หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง : พันธ์ุแท้พระเครื่อง

หลวงพ่อแพวัดพิกุลทอง

หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง : พันธ์ุแท้พระเครื่อง‘พระธรรมมุนี’ แห่งวัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี หรือ หลวงพ่อแพ เขมังกโร หนึ่งในพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดสิงห์บุรี วัตถุมงคลล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหา

โดยเฉพาะ พระสมเด็จทองเหลือง ซึ่งจำลองแบบมาจากพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ท่านเคารพศรัทธาอย่างสูง

หลวงพ่อแพ เป็นชาวสิงห์บุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2448 ณ บ้านสวนกล้วย ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี

มารดาเสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง 8 เดือน บิดาจึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของ นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา

พออายุ 11 ขวบ บิดามารดาบุญธรรมนำไปฝากที่สำนักอาจารย์ป้อม เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามแบบโบราณนิยม และศึกษาต่อที่สำนักวัดอาจารย์สม ภิกษุชาวเขมร วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ

จนอายุได้ 16 ปี จึงกลับบ้านเกิดเพื่อบรรพชา ที่วัดพิกุลทอง มี พระอธิการพัน จันทสโร เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์

จากนั้นเดินทางกลับไปอยู่วัดชนะสงครามตามเดิม จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่หลังจากสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค นัยน์ตาเกิดอาการอักเสบ เจ็บปวดอย่างรุนแรง แพทย์แนะนำไม่ให้ใช้สายตาเพ่งอ่านหนังสือ เพราะอาจพิการได้ การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมจึงต้องยุติลง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีใจ ใฝ่การศึกษาท่านจึงหันมาศึกษาด้านสมถ กัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานที่สำนักพระครูภาวนา วัดพระเชตุพนฯ

เมื่ออายุครบ 21 ปี ในปี พ.ศ.2469 กลับมาอุปสมบท ณ วัดพิกุลทอง โดยมี พระมงคลทิพยมุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ ราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิเดช วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และเจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมังกโร” แล้วกลับไป จำพรรษาที่วัดชนะสงคราม ศึกษาด้านพระปริยัติธรรมขั้นสูง

จากนั้นได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์ ปรมาจารย์ชื่อดังยุคนั้น เพื่อเรียนวิชาอาคมจนแตกฉานเชี่ยวชาญ

พ.ศ.2473 พระอาจารย์หยด พวงมะสิต เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ลาสิกขา ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ชาวบ้านพิกุลทองและจำปาทอง จึงนิมนต์ท่านให้รับตำแหน่งในปี พ.ศ.2474 ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 26 ปี

ต่อมาได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมา สมณศักดิ์สุดท้ายได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นกรณีพิเศษ ในโอกาส รัชกาลที่ 9 เสด็จครองราชย์ครบ 50 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมมุนี

เป็นพระนักพัฒนาและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อพระบวรพุทธศาสนาอย่างเอนกอนันต์ และนับเป็นพระคณาจารย์รูปสำคัญของเมืองสิงห์บุรี ได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่ประชาชนผู้เดือดร้อนหรือตกทุกข์ได้ยาก

มรณภาพ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 สิริอายุ 94 ปี

หลวงพ่อแพ เริ่มสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 เพื่อแจกบรรดาลูกศิษย์ลูกหา รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 300 แบบพิมพ์ ทั้ง พระสมเด็จ พระนางพญา พระรอด พระปิดตา พระลีลาทุ่งเศรษฐี พระสีวลี พระสังกัจจายน์ พระขุนแผน พระผงรูปเหมือน นางกวัก ฯลฯ

การสร้างวัตถุมงคลของท่านนั้น ไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงามเป็นหลัก หากแต่เน้นไปในเรื่องของความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคลนั้นๆ โดยท่านจะพิถีพิถันในการปลุกเสก ทั้งวิชาอาคมและอำนาจจิต เพื่อให้เกิดความเข้มขลังแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง

สำหรับ “พระสมเด็จทองเหลือง” นั้น นับเป็น ‘พระสมเด็จรุ่นแรก’ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2494 สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูศรีพรหมโสภิต โดยจำลองแบบพิมพ์จากพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งท่านเคารพนับถืออย่างสูง จัดสร้างเป็นเนื้อทองเหลืองแบบเนื้อขันลงหิน มีลักษณะพิเศษคือ จะปรากฏเกล็ดทองทั่วองค์พระ พระสมเด็จทองเหลือง มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ลึกและพิมพ์ตื้น

ลักษณะเป็นพระเครื่องแบบหล่อโบราณ รูปทรงสี่เหลี่ยม ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานบัว ภายในซุ้มครอบแก้ว มีฐานบัลลังก์รองรับ 2 ชั้น ระหว่างฐานทั้งสองจะมีเส้นฐานแซม พระพักตร์แบบผลมะตูม พระเกตุมาลาเป็นต่อม รัศมีเป็นดอกบัวตูม พระกรรณยาว พระอุระปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจนและยาวลงมาจดพระหัตถ์ ส่วน ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ตัวพุดซ้อนกัน 3 ตัว เรียกว่า “ยันต์พุดซ้อน” ใต้ยันต์เป็นอักขระขอม 3 ตัว อ่านว่า “ช ย”

‘พระสมเด็จทองเหลือง หลวงพ่อแพ’ นับเป็นพระเครื่องอันดับต้นๆ ของจังหวัดสิงห์บุรี ที่ทรงคุณค่าและครบครันในด้านของพุทธคุณ ถือเป็นวัตถุมงคลของหลวงพ่อแพที่ได้รับความนิยมสะสมมากรุ่นหนึ่งทีเดียวครับผม

โดย ราม วัชรประดิษฐ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน