ปัญหาพรรค คสช. อยู่ที่หัวหน้า คสช.

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

ปัญหาพรรค คสช. อยู่ที่หัวหน้า คสช. การอยู่ในตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้าคสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยไม่ยอมลาออก หลังได้รับเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ บัญชีพรรค คสช.

จากมโนว่าเป็น “จุดแข็ง” ในโลกความจริงกลับเป็น “จุดอ่อน”

สะท้อนจากการที่มีอย่างน้อย 3 คำร้องยื่นถึง กกต. พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค คสช.

โดยมีพล.อ.ประยุทธ์เป็นสารตั้งต้น

ไม่ว่าการอยู่ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งถือว่าได้อำนาจการปกครองมาโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย และขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รับเงินเดือนค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดิน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

การอ้างข้อกฎหมายที่เขียนขึ้นเองเพื่ออยู่ต่อในตำแหน่งขณะที่การเลือกตั้งกำลังจะมีขึ้น ก็ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยสากล

เนื่องจากรัฐบาลคสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ยังมีอำนาจเต็มเปี่ยม ทั้งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การใช้จ่ายงบประมาณที่มีผลผูกพันถึงอนาคต

รวมถึงอำนาจมาตรา 44 ที่ยังอยู่

แต่ที่กำลังเป็นประเด็นพูดถึงกันมากเวลานี้

คือการที่ คสช.มีอำนาจแต่งตั้ง 250 ส.ว. ซึ่งจะมีส่วนออกเสียงร่วมกับส.ส.จากการเลือกตั้งของประชาชนมากกว่า 50 ล้านคน ลงมติเห็นชอบนายกฯ หลังเลือกตั้ง

การดำรงฐานะหัวหน้า คสช. ปลายสุดห่วงโซ่อำนาจ ควบคู่กับการได้รับเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคคสช. จึงเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม

เพราะนั่นเท่ากับสมาชิกรัฐสภา 750 คน ที่แบ่งเป็นส.ส. 500 คน และส.ว. 250 คน

พรรคอื่นต้องเริ่มต้นจาก 0 (บางพรรคถูกทำให้ติดลบเสียด้วยซ้ำ) ขณะที่พรรค คสช. เริ่มจาก 250

เท่านี้ก็แทบ “แบเบอร์”

แต่ปัญหาใหญ่คือประชาชนยอมรับความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ได้หรือไม่

รอฟังคำตอบวันที่ 24 มี.ค.

โดย…มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน