ไม่ไหวอย่าฝืน

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

โดย…รุก กลางกระดาน

ไม่ไหวอย่าฝืน – ถือเป็นปราฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับท่าทีของสังคมต่อบทบาทการทำหน้าที่ป้องกันการระบาดแพร่เชื้อของโรคโควิด-19

ที่แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงต่อเนื่อง จากหลักร้อยมาเป็นหลักสิบ ผู้เสียชีวิตก็น้อยลง จนบางวันตัวเลขเป็นศูนย์

แต่ทำไมปฏิกิริยาที่ตอบกลับมาไม่ได้มีความปลาบปลื้มชื่นชม เหมือนอย่างที่ศบค.พยายามจะประชาสัมพันธ์ผ่านถ้อยคำคีย์เวิร์ดต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น ‘การ์ดอย่าตก’ ยังผ่อนปรนไม่ได้ และเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมจากคนส่วนใหญ่

นั่นก็เป็นเพราะมาตรการที่ศบค. นำมาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเคอร์ฟิว ปิดห้างร้าน แถมกำชับการจับกุมดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด

นอกจากจะส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ยังส่งผลกระทบมหาศาลต่อสภาพเศรษฐกิจของประชาชนส่วนใหญ่อีกด้วย

ขณะที่การเยียวยาช่วยเหลือของรัฐบาลก็ล่าช้า ไม่ทั่วถึง

ดังจะเห็นได้จากเสียงสะท้อนของประชาชนที่เดือดร้อน และน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง ที่หลายคนเลือกความตายเป็นทางออก เพราะทนสภาพภาวะแร้นแค้นหมดความหวังเช่นนี้ต่อไปไม่ได้

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล และศบค.จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเอื้ออาทรต่อคนในสังคม

เอาใจเขามาใส่ใจเรา ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ทำตัวเป็นเจ้านายอยู่บนหอคอยงาช้าง ใครจะตายก็ช่าง ขอให้ไม่กระทบกับตัวเองเป็นพอ

เพราะการป้องกันโรคระบาดได้สำเร็จ จะไม่เป็นผลที่น่ายินดีเลย หากในที่สุดแล้วประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

การพิจารณาเยียวยาทั้งเฉพาะหน้าอย่างทั่วถึง และวางรากฐานเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจในอนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังพอจะมีข้อดีที่นายกฯ ยอมรับว่าจะต้องขอความช่วยเหลือจาก 20 เศรษฐีเมืองไทย

เพราะการที่เริ่มยอมรับความจริงว่าตัวเองไร้ความสามารถในเรื่องไหน ย่อมเป็นก้าวแรกในการพัฒนาตัวเอง

ที่สำคัญ เมื่อฟังเจ้าสัวแล้ว ก็ต้องฟังเสียงประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุดตรงประเด็น

และหากพบว่าปัญหาที่เผชิญมันหนักหนาเกินกว่าขีดศักยภาพตัวเองก็ควรยอมรับ เปิดโอกาสให้คนที่เขาทำได้เข้ามาแทน

ถ้าไม่ไหวก็อย่าฝืน เพราะประเทศไม่ใช่สนามเด็กเล่น

คนที่ตายเขาตายจริง ไม่ใช่แค่เกม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน