‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก ซินโนโลยี DS218+

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก จันท์เกษม รุณภัย เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Storage Technology) ในทุกวันนี้หาได้ทั่วไปและส่วนใหญ่แทบไม่มีค่าใช้จ่ายคือ การโอนข้อมูลไปไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการคลาวด์ ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้เข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบดาวน์โหลด ไปจนถึงการสตรีมมิ่งได้อย่างรวดเร็ว (ขึ้นกับแบนด์วิธอินเตอร์เน็ต)

แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดข้อหนึ่งของ การให้บริการ คือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและความยั่งยืนของข้อมูล เพราะบางคนก็เกรงว่าไม่รู้วันใดข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้อาจสูญหาย และผู้ให้บริการ หรือใครจะแอบเข้ามาล้วงข้อมูลไปหรือไม่

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก

เน็ตเวิร์ก สตอเรจ ซิสเต็ม หรือระบบการจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่าย ที่นิยมเรียกกันว่า แนส (NAS) เข้ามาแก้ไขปัญหาในจุดนี้อย่างชะงัด ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์ NAS จึงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศไทย

การเข้ามารุกตลาดของซินโนโลยี (Synology) ผู้นำอุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายของโลกจากไต้หวัน ถือเป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่สะท้อนถึงแนวโน้มเติบโตดังกล่าว โดยผู้ทดสอบได้รับโอกาสทดลอง ใช้งานกล่องซินโนโลยี ดีเอส 218+ เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน จึงนำประสบการณ์ใช้งานมาเล่าสู่กันฟัง

หากใครที่ยังมองไม่ออกว่าเจ้ากล่องนี้คืออะไร กล่าวคือ เอาไว้เก็บข้อมูลดิจิตอลทั้งหลายของผู้ใช้และให้เข้าถึงได้ผ่านอินเตอร์เน็ต กล่าวง่ายๆ ว่าเป็นเสมือนเซิร์ฟเวอร์คลาวด์ส่วนตัวของผู้ใช้เองที่ปลอดภัยสบายใจกว่า เพราะตั้งไว้ที่บ้าน!

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก

ไฟแอลอีดีสวย

เริ่มที่การออกแบบภายนอก กล่องคลาวด์ซินโนโลยี ดีเอส 218+ ออกแบบมาได้น่าประทับใจผู้ทดสอบมาก เพราะนอกจากขนาดที่กะทัดรัด วัสดุพลาสติกที่คงทนแข็งแรง ยังมีการออกแบบที่บ่งบอกถึงความเท่โฉบเฉี่ยวที่แลเห็นได้ตั้งแต่หน้ากากด้านหน้าซึ่งผู้ใช้เปิดออกมาได้ เผยให้เห็นช่องใส่หน่วยเก็บข้อมูลภายใน 2 ช่อง รองรับทั้งแบบฮาร์ดดิสก์ และเอสเอสดี และไฟแอลอีดี 4 ช่อง แสดงสถานะเครื่อง

ได้แก่ Status, LAN Disk 1 และ Disk 2 ด้านล่าง มีช่อง USB 3.0 กรณีผู้ใช้มีฮาร์ดดิสก์แบบเอ็กซ์ เทอนอล นำมาเสียบแล้วกดปุ่ม C ซึ่งจะคัดลอกข้อมูลทั้งหมดในฮาร์ดดิสก์แบบเอ็กซ์เทอนอลเข้าไปเก็บข้อมูล ทันที

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก

ข้างใต้ – ด้านหลัง

ถัดลงมาเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง ส่วนด้านหลังของเครื่องจะมี USB 3.0 อีก 2 ช่อง Gigabit LAN, eSATA และช่องเสียบปลั๊กไฟ ปุ่มรีเซ็ต และช่อง Kensington Security เพื่อล็อกไว้กับโต๊ะ

ดีเอส 218+ ยังแตกต่างจากกล่องเก็บข้อมูล NAS หลายรุ่นตรงที่มีสเป๊กที่ถือว่าแรงสำหรับ NAS โดยใช้ขุมพลังจากหน่วยประมวลผล หรือซีพียู รุ่น Celeron J335 จากค่ายอินเทล ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นซีพียูแบบ 2 หัว หรือ ดูอัล-คอร์

พร้อมหน่วยความจำแรมขนาด 2 กิกะไบต์ (GB) รองรับช่องใส่ฮาร์ดดิสก์ หรือเอสเอสดี จำนวน 2 ช่อง มีอัตราเร็วการอ่านข้อมูลแบบเข้ารหัสที่ 113 เมกะไบต์ต่อวินาที (MB/s) และอัตราเร็วการเขียนข้อมูล 112 MB/s

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก

ด้านข้าง

จุดนี้ต้องเน้นว่าแม้ดีเอส 218+ จะรองรับช่องใส่หน่วยเก็บข้อมูล 2 ช่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าความจุข้อมูลทั้งหมดของกล่อง NAS รุ่นนี้จะนำความจุของทั้งคู่มารวมกัน แต่ลักษณะการทำงานของดีเอส 218+ จะใช้ฮาร์ดดิสก์เพียงตัวเดียวในการเก็บข้อมูล ส่วนอีกตัวนั้นจะเป็นฮาร์ดดิสก์คู่เหมือนที่มีไว้เพื่อสำเนาข้อมูลตามการ ทำงานในระบบ RAID 0 และ 1 เช่น

หากผู้ใช้ใส่ฮาร์ดดิสก์ความจุ 1 เทราไบต์ (TB) เข้าไปทั้ง 2 ช่อง ความจุรวมของกล่อง NAS จะอยู่ที่ 1TB ตรงนี้เองที่เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลที่เก็บไว้กรณีหน่วยเก็บข้อมูลเสียตัวใดตัวหนึ่ง

ความประทับใจของผลิตภัณฑ์นี้ในการทดสอบเริ่มที่ กล่อง เพราะทำจากกระดาษการ์ดบอร์ด ถือเป็นกระดาษรีไซเคิล สะท้อนถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของซินโนโลยี เมื่อเปิดขึ้นมาผู้ใช้จะพบกับตัวกล่อง NAS สายไฟพร้อมอะแด็ปเตอร์ คู่มือการติดตั้งและนอต 8 ตัว สำหรับขันยึดฮาร์ดดิสก์กับช่องใส่ภายในกล่อง NAS โดยผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ไปหาซื้อหน่วยเก็บข้อมูลมาเอง ทางซินโนโลยีไม่ได้แถมมาให้

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก

กล่องรักษ์โลก

แนะนำว่าควรใช้ฮาร์ดดิสก์ที่ออกแบบมาเพื่อ NAS โดยเฉพาะจะดีที่สุด เพราะฮาร์ดดิสก์ประเภทนี้มีความร้อนน้อยกว่าฮาร์ดดิสก์ทั่วไปมาก เหมาะกับการใช้งานต่อเนื่องนานๆ ทำให้ยืดอายุการใช้งานออกไปได้มากกว่า แต่หากหาไม่ได้ก็สามารถใช้ฮาร์ดดิสก์ทั่วไปแทนได้

การติดตั้งนั้นทำได้ง่าย เริ่มจากผู้ใช้ใส่ฮาร์ดดิสก์ทั้ง 2 ตัวเข้าไปในช่องใส่ที่ออกแบบมาขนาดพอดิบพอดี การล็อกและวัสดุต่างๆ ดูแน่นหนาทนทาน ปิดฝาด้านหน้าแล้วนำสาย Ethernet ที่แถมมาเสียบจากช่อง Gigabit LAN ไปยังช่อง LAN ของเราเตอร์ที่บ้าน

จากนั้นเสียบปลั๊กและเปิดเครื่อง NAS เพื่อบู๊ต โดยจะใช้เวลาราว 1 นาที ในครั้งแรก จากนั้นเครื่องจะส่งเสียงสัญญาณเตือนว่าพร้อมใช้งาน ทั้งหมดนี้ถูกแสดงไว้ในคู่มืออย่างถี่ถ้วนและเข้าใจง่าย ในส่วนของสาย Ethernet ที่แถมมานั้นเป็นประเภท Cat 5e มีแบนด์วิธสูงสุดที่ 1Gbps

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก

ใส่ฮาร์ดดิสก์ 2 ตัว

มาถึงการติดตั้งซอฟต์แวร์กันบ้าง จุดนี้เป็นอีกขั้นที่ผู้ทดสอบประทับใจมาก เพราะ NAS ตัวนี้มีซอฟต์แวร์ติดมาด้วย ไม่จำเป็นต้องลงอะไรเพิ่มเติมทั้งสิ้น ผู้ใช้เพียงแค่ทำตามคู่มือด้วยการเปิดบราวเซอร์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจากเครื่องเทอร์มินอลที่เชื่อมต่อกับเราเตอร์ดังกล่าวเข้าไปที่ http://find.synology.com

ระบบจะดำเนินการค้นหาเครื่องโดยอัตโนมัติ เมื่อพบแล้วระบบจะค่อยๆ ให้ผู้ใช้ดำเนินการใส่ค่าพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นภาษา เวลา ไปจนถึงการลงทะเบียน Synology Account (อย่าลืมไป Activate ในอีเมล์ด้วย) ชื่อเซิร์ฟเวอร์ (QuickConnect ID) และ Account กับ Password

เมื่อตั้งค่าทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้วผู้ใช้เข้าสู่เซิร์ฟเวอร์ของตัวเองได้จากทุกแพล็ตฟอร์ม เช่น คอมพิวเตอร์พีซี สามารถเข้าผ่าน http://diskstation:5000 ได้ทันที ซึ่งในส่วนของ “diskstation” นั้นจะเป็นชื่อเซิร์ฟเวอร์สามารถตั้งได้ หรือจะเลือกจำเป็น LAN IP ไปเลยก็ได้เช่นกัน ส่วนการเข้าผ่านแท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟนนั้นเข้า ได้ผ่านแอพพลิเคชั่นฟรี เรียกว่า ซินโนโลยี ไดรฟ์ (Synology Drive)

การเข้าถึงทั้งสองแพล็ตฟอร์มผู้ใช้ต้องกรอก QuickConnect ID เพื่อระบุเซิร์ฟเวอร์ ตามด้วย Account เพื่อเป็นการระบุ User เนื่องจากกล่อง NAS นั้นมีระบบที่แบ่งแยกผู้ใช้ จึงตั้งค่าได้ว่าจะมีใครใช้บ้าง ตามด้วยรหัสผ่านหรือพาสเวิร์ด

จากการทดสอบพบว่าการเข้าถึงนั้นทำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่พบปัญหาขัดข้องแต่ประการใดทั้งสองแพล็ตฟอร์ม กรณีเดียวที่อาจพบได้คือการ Error จากการล็อกอินในช่วงที่กล่อง NAS เข้าสู่สถานะ Hibernation เพราะไม่มีการใช้งานเป็นเวลานาน แต่หากเข้าซ้ำๆ ก็จะเข้าได้เอง

ส่วนบ้านใครที่ไฟฟ้าตกบ่อย แนะนำให้หา UPS หรือเครื่องสำรองไฟเล็กๆ สักตัวไว้ให้กล่อง NAS ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลได้อีกขั้นหนึ่ง เพราะแม้ตัวเครื่องจะมีระบบป้องกันขั้นต้น แต่ไฟฟ้าตกและไฟดับนั้นไม่เคยเป็นเรื่องดีสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความละเอียดอ่อน

ลักษณะของระบบปฏิบัติการมีอินเตอร์เฟซการใช้งานที่ ออกแบบมาให้ดูโล่งสะอาดตา โดยเป็นรูปแบบคล้ายกับเดสก์ท็อปของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่เปิดผ่านเข้าทางบราวเซอร์ โดยฟีเจอร์เด่นๆ ได้แก่ การตั้งค่าการแชร์ข้อมูลต่างๆ สามารถทำได้อย่างละเอียด ขณะที่การอัพโหลดไฟล์นั้นง่ายดายเพียงลากมาปล่อย (drag and drop) ก็จะเริ่มอัพโหลดทันที

นอกจากนี้ ดีเอส 218+ ยังมีแอพพลิเคชั่นสำเร็จรูปที่มีฟีเจอร์หลากหลายทั้งของทางซินโนโลยีและ กลุ่มผู้พัฒนาที่ร่วมโครงการ ถือเป็นอีกจุดที่น่าสนใจ ผู้ใช้สามารถเลือกดาวน์โหลดได้ผ่าน Package Center ขณะที่ Control Panel นั้นเป็นแหล่งรวมการตั้งค่าที่ละเอียดมาก และ File Station เป็นส่วนที่ให้ผู้ใช้บริหารจัดการข้อมูล ลักษณะคล้ายคลึงกันกับ Windows Explorer ทำให้ง่ายต่อการใช้งานสำหรับบุคคลทั่วไป

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก

อินเตอร์เฟซ-ใช้ง่ายเหมือนวินโดวส์

ด้านความ บันเทิงไม่ว่าจะเป็นไฟล์เพลง หรือภาพยนตร์ ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะดาวน์โหลดลงมาได้ หรือเล่นทันทีผ่านระบบสตรีมมิ่งของตัวดีเอส 218+ โดยไฟล์เพลงนั้นรองรับ Codec หลากหลาย รวมไปถึง FLAC ซึ่งเป็นที่นิยมในบรรดานักฟังเพลงระดับ Lossless ทั้งหลาย

ขณะที่ภาพยนตร์นั้นรองรับหลากหลายเช่นกัน โดยจะเชื่อมต่อกับโปรแกรม VLC แนะนำ ให้ผู้ใช้อัพเดตโปรแกรม VLC เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด เพื่อความราบรื่นในการสตรีมมิ่ง ซึ่งจากการทดสอบพบว่ากล่องดีเอส 218+ นั้นสามารถสตรีมไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูงสุดได้ถึงระดับ 4K ที่อัตรา 30 เฟรมต่อวินาที น่าประทับใจมาก!

อย่างไรก็ตาม การทดสอบดังกล่าวนั้นใช้คอมพิวเตอร์พีซีที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 150 Mbps ผ่านสาย Ethernet แต่หากเป็นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่เชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi พบว่าจำเป็นต้องใช้คลื่นแบบ 5GHz เท่านั้น

เพราะคลื่นระดับ 2.4GHz อาจมีแบนด์วิธไม่เพียงพอ และหากอยู่บนสัญญาณ 4G พบว่าการสตรีมไฟล์ภาพยนตร์แบบ 4K นั้นมีอาการกระตุกค้างอย่างชัดเจน แนะนำว่าผู้ใช้ที่ต้องการสตรีมภาพยนตร์ผ่านสัญญาณ 4G ควรใช้ระดับความละเอียดที่ Full-HD และ HD จะดีกว่ามาก

‘คลาวด์’ ส่วนตัวสุดเวิร์ก

สตรีมหนัง 4K – ทูมเรเดอร์ (2018)

โดยสรุปแล้วกล่อง NAS ซินโนโลยี ดีเอส 218+ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทระบบเก็บข้อมูลบนเครือข่ายที่น่าประทับใจมาก ไม่ว่าจะเป็นขนาดกะทัดรัดไม่เทอะทะ ดีไซน์เท่ ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายไม่จุกจิกต้องเรียนรู้อะไรมากเกินความจำเป็น ทั้งตัวเครื่องยังมีระบบพัดลมทำความเย็นติดมา

เมื่อพิจารณารวมกับราคาที่ 10,990 บาท ถือว่าซินโนโลยี ดีเอส 218+ เป็น NAS ที่คุณภาพคุ้มราคามากที่สุดเท่าที่ผู้ทดสอบเคยลองใช้มา ใครที่ต้องการทดลองเรียนรู้ใช้งาน NAS แนะนำเป็นรุ่นนี้ได้เลย แม้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจไม่จัดอยู่ในสินค้าไอทีจำเป็นที่ทุกคนควรมีติดไว้ที่บ้าน

แต่หากได้ลองใช้แล้วอาจติดใจอยู่หมัดตัด กันไม่ขาด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน