เป็นเรื่องยินดียิ่งที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ถูกยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่ประเทศอินเดีย เพิ่งผ่านพ้นมา
โดยประกาศภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี”
เป็นความภาคภูมิใจของไทยที่ภูพระบาทเป็นมรดกโลกลำดับที่ 8 ของประเทศ แบ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง และทางวัฒนธรรม 5 แห่ง
นอกจากนี้ไม่แค่ภูพระบาทเท่านั้น รัฐบาลระบุว่ายังมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรม ด้วยการเพิ่มจำนวนแหล่งมรดกโลก
ขณะนี้ได้นําเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกที่รอการสนับสนุน และผลักดันเข้าสู่บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกอีก 5 แหล่ง
ได้แก่ 1.วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช 2.อนุสรณ์สถานแหล่งต่างๆ ภูมิทัศน์วัฒนธรรม กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ จ.เชียงใหม่
3.พระธาตุพนม จ.นครพนม 4.กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทปลายบัด จ.บุรีรัมย์ และ 5.จ.สงขลา ชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา
ส่วนภูพระบาทนั้น รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรมอยากให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมไปเที่ยวชมสัมผัสมรดกโลกแห่งล่าสุด
จึงยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมไปจนถึงวันที่ 12 ส.ค.2567
รัฐบาลระบุว่าได้คำนึงถึงการอนุรักษ์ และพัฒนามรดกสำคัญของชาติ ดังนั้น กรมศิลปากรจึงจัดทำแผนการอนุรักษ์ และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
โดยจัดทำแผนบริหารการจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ จะครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ ต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสีมาในประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสม
กรณีภูพระบาทก็หวังว่ารัฐบาลจะต่อยอดออกไปอีก โดยเฉพาะการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภูพระบาทอย่างกว้างขวาง
อาทิ วัฒนธรรมสีมา วัฒนธรรมหินตั้ง อารยธรรมสมัยทวารวดี สิ่งเหล่านี้คืออะไร เชื่อมโยงกันอย่างไร
ถ้าทำได้นอกจากความรู้แล้ว จะต่อยอดการท่องเที่ยวได้อย่างมีอรรถรสยิ่งขึ้น นำรายได้สู่ท้องถิ่น
ข้าวตอกแตก