ปมแก้ “ไพรมารีโหวต” “วิษณุ”โต้โผชี้แจงเอง “จาตุรนต์-อภิสิทธิ์”แฉ

 

ปมแก้ “ไพรมารีโหวต” / ทะลุคนทะลวงข่าว

เมื่อเผยแสดงคล้ายว่า “สุดท้ายกรรมการที่เป็นคนกลางกลับจะลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง”

เสียงจึงเข้มข้นมาทั้งจาก จาตุรนต์ ฉายแสง และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีคสช.จะคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้

ระบุจากคนพรรคเพื่อไทย คิดว่าคสช.จะเน้นเรื่องที่จำเป็นเฉพาะพรรค การเมืองที่ตั้งใหม่บางพรรค เพื่อให้พรรคเหล่านั้นทำอะไรทันในช่วงการเลือกตั้ง การคลายล็อกดังกล่าวเป็นการตัดสินใจ การวางแผนกำหนดกติกา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของ คสช.เท่านั้น และมุ่งทำให้พรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่อ่อนแอขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน

จึงมองว่าไม่ได้เป็นการปฏิรูปการเมืองอย่างที่ คสช.กล่าวอ้าง ตรงกันข้ามกลับเป็นการทำลายระบบการเมืองของประเทศไทยให้ล้าหลังและเกิดความเสียหาย

ส่วนกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ให้ยึดแนวทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เลือกสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง แทนการทำไพรมารีโหวตแบบเก่าของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นว่า จะทำให้สมาชิกจำนวนน้อยมากกำหนดว่าใครจะได้ลงสมัครแทนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง หรือผู้สนับสนุนพรรคทั้งจังหวัดและเขตเลือกตั้ง

รวมถึงจะทำให้เกิดความปั่นป่วนในการสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะทำให้คนที่จะสมัครแบบเขตเลือกตั้งกลายเป็นตัวแทนของคนกลุ่มเล็กๆ แทนที่จะเป็นคนในระดับประเทศ

เปรี้ยงว่าทั้งหมดที่เป็นปัญหาเขาไม่ได้คิดที่จะแก้ปัญหา แต่ตั้งใจให้เป็นปัญหากับพรรคการเมืองเดิม โดยเฉพาะพรรคใหญ่ เลยวางระบบไว้แบบนี้ การคิดจะแก้ไขและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คสช.ไม่ได้แก้ให้มีผลดีกับพรรคการเมืองโดยรวม แต่เป็นการแก้เพื่อเอื้อพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.

“สุดท้ายกรรมการที่เป็นคนกลางกลับจะลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง และกำหนดกติกาเอง สุดท้ายคิดว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีความเป็นธรรม”

จาตุรนต์ ฉายแสง

อายุ 62 สำเร็จปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กที่บัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา

เป็นผู้แทนครั้งแรกปี 2529 จากนั้นกวาดเรียบที่นั่งส.ส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีหลายกระทรวง

รัฐประหาร 2557 ถูกควบคุมตัวขึ้นศาลทหาร ฐานไม่ไปรายงานตัวตาม คำสั่ง คสช.

การคลายล็อกครั้งนี้ ความเห็นโดยสรุป คือ คลายเพื่อเอื้อพรรคหนุน คสช. และตั้งใจสร้างปัญหาให้พรรคเก่า

คนเห็นเช่นเดียวกันว่ากรรมการจะลงเล่นเสียเอง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า การแก้กฎหมายการทำไพรมารี โดยอาจกำหนดให้ใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการทำไพรมารีโหวตได้ และคสช.ควรพูดความจริงกับประชาชน

ชี้ จากการหยั่งเสียงแบบไพรมารีไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการที่คณะกรรมการบริหารพรรคหรือคณะกรรมการสรรหา ผู้สมัครไปรับฟังความเห็น เพราะบท บัญญัติแบบนี้รัฐธรรมนูญปี”50 ก็มี ก็ไม่ได้เรียกว่าไพรมารีโหวต หรือไพรมารี โหวตฉบับย่อ ดังนั้น การจะทำอะไร ควรให้ความจริงกับประชาชน ถ้าไม่อยากทำ ไม่พร้อมที่จะทำ คิดว่าไม่ควรทำแล้วก็พูดตรงๆ

เชื่อ เหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคงเป็นเพราะหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกับ ผู้มีอำนาจที่มาทำการเมือง เพราะจะเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา

“เนื่องจากไพรมารีจะเป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขาต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารี ไปแอบตกลงว่าช่วงท้ายๆ ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไม่ได้ เพราะว่า ผู้สมัคร ส.ส. ต้องผ่านไพรมารีของพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อายุ 54 สำเร็จปริญญาตรีสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ สถาบันเดียวกัน และปริญญาตรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า และอาจารย์คณะเศรษฐ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เล่นการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 27 ดำรงตำแหน่ง 17 ธ.ค.2551-5 ส.ค.2554

ระบุด้วยว่า วันนี้ปัญหาข้อกฎหมายมีข้อเดียวซึ่งเป็นความบกพร่องของ สนช.เอง คือควรเปิดโอกาสให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งได้เร็วๆ และให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายได้ เมื่อแก้ไขตรงนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบไพรมารีโหวตจากที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด เพราะพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อยู่แล้ว

ที่ชี้แจงมาจาก วิษณุ เครืองาม ถึง รูปแบบการจัดทำไพรมารีโหวตใหม่ ที่จะออกมาในคำสั่งมาตรา 44 เพื่อคลายล็อกพรรคการเมือง ว่า ผลการประชุม คสช.เพื่อพิจารณาคลายล็อกพรรคการเมืองเห็นชอบคลายล็อกการเมืองและประเด็นอื่นรวม 6 ข้อใหญ่ แต่สามารถแตกออกเป็นประเด็นปลีกย่อยได้เป็น 9 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าจะมีคำสั่ง ม.44 ออกมาเมื่อใด แต่จะออกภายหลังจากที่ พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ยืนยันว่าคำสั่งที่จะออกมา คสช.ต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ พรรคเล็ก

อ้างด้วยว่ากระบวนการนี้ไม่ได้ประหลาดหรือพิสดาร เพราะสอดคล้องกับมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต เนื้อหาดังกล่าวยังคงอยู่ แต่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหลังจากการเลือกตั้งปี”62 เนื่องจากการทำไพรมารีโหวตอาจจะมีความยุ่งยาก เพราะเป็นของใหม่ ดังนั้น เราจึงถือหลักอย่างเดียวว่าให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม

วิษณุ เครืองาม

วัย 66 สำเร็จนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดีมาก เหรียญทองพระราชทาน) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย ปริญญาโทและปริญญาเอกกฎหมาย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา

2534 จากอาจารย์สอนกฎหมาย โอนมารับราชการพลเรือนในสังกัดสำนักนายกฯ จากนั้นอยู่ในเส้นทางการเมืองมาโดยตลอด

เนติบริกรคู่บุญคณะรัฐประหาร กระทั่งเป็นรองนายกฯ รัฐบาลคสช.

คนกลางจะลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง หรือไม่

คำตอบจะยิ่งชัดในไม่ช้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน