“มันฯ มือเสือ”

กรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เริ่มเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มากขึ้น

เริ่มจากฝ่ายการเมืองต้นตำรับประชานิยม ตั้งคำถามกับรัฐบาล คสช.ว่า กรณีแจกบัตรให้ผู้มีรายได้น้อยนำไปรูดซื้อสินค้าฟรีเดือนละ 200-300 บาท กับนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีก 500 บาทนั้น

เข้าข่ายเป็นประชานิยมหรือไม่

ถ้าใช่ ก็แย่หน่อย เพราะรัฐบาล คสช.เคยตั้งแง่รังเกียจนโยบายช่วยเหลือคนรากหญ้าด้วยวิธีทำนองนี้มาตลอด อ้างว่าเป็นการให้ปลา ไม่ให้เบ็ด ทำให้คนรับเคยตัว ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลตลอดเวลา

หรือถ้ารัฐบาลบอกว่าการแจกบัตรคนจนไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นประชารัฐ ก็ต้องอธิบายให้ชัดว่าแล้วมันต่างกันอย่างไร

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านั้นปลายปี 2559 รัฐบาล คสช.ก็มีโครงการให้ผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาท และ 3,000 บาท มีคนมาลงทะเบียน 8.3 ล้านคน ใช้งบฯ เกือบ 2 หมื่นล้าน

มาปีนี้เปิดลงทะเบียนรับบัตรคนจน ปรากฏมีมาลงทะเบียน 14.2 ล้านคน คัดกรองแล้วเหลือ 11.4 ล้านคน มากกว่าปีที่แล้ว 3 ล้านคน ก็เลยเกิดคำถามที่สองตามมาว่า

ทำไมยิ่งแจกคนจนยิ่งเพิ่ม

กรณีบัตรคนจนยังไม่นับรวมปัญหาจุกจิกอื่น เช่น เครื่องรูดบัตรไม่พอ ร้านธงฟ้ากระจายไปไม่ถึงพื้นที่ชนบท มีการนำบัตรไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดฯลฯ แสดงถึงความไม่พร้อมของเจ้าของนโยบาย

รวมถึงข้อครหาเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนเจ้าของสินค้า รายใหญ่หรือไม่

รัฐบาลปฏิเสธว่าไม่จริง แต่คนก็ยังไม่เชื่อ

คำถามสุดท้ายก็คือ การแจกเงินผ่านบัตรคนจนต้องใช้เงินงบประมาณทั้งหมดเท่าไหร่ และจะใช้ไปอีกกี่เดือนกี่ปี

เพราะโครงการลักษณะแบบนี้เมื่อเริ่มแล้วก็เลิกยาก มีแต่ต้องเติมเงินให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

ไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน