ลดโลกร้อน อีกความหวัง ผลิตแร่กำจัดคาร์บอน “แม็กนีไซต์” ใช้แค่72วันจากเดิมพันปี

ลดโลกร้อน – เว็บไซต์ข่าว อินดิเพนเดนต์ รายงานผลงานวิจัยอันน่าฮือฮาและเป็นความหวังในการลดโลกร้อน ว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทรนต์ เมืองปีเตอร์บอร์โรว์ รัฐออนแทริโอ ประเทศแคนาดา ประสบความสำเร็จในการสร้างแร่ธาตุประเภท แม็กนีไซต์ (Magnesite) ในห้องปฏิบัติการแล้ว

งานวิจัยดังกล่าวเพิ่งนำเสนอในงานประชุมโกลด์ชมิดต์ ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ว่า แร่ดังกล่าวมีคุณสมบัติพิเศษในการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ เพื่อลดปัจจัยหลักในการโลกร้อน ส่งผลให้งานวิจัยดังกล่าวสร้างความฮือฮาในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ที่ต่างเร่งหาวิธีการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว

หัวใจหลักของงานวิจัยนี้ คือหากรรมวิธีเพื่อเร่งอัตราการเกิดปฏิกิริยาในกระบวนการก่อตัวของสารประเภทแม็กนีไซต์ ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว ต้องใช้เวลาหลายพันปี

ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า เทคโนโลยีกำจัดก๊าซโลกร้อนด้วยการดูดออกโดยตรงจากอากาศ หรือซีซีเอส (carbon capture and storage) นั้นจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น

รายงานระบุว่า แม็กนีไซต์จำนวน 1 ตัน มีความสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณครึ่งตัน นำไปสู่แนวคิดที่ว่าอาจใช้สารประเภทดังกล่าวกักเก็บก๊าซโลกร้อนชนิดนี้ไว้แบบถาวรที่ใต้ดิน แต่ประสบปัญหาใหญ่ เพราะแม็กนีไซต์นั้นใช้เวลาหลายพันปีในการก่อกำเนิดตัว

ศาสตราจารย์เอียน พาวเวอร์ ผู้นำคณะนักวิจัย กล่าวว่า เวลาที่แม็กนีไซต์ใช้ในการก่อกำเนิดนั้นกินเวลานานหลายร้อยถึงหลายพันปีตามสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวของโลก ทางคณะทำงานจึงศึกษากระบวนการเกิดของแร่ชนิดนี้ที่อุณหภูมิต่ำ แล้วใช้องค์ความรู้ที่ได้มาปรับปรุงเพื่อเพิ่มอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีในแต่ละขั้นตอนของการตกผลึก

ลดโลกร้อน

Credit: Ian Power

.พาวเวอร์ ระบุว่า ทางคณะใช้ผงกรวด โพลีสไตรีน (polystyrene microspheres) เป็นตัวเร่ง สามารถลดเวลาการเกิดลงมาเหลือเพียง 72 วัน ที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ทำให้กรรมวิธีดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูง

การค้นพบดังกล่าวได้รับการนำเสนอในงานประชุมธรณีเคมี โกลด์ชมิดธ์ ที่นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นงานประชุมเชิงวิชาการที่นำเสนอองค์วามรู้ต่างๆ ที่จะนำไปใช้ดำเนินการแก้ไขโลกร้อนให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์หลายคนแสดงความกังวลต่อการที่ประชาคมโลกตั้งความคาดหมายไว้กับวงการวิทยาศาสตร์สูง ว่าอาจมองโลกในแง่ดีจนเกินไป เนื่องจากปัญหาด้านการผลิตในอุตสาหกรรมที่ขาดความพร้อม

แต่นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องกันว่า องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านนี้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมา ควบคู่กับการลดทอนการปล่อยก๊าซโลกร้อน

ดร.แกเร็ธ จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ความสำเร็จของคณะนักวิจัยของแคนาดาเป็นพัฒนาการทางบวกที่ยิ่งใหญ่

กรรมวิธีการจัดเก็บคาร์บอนด้วยการจับตัวกับแร่ได้รับการศึกษามาอย่างยาวนานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาสำคัญคือ เรื่องเวลา และพลังงานที่ต้องใช้ นั่นหมายถึงเงิน ซึ่งก็คือต้นทุนที่มหาศาล อย่างน้อยที่สุด งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึงกรรมวิธีการจัดเก็บคาร์บอนด้วยการจับตัวกับแร่ที่มีต้นทุนต่ำกว่า เพราะเกิดขึ้นที่อุณหภูมิห้องจอห์นสันกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน