เสียงโห่ เสียงให้กำลังใจ
จะตามมาเป็นพายุแน่นอน
(ซึ่งสำหรับโพสต์นี้ ผมก็เตรียมใจ
ที่จะเจอพายุเช่นกัน)
.
แล้ว การวิ่ง จะกลายเป็นเรื่องด้อยไป
หรือ การโฟกัส กับการวิ่ง คงยากไปอีก
.
5. สรุปว่า ผมเข้าใจว่า ทำไม ตูน
เลือกที่จะไม่พูด
.
6. จากข้อ 1-5 จึงเกิดเป็นผลตามมาว่า
มันก็เป็นหน้าที่ของผม
– หมอ คนหนึ่ง สิที่จะต้องพูด
เพราะไม่เห็นมีใครพูด
(ปชช. คนทั่วไป ย่อมไม่มีข้อมูลพอ
ที่จะช่วยคิดได้ – นั่นไม่แปลกที่จะเงียบ
แต่ กระทรวง, หรือ รัฐบาล
ก็พลอยเงียบ-ไม่สิเอาแต่เชียร์ไปด้วย
นี่ผมก็งง แทนที่จะอาศัยเรื่องนี้
สร้างความเข้าใจ กับปัญหาในระบบ
หรือ สร้างกระแสให้สังคม
ช่วยกันคิด … นี่.. ไม่เห็นเลย)
.
ถ้าผมไม่พูดก็แสดงว่า คิดตื้น ๆ อย่างเขาว่า
ถ้าไม่พูดก็จะเป็นอย่างที่บางคน
บอกว่า เชียร์ จนไม่คิดอะไร
.
เพราะงั้นเลยต้อง พูด
ใครอ่านแล้วอยากจะพูดด้วย
ก็คุยกันได้เลย
ใครอ่านแล้ว เห็นด้วย
อยากจะพูดต่อ ก็เชิญแชร์ไปพูดแทนได้
เพราะส่วนตัวผมเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
ใหญ่จนเป็นหน้าที่ของ
ประชาชน ทุกคนที่จะช่วยกันคิด
.


.
เกริ่นตั้งนาน เข้าเรื่ิองเลยล่ะกัน
.
ปัญหาสาธารณสุขหลัก ๆ ของไทย
มีสองข้อใหญ่ คือ
1. เงินไม่พอ
2. กระจายเงินไม่ดี
.
#เงินไม่พอ
งบด้านสาธาฯ ของเรา
คิดเป็น 4% ของ GDP
(เงินทุกภาคส่วน ไม่ต้องแยกบัตรทอง ขรก.)
ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อยู่ที่ 8 – 10%
ตรงไปตรงมานะครับ ห่างกันเท่าตัว
เราจะหวังคุณภาพเท่าเขาได้ไหม ?
.
– งบทั้งหมดหลัก 100,000 ล้าน
700 ล้านของตูน เทียบกันแล้ว
ก็เป็นแค่น้ำหนึ่งแก้ว
เทลงในถังแกลลอน เท่านั้น
ช่วยได้แน่นอน แต่เมื่อเทียบกับระดับ
งบประมาณแสนล้าน ก็ได้เท่านั้นจริง ๆ
.
– นี่ยังไม่พูดถึงว่า เงินจากการวิ่งนี้
ได้แค่ปีนี้ปีเดียวนะ
.
– เงินไม่พอ จะทำไงให้เพิ่มขึ้น
นี่แหละป็นสิ่งที่ เราต้องพูด คุยกัน
และ ถกเถียงกัน
เรื่องสุขภาพมันสำคัญมากหรือน้อยแค่ไหน
ในสายตาของพวกเราคนไทยทุกคน ?
สำคัญมากพอที่จะ ลงทุน ไหม ?
.
– ลงทุน ? ใช่ครับ
สำหรับหลายคนมองค่าใช้จ่ายด้านนี้เหมือนเป็นสวัสดิการที่สูญเปล่า
.
แต่สำหรับผม เห็นว่ามันเป็นการลงทุน
กับคนในสังคม การรักษาที่ดีขึ้น
ช่วยให้คนป่วยบางโรค เช่น HIV
ใครป่วยก็ต้องเป็นภาระ ให้ครอบครัว
ทำงานก็ไม่ได้ ป่วยกระเสาะกระแสะ
กลายเป็นรักษาได้ผลขึ้น
แข็งแรง ทำงานได้
เป็นกำลังในครอบครัว
รวมไปถึงสร้างงาน
สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้ด้วยซ้ำไป
.
– สำหรับผมเรื่องนี้สำคัญมากพอ
มากพอที่เราจะต้องหาเงิน
มาเพิ่มให้กับระบบ
หาจากไหน ?

1.เงินเรามีอยู่แล้ว
แต่บริหารจัดสรรงบประมาณ
และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไป
งบบัตรทองไม่เพิ่ม หรือ เพิ่มแต่น้อยนิด
ในขณะที่งบกลาโหม
งบกองทัพ กลับเทลงไป
.
จุดนี้ ต้องบอกว่า
ผมก็อ่านมาพอสมควร
เกี่ยวกับ ความเห็นเรื่อง อาวุธ ต่าง ๆ
จำเป็นอย่างนู้น อย่างนี้ ไม่ใช่ไม่ฟังนะ
.
แต่ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
ขอยืนยัน นอนยันว่า ฟังไม่ขึ้นเลย
เป็นไอเดียที่ผมไม่ซื้อ
.
ใครเห็นว่า การซื้ออาวุธมันสำคัญ
ก็ไม่ว่ากันนะครับ
เป็นสิทธิเช่นกัน แต่คนไม่เห็นค่า
ก็ต้องยืนขึ้นมาพูดเหมือนกันว่า
“ไม่เอาครับ”
.
หรือ ใครเห็นว่ามีงบอื่น
ที่ดูไร้ประโยชน์มากกว่า งบซื้ออาวุธ
ก็แชร์ความเห็นกันได้ครับ
.
2. ร่วมจ่าย
เงินไม่พอ ให้คนไข้บัตรทอง “ร่วมจ่าย” ดีไหม
จะได้มีเงินมากขึ้น หลาย ๆ คนก็เสนอวิธีนี้
.
ร่วมจ่ายมีหลายแบบ
2.1. จ่ายเมื่อป่วย ถ้าจะจ่ายแบบนี้
เพื่อให้เงินในระบบมากขึ้น – ย้ำตรงนี้นะ
ต้องเก็บเงินราว ๆ 30% เป็นอย่างน้อย
จึงจะได้เม็ดเงินมากพอ
.
ไหนจะตัดเด็ก คนสูงอายุ คนพิการ
จริง ๆ ถ้าจะได้มากพออาจจะต้อง
เก็บถึง 50% ของค่าใช้จ่ายจริง
.
.
2.2. จ่ายทางอ้อม จ่ายก่อนป่วย
นั่นคือการตั้งกองทุนเพิ่มขึ้น
จ่ายเงินเข้ากองทุน คล้าย ๆ ประกันสังคม
หรือ จ่ายทางอ้อมผ่านทางภาษี
ที่จะระบุเฉพาะไปเลยว่า
เป็น ภาษีด้านสาธารณสุข
.
หรือ อย่างภาษี เหล้า บุหรี่
ที่เก็บเฉพาะเข้า สสส.
จะมาเพิ่มให้ระบบสาธาฯ ได้บ้างไหม
.
.
.
หรือ จะผสมทั้งสองแบบก็ได้
เรียกว่าอะไรดี
2.3. คือหาภาษีมาเพิ่มเป็นหลัก
แล้วคนไข้จ่ายให้รู้ว่าไม่มีอะไรฟรี
แต่การจ่ายเมื่อป่วย
จะเพียงแค่ 5% ของค่าใช้จ่าย
หรือ จ่ายตายตัวก็ได้
เช่น จ่ายครั้งละ 100 บาท กรณีผู้ป่วยนอก
หรือ นอน รพ. จ่าย 10% จากค่าใช้จ่าย
แต่ไม่เกิน 500 บาท/ครั้ง เป็นต้น
.
ใครที่คิดว่าระบบเดิม
ที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย หรือจ่ายแค่ 30
แล้วทำให้ มีคนมาใช้โดยไม่จำเป็น
หรือ ทำให้คนไข้ไม่ดูแลตัวเอง
ก็อาจจะเห็นด้วยกับวิธีนี้
(จริง ๆ เรื่องนี้ ผมไม่ค่อยเห็นด้วย
อย่างที่คนพูดว่า บัตรทอง
ทำให้คนเราดูแลตัวเองน้อยลง
ผมไม่ค่อยเชื่อนะครับ
อย่างที่โพสต์บทความเมื่อวานเย็น
แต่เผื่อไว้ เป็นทางสายกลาง…)
.
.
ทั้งสามแบบ ก็ลองคิดกันดูว่า
แบบไหนจะดีกว่ากัน
(คิดก่อนแล้วค่อยอ่านต่อ…)
.
.
.
ผมคิดว่า แบบที่สอง ดีที่สุด
เพราะแบบแรก ผลกระทบมากเกินไป
30-50% นี่ คนส่วนหนึ่ง
จะกระเด็นจากระบบไปเลย
เพราะจ่ายไม่ไหว หายาชุดถูก ๆ กินดีกว่า
หรือคนจ่ายได้ แต่เจอโรคหนัก ๆ ไปที
จากไม่จน ก็เป็นคนจนได้ในชั่วข้ามคืนนะ
.
.
.
พูดแล้วย้าวยาว
แต่อย่างที่บอก ตูนไม่ได้พูด
เราน่าจะช่วยกันพูดนะครับ
ส่งเสียงเชียร์ตูนวิ่ง
และ ส่งเสียงเพื่อความเปลี่ยนแปลง
ไปพร้อม ๆ กัน
นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้มากกว่า ตูน
เราต้องช่วยเขาครับ
ป.ล. อ่านมาจนจบ เห็นว่ายังไม่ได้พูดถึง
เรื่องการกระจายเงิน กระจายหมอเลย
ไว้เขียนอีกทีเมื่อมีโอกาสนะครับ

 

อ่านข่าวเก่า เพจดังเสนอแนวคิด 10 ข้อ ให้คนไทยทำ ช่วย “ตูน บอดี้สแลม” ไม่ต้องมาวิ่งอีกปีหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน