“ไทยยังเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าเกษตร เพราะมีผลผลิตหลากหลาย หาสินค้ามาขายได้ตลอดทั้งปี” มุมมองของ “ณธกฤษ เอี่ยมสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้นำด้านการส่งออกผลไม้สดสัญชาติไทยรายใหญ่ที่เชี่ยวชาญสินค้าเกษตรระดับพรีเมี่ยมสู่ตลาดโลก อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ยุโรป มีปริมาณส่งออกเฉลี่ยกว่า 18,000 ตันต่อปี

ณธกฤษ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ ประกอบด้วย ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว โดยตลาดผู้ซื้อส่วนใหญ่จะอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย และตอนนี้ได้ขยายตลาดไปยังยุโรปและออสเตรเลียได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในส่วน “ทุเรียน” ปัจจุบัน 99% ของทุเรียนไทยส่งออกไปยังตลาดจีนที่มีมูลค่ารวมเกือบ 1 แสนล้านบาท แม้มีการมองว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่มีคู่แข่งสูงทั้งในและต่างประเทศ หากด้วยการเป็นฐานตลาดใหญ่จำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และปัจจุบันจีนพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ที่เข้าถึงจุดกระจายสินค้ายังพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น จึงมองว่านี่จะเป็นโอกาส ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกในนามแพลททินัม ฟรุ๊ต ก็ได้รับความไว้วางใจจากคู่ค้าในด้านคุณภาพทำให้ยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยายเข้าไปใน 7 มณฑลของจีน จากปัจจุบันเข้าไปจำหน่ายแล้วใน 4 มณฑล

“จีนเป็นตลาดที่มีลักษณะเฉพาะเรียกได้ว่าแต่ละมณฑลเทียบเท่ากับ “ประเทศ” และลูกค้าแต่ละมณฑลจะมีความต้องการจะไม่เหมือนกัน รสนิยมไม่เหมือนกัน และตลาดผู้ซื้อจะมีความหลากหลายตั้งแต่ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ Food Store ตลาดผลไม้ขนาดใหญ่ จนถึงร้านค้าปลีกผลไม้ รายย่อย ตรงนี้บริษัทฯ จึงยังมองว่าเป็นโอกาสที่ยังเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการในด้านดีมานด์”

ด้านซัพพลาย ณธกฤษ ให้ข้อมูลว่า ถ้าผู้ประกอบการส่งออกวางแผนให้ดีจะสามารถมีทุเรียนขายได้ตลอดปี เพราะซีซั่นของทุเรียนมีเกือบทั้งปี ถ้านับตลาดหลักจะเริ่มจากภาคตะวันออก ตั้งต้นที่ตราด ต่อมาก็จันทบุรี จากนั้นจะเป็นระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา โดย แพลททินัม ฟรุ๊ต เองมีโรงงานรับซื้อทุเรียนอยู่ทั่วประเทศรวม 10 แห่ง ประกอบด้วย จันทบุรี 2 แห่ง รับทุเรียนในย่านตะวันออก คือ ตราด จันทบุรี ใกล้ตลาดเนินสูงและสอยดาว ระยอง แกลง 1 แห่ง ราชบุรี 1 แห่ง ชุมพร 1 แห่ง ลำพูน 1 แห่ง สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง เชียงใหม่ 2 แห่ง สระแก้ว 1 แห่ง ทำให้สามารถส่งออกทุเรียนได้ตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม แพลททินัม ฟรุ๊ต ก็มีการส่งออกผลไม้ตัวอื่นคู่กันไปด้วยตลอดทั้งปีเช่นกัน นอกจาก ทุเรียน มังคุดแล้ว ยังมี “ลำไย” ซึ่งตลาดใหญ่ของแพลททินัม ฟรุ๊ต ปัจจุบัน คือ อินโดนีเซีย ครอบคลุม 3 เมืองสำคัญ ได้แก่ เมดาน จาการ์ตา สุราบายา รวมถึง “มะพร้าว” ที่ณธกฤษมองว่านี่จะเป็นสินค้าแห่งอนาคต เนื่องจากกระแสโลกตอนนี้ให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มให้พลังงานจากธรรมชาติ ดังนั้นมะพร้าวจะเป็นตัวที่มีโอกาส เพราะมีศักยภาพสูงจึงอยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผนต่อยอดธุรกิจมะพร้าวในอนาคต ซึ่งยังคงการันตีว่า มะพร้าวไทย รสชาติและคุณภาพไม่แพ้ที่ใดในโลก

ณธกฤษ เล่าว่า กว่าที่ แพลททินัม ฟรุ๊ต” จะก้าวเติบโตและมีความเข้าใจเทรนด์ธุรกิจในตลาดส่งออกผลไม้สดได้นั้นต้องผ่านการเรียนรู้เพาะบ่มประสบการณ์มายาวนาน โดยตั้งต้นเมื่อปี พ.ศ.2536 ที่ครอบครัวเริ่มส่งออกผลไม้ประเภททุเรียนและมังคุดผ่านทางอากาศไปยังไต้หวัน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “888” ก่อนตั้ง บริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด ในเวลาต่อมา ซึ่งช่วงนั้นแม้เขายังอยู่ในวัยเรียนแต่ก็ได้มีส่วนช่วยบริหารกิจการของครอบครัวมาตลอดจนทำให้เชี่ยวชาญทุกมิติและเข้าใจสภาพตลาดของลูกค้าในต่างประเทศเป็นอย่างดี

หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2549 ณธกฤษได้ตัดสินใจเดินทางไปเรียนรู้เทรนด์ตลาดผักผลไม้และความต้องการของผู้บริโภคที่ไต้หวัน 1 ปี ก่อนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท MA Management Middlesex University ที่สหราชอาณาจักร ช่วงปี พ.ศ. 2551-2552 และกลับมาบริหารธุรกิจโรงงานลำไยของครอบครัวจนประสบความสำเร็จ

จากนั้นจึงก่อตั้ง บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2553 เพื่อส่งออกผลไม้คุณภาพสูงไปทั่วโลก มีการบริหารจัดการตั้งแต่การดูแลและควบคุมคุณภาพผลไม้โดยคัดเลือกจากสวนที่มีมาตรฐาน GAP และ Global GAP รับรอง จากนั้นควบรวมกิจการบริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด และบริษัทในเครือเพื่อให้บริการแบบ One Stop Service ยังประเทศต่างๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ยุโรป จนสามารถทำยอดขายรวมปีล่าสุดได้ถึง 5,200 ล้านบาท

เมื่อถาม ณธกฤษ ผู้ซึ่งใช้เวลาเพียง 10 ปี ในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่รายได้หลักพันล้านว่าเป้าหมายต่อจากนี้คืออะไร คำตอบที่ได้ คือ ตั้งเป้าจะนำบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต เพื่อสร้างมาตรฐาน สร้างการยอมรับ และสร้างความเชื่อถือให้กับคู่ค้าหน้าใหม่ โดยเฉพาะคู่ค้าต่างประเทศที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งก่อนหน้านี้อาจเข้าไม่ถึง โดยการเป็นบริษัทมหาชน คาดจะช่วยทำให้แพลททินัม ฟรุ๊ต ก้าวข้ามขีดจำกัด การเติบโตจากบริษัทส่งออกผลไม้ที่มียอดขายปัจจุบัน 5 พันกว่าล้านบาท ไปสู่ยอดขายแตะหมื่นล้านบาทได้ในอนาคต

อีกเรื่องที่ ณธกฤษ สนใจนอกเหนือจากธุรกิจ คือ ต้องการช่วยให้เกษตรกรไทยเติบโตได้แบบยั่งยืนจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปรวมทำ R&D กับชาวสวนมาตลอด และอยากให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาโมเดลการค้าผลิตผลทางการเกษตรได้แบบ “ชิลี” ที่กำหนดและควบคุมให้ทุกห่วงโซ่ของธุรกิจมีรายได้และผลกำไร แต่ผู้ได้รับประโยชน์มากสุดต้องกลับมาที่เกษตรกร เพราะเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงสูงสุด หากทำได้เช่นนี้ ณธกฤษ เชื่อว่าไทยจะมีความได้เปรียบทั้งด้านการสร้างมูลค่าและคุณค่าเกษตร ลดภาระรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลงมาช่วยเหลือ หรือ จ่ายชดเชย แต่โมเดลนี้จะเกิดขึ้นได้ทุกภาคส่วนต้องแข็งแรงและร่วมมือกันอย่างจริงจัง…นี่คือฝันของ CEO แห่งแพลททินัม ฟรุ๊ต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน