“รุก กลางกระดาน”

ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์การเมืองไทย สำหรับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 5 ปี จากคดีปล่อยปละละเลยโครงการจำนำข้าว

จึงไม่แปลกที่บรรดานักวิชาการสายรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ต้องเฝ้ารอคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 9 คน เพื่อนำมาศึกษา

เพราะถือเป็นคำพิพากษาที่วางบรรทัด ฐานใหม่ในสังคม

ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามโครงการของรัฐบาลที่ประกาศไว้ต่อประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป หรือกระทั่งการรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของบรรดารัฐมนตรี ที่ถูกขยายความรับผิดชอบออกไป

เป็นสิ่งที่บรรดานักการเมืองที่จะเข้ามา บริหารประเทศในอนาคต

รวมทั้งรัฐบาลทหาร ในกรณีที่ไม่ได้นิรโทษกรรมความผิดให้ตัวเอง หรือใช้ ม.44 เพื่อปฏิเสธความรับผิดทางกฎหมายก็ต้องอยู่ในข่ายเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามในรายละเอียดของคดี ยังมีข้อถกเถียงอยู่มากมายเช่นกัน

อาทิ คดีดังกล่าวถูกชี้มูลโดยป.ป.ช. ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นเจ้าของสำนวน มีมติ 7 ต่อ 0 ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยให้เหตุผลว่าปล่อยปละละเลย ทั้งให้มีการทุจริต นำข้าวประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ และอีกหลายๆ ประเด็น

แต่ในคำพิพากษาของศาลฎีกา กลับชี้ว่าสิ่งที่ป.ป.ช.ชี้มูลเหล่านี้ไม่มีความผิด และไม่มีการทุจริต โดยความผิดที่มีคือการปล่อยให้มีการระบายข้าวจีทูจีโดยผิดกฎหมาย

คำถามคือแล้วสำนวนคดีจีทูจี งอกขึ้นมาจากสำนวนป.ป.ช.เดิมได้อย่างไร อัยการซึ่งเป็นโจทก์สามารถนำเรื่องที่อยู่นอกสำนวนแทรกเข้ามาระหว่างการยื่นฟ้องได้หรือ ในขั้นตอนการสืบพยานชั้นศาล สามารถพิจารณาสำนวนที่นอกเหนือการชี้มูลได้หรือไม่ อย่างไร

เปรียบเสมือนนาย ก.ถูกฟ้องคดีฆ่า นาย ข. แต่ระหว่างทางมีการแนบหลักฐานคดีฆ่านายค. เข้าไปในสำนวน ทั้งที่นาย ก.ไม่เคยได้สู้คดีดังกล่าว

สุดท้ายลงเอยกลายเป็นว่านาย ก. ผิดเพราะคดีฆ่านาย ค.

อย่างนี้ก็ได้เหรอ!??

จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความกระจ่าง เพื่อวางบรรทัดฐานการพิจารณาคดี

เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษากรณีความยุติธรรมในประเทศไทยในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน