คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 การเคลื่อนย้ายแรงงาน การลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ จึงหนีไม่พ้นถูกตั้งข้อสงสัยว่าการ์ดตกหรือเปล่า

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ออกมาส่งสัญญาณอย่างจริงจังถึงผู้ใต้บังคับบัญชา ให้เอาจริงเอาจังกับปัญหาดังกล่าว และที่สำคัญห้ามมีเอี่ยวกับขบวนการขนแรงงานผิดกฎหมายโดย เด็ดขาด

กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ นำคณะประกอบด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร., พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม., พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผบช.ภ.7, พล.ต.ต.ณัฐ สิงห์อุดม รอง ผบช.ตชด. นั่งเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนรอยต่อประเทศเมียนมา เพื่อรับฟังปัญหา พร้อมวางมาตรการคุมเข้มการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ลงพื้นที่

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์เปิดเผยว่า เป็นการเดินทางมาตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา และตรวจภูมิประเทศที่เป็นเส้นทางสำคัญในการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เช่น แนวด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแนวชายแดนทะเล และ อ.สังขละ อ.ทองผาภูมิ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า มีชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ยาวกว่าหลายร้อยกิโลเมตร ง่ายต่อการลักลอบ เข้าประเทศ โดยเฉพาะการเดินเท้าผ่านทางช่องทางธรรมชาติ ยากต่อการที่หน่วยงานความมั่นคงจะลาดตระเวนได้ทั่วถึง

นับจากการระบาดของโรคโควิดที่พบว่ามาจากแรงงานพม่าลักลอบเข้าเมือง ตร.ตั้งคณะทำงานสืบสวนปราบปรามเครือข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. (มค.) เป็นหัวหน้า คณะทำงาน มีการทำงานใน 2 มิติควบคู่กันไป

มิติที่หนึ่ง คือการสกัดกั้น โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจพื้นที่ ตรวจคนเข้าเมือง และฝ่ายปกครอง มีการตั้งจุดตรวจพื้นที่แนวชายแดนทั่วประเทศ กว่า 300 จุด, จุดตรวจสกัดกั้นพื้นที่ตอนใน 592 จุด และชุดเคลื่อนที่เร็ว 1,769 ชุด ทำหน้าที่ลาดตระเวน สกัดต่างด้าวที่หลบจุดตรวจ

อีกมิติ คือ การสืบสวนขยายผลขบวนการลักลอบขนแรงงาน ซึ่งตั้งแต่ 1 ม.ค. จนถึงปัจจุบัน มีการจับกุมต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองแล้ว 9,233 ราย, นำหรือพาคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 206 ราย, ช่วยเหลือหรือซ่อนเร้น 166 ราย, นายจ้างกระทำความผิด 15 ราย และจับกุมเครือข่ายขนแรงงานต่างด้าวที่สำคัญ 13 เครือข่าย เช่น เครือข่ายเจ๊เพชร สมุทรสาคร, เครือข่ายเจ๊ดา ดอนเมือง, เครือข่ายกะพ้อ-ยะหริ่ง เป็นต้น

ตรวจความพร้อมโครงการ Organizational Quarantine

ส่วนกรณีที่ตกเป็นข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี พล.ต.อ.จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน และมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานความมั่นคงเป็นผู้กำกับ ดูแลในภาพรวม

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้ ข้าราชการตำรวจ จำนวน 29 นาย ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงไปแล้ว (อยู่ระหว่างการสอบสวน) จำนวน 4 นาย ถูกตั้งกรรมการสืบสวน (อยู่ระหว่างการสืบสวน) จำนวน 18 นาย อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ตร. เพื่อส่งเรื่องให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัย จำนวน 7 นาย และเป็นข้าราชการฝ่ายอื่นจำนวน 5 นาย อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ได้อนุมัติงบประมาณประจำปี 2564 ใช้กองร้อย ตชด.จัดทำโครงการ Organizational Quarantine (OQ) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 มี.ค.64 จำนวน 14 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ทั่วประเทศ ได้แก่ จันทบุรี สระแก้ว หนองคาย เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนองและสงขลา เพื่อใช้เป็นสถานที่กักกันแรงงานต่างด้าวและผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก่อนผลักดันออกนอกประเทศ หรือกักตัวระหว่างรอพิจารณาคดี ซึ่งพบว่ามีความพร้อมใช้งานได้ดี

สั่งคุมเข้าด่านตรวจ

พล.ต.อ.สุวัฒน์ ย้ำว่า ปัญหาเรื่องการลักลอบเข้าเมืองอาจนำเชื้อโควิด สายพันธุ์อินเดีย ซึ่งแพร่มาจากประเทศที่มีรอยต่อกับเพื่อนบ้านของเราคือ เมียนมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงท่านมีความห่วงใยในเรื่องนี้ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเข้มแข็งทำงาน บูรณาการร่วมกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

หากหน่วยงานรัฐเอาจริงไม่ลูบหน้าปะจมูก เชื่อว่าปัญหาอะไรก็เอาอยู่ทั้งนั้น

อดิศร จิตตเสวี
เรื่อง/ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน