สัญญา การเมือง ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย กับ “ประชาชน” : วิเคราะห์การเมือง

แถลงจากพรรคอนาคตใหม่โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แจกแจง 3 เหตุผลที่ไม่ควรให้มีการสืบทอดอำนาจของคสช.ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อาจไม่มีบทบาท อาจไม่มีความหมายอะไรเลย

เพราะการตัดสินใจของ 11 ส.ส.จาก 11 พรรคการเมืองขนาดเล็กก็เป็นตัวอย่างอันเด่นชัดยิ่งถึงการช่วงชิงโอกาส ในทางการเมือง

นั่นก็คือ โอกาสในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐบาล”

การตัดสินใจของ 11 ส.ส.จาก 11 พรรคการเมืองยิ่งย้ำเตือนไปถึงบทสรุปที่ว่า “เป็นฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง” มายาวนานของมังกรการเมืองในอดีต บางท่าน

หากมองอย่างเข้าใจพรรคอนาคตใหม่ เข้าใจ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็จะเข้าใจว่าเป้าหมายในการสื่อหนนี้ของพรรคอนาคตใหม่ด้านหลักมุ่งไปยัง 2 พรรค

1 คือ พรรคประชาธิปัตย์ 1 คือ พรรคภูมิใจไทย

มิใช่เพราะว่า พรรคประชาธิปัตย์มี 52 ส.ส.อยู่ในมือ มิใช่เพราะว่าพรรคภูมิใจไทยมี 51 ส.ส.อยู่ในมือ รวมกันแล้วเท่ากับ 103 เสียง

ทรงความหมายในการชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็น

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยจะเท 103 เสียงไปทางด้านใด ด้านของการสืบทอดอำนาจ ด้านต่อต้านการสืบทอดอำนาจมีผลสะเทือน

การเตือนของพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นการเตือนว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศอย่างไร พรรคภูมิใจไทยเคยประกาศอย่างไร

ไม่ว่าจะจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล

พรรคประชาธิปัตย์อาจเห็นว่าไม่จำเป็นเพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พ้นจากหัวหน้าพรรคไปแล้ว พรรคภูมิใจไทยอาจเห็นว่าไม่จำเป็นเพราะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศอย่างมีเงื่อนไข

หากพรรคพลังประชารัฐหาเสียงได้เกิน 251 ก็ถือว่าชอบธรรม

ปมเงื่อนอยู่ตรงสภาพความเป็นจริงที่ว่า ประชาชนซึ่งเลือกพรรคประชาธิปัตย์คิดอย่างไร ประชาชน ซึ่งเลือกพรรคภูมิใจไทยคิดอย่างไร

จากความเคยชินทางการเมืองในอดีตหากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยจะเลือกเป็นรัฐบาล ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็มิได้เป็นเรื่องผิดปกติ

เพราะการตัดสินใจเช่นนี้เคยมีมาแล้วมากมาย

เพียงแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีพรรคการเมืองแบบพรรคอนาคตใหม่และพรรคการเมืองนี้ จริงจังเป็นอย่างมากในเรื่องเอกภาพระหว่างคำประกาศ กับการลงมือทำเท่านั้น

นี่คือมิติใหม่ที่มาพร้อมกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน