คอลัมน์ รู้ไปโม้ด : เปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 (ตอนจบ) – โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

เปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 (ตอนจบ) – ฉบับวานนี้ (23 มิ.ย.) “ปณิธาน” ถามมาว่า เคยมีการเปิดเผยจากคณะราษฎรถึงสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ ตอบว่า เคย เมื่อวานอ่านข้อเขียนของ นายปรีดี พนมยงค์ แล้ว

วันนี้มาอ่านบันทึกของ พลโทประยูร ภมรมนตรี (ยศขณะนั้น ร้อยโท) โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต เขียนไว้ในบทความเรื่อง “คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ?” เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com

ท่านพลโทประยูร ภมรมนตรี ผู้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น ผู้จุดประกายความคิดของท่านปรีดี ในอันที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ อีกทั้งเป็น 1 ใน 7 ของผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส ได้บันทึกความทรงจำถึงสาเหตุ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ดังนี้

เปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 (ตอนจบ) : คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย...น้าชาติ ประชาชื่น

“กำเนิดของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น ได้ก่อหวอดขึ้นในดินแดนต่างด้าว ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่อยู่ในประเทศของเราก็เคยชินต่อสภาพความเป็นอยู่ในระบบพึ่งบุญบารมี ระบบพินอบพิเทา ถือโชคชะตากุศลบุญราศีเป็นเรื่องของชีวิต ครั้นเมื่อได้ออกไปอยู่ในดินแดนต่างประเทศ ในประการแรก เราจะได้เห็นความรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ

ทำให้หวนมาคิดเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเรา ทำไมจึงต้องจมดินจมโคลนพะรุงพะรังอยู่อย่างนี้ กับทั้งความเป็นอยู่ประชาชนของเขาที่อยู่ในระดับชีวิตส่วนรวมที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ระบบหมอบกราบ พินอบพิเทา พูดจา ไอ้ เอ็ง มึง กู เป็นเรื่องที่ขมขื่น ดังที่ได้ประสบอยู่ในบ้านเมืองของเรา

นอกจากนี้ยังเกิดมีความรู้สึกแสลงใจที่ถูกเหยียดหยาม เสมือนข้าทาสที่อยู่ในอาณานิคม เพราะในยุคนั้น พลเมืองกว่าครึ่งโลกยังเป็นประเทศราชในความปกครองของคนผิวขาว ทำให้รู้สึกว่าประเทศเรานั้นอ่อนแอ มิได้ปรับปรุงให้เข้มแข็งและเป็นระเบียบอันดีงามเสมือนอารยประเทศทั้งหลาย เมื่อได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่ออิสระและเสรีภาพที่ประชาชนชาวยุโรปต่อสู้ เอาชีวิตเลือดเนื้อเข้าแลกรักษาสิทธิเสรีภาพ เขาจึงสามารถสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมั่นคง ที่เป็นกุญแจทองนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองและความมั่นคงสืบเนื่องกันมาหลายศตวรรษ

เปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 (ตอนจบ) : คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย...น้าชาติ ประชาชื่น

ด้วยเหตุผลนานาประการดังได้กล่าวมาแล้วนี้ ประกอบกับเมื่อหวนคำนึงถึงสภาพความเสื่อมโทรมของบ้านเมืองในยุคนั้น จึงทำให้นักเรียนไทยผู้รักชาติที่อยู่ในยุโรป เฉพาะในประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมใจร่วมคิดด้วยเจตนาอันแรงกล้า ยอมเสี่ยงชีวิตคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น เพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติ

การที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ได้เป็นการกบฏ หรือล้มราชบัลลังก์ เพราะการมีรัฐธรรมนูญปกครองบ้านเมืองนั้นนับเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพระเจ้าอยู่หัว ความดีทั้งหลายก็เทิดทูนถวายส่งเสริมพระบารมี ฉะนั้นพระมหากษัตริย์ย่อมรุ่งโรจน์ตลอดไป”

ดร.วิชิตวงศ์ระบุว่า ข้อเขียนของ ท่านปรีดี พนมยงค์ กับบันทึกของ พลโทประยูร ภมรมนตรี ดังที่ได้นำมาข้างต้น เมื่อประกอบกัน ก็ย่อมจะให้ความกระจ่างถึง “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย

โดย [email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน