ปัญหาค่าไฟแพงกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าแข่งกับอุณหภูมิเดือนเม.ย. ส่งผลให้ปรอทการเมืองช่วงใกล้เลือกตั้งพุ่งสูงตาม

ล่าสุดผลประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดใหม่เดือนพ.ค.-ส.ค.2566 ลดลง 2 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย

ส่วนการขออนุมัติงบกลาง เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติก่อน โดยตัวเลขอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท

การที่เรื่องค่าไฟแพงถูกนำมาขยายความเป็นประเด็นการเมือง

เนื่องจากบรรดาพรรคการเมืองต่างถือโอกาสโชว์วิสัยทัศน์ ผ่านนโยบายหาเสียงว่าจะทำอย่างไรให้ค่าไฟฟ้าถูกลง หากพรรคของตนได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นรัฐบาล

ด้วยวิธีการอันหลากหลาย เช่น ปรับโครงสร้างราคา รื้อสัญญาไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับเอกชน สนับสนุนการใช้โซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน ฯลฯ เป็นต้น เพื่อลดภาระให้กับประชาชน

แต่ที่ผูกโยงค่าไฟแพงเข้ากับการเมืองแบบเต็มๆ คือ

การที่ผู้ทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลออกมากล่าวโทษรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 8-9 ปีก่อน ว่าได้ประเมินแผนการผลิตไฟฟ้าผิดพลาด เป็นต้นเหตุทำให้ค่าไฟแพงในปัจจุบัน

ตรงนี้เองที่เป็นบูมเมอแรงย้อนกลับ

เนื่องจากในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูง ในปี 2555 ขยายตัวถึง 7.2% และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่องได้ปีละ 5%

การมีแผนงานขยายการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต จึงสำคัญและจำเป็น เพราะขณะนั้นกำลังสำรองไฟฟ้ามีอยู่ประมาณ 15% ซึ่งเป็นการสำรองขั้นต่ำ

กระทั่งเกิดการรัฐประหารโดยคสช.ในปี 57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกฯ บริหารประเทศต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ตลอด 8-9 ปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยแต่ปีละ 1% กว่าๆ

จึงทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกิน

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เพียงไม่เจรจาต่อรองให้ชะลอการผลิตลง แต่ยังออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีกจำนวนมาก ก่อนยุบสภายังอนุมัติใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีกเกือบ 5,000 เมกะวัตต์

ทำให้กำลังไฟฟ้าที่ล้นอยู่แล้ว ล้นมากขึ้น และจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

จึงถูกต้องแล้วที่พล.อ.ประยุทธ์บอกกล่าวผ่านกลุ่มสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล กรณีแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง “ขอร้องอย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมืองเลยได้ไหม มันไม่มีอะไร”

เมื่อบูมเมอแรงที่โฆษกขว้างออกไป หมุนย้อนกลับมา

ขนาด ‘กัปตันแก่’ มากด้วยประสบการณ์ ก็ยังหลบแทบไม่ทัน

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน