ไขความรู้ เมื่อดวงอาทิตย์ไม่เป็นแผ่นกลม ยามอยู่ใกล้ขอบฟ้า

ดวงอาทิตย์ (รูปร่าง) พิสดาร

คอลัมน์ : Weather Wisdom โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดวงอาทิตย์ที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า ไม่ว่ายามเช้าหรือยามเย็น บางครั้งอาจดูแปลกตาไม่เป็นแผ่นกลม ทั้งนี้ภาพที่ปรากฏจะขึ้นกับลักษณะอุณหภูมิของอากาศเหนือผิวพื้นว่าเป็นเช่นไร ลองมาดูกรณีต่างๆ กันครับ

กรณีที่ 1 : อุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น

รูปแบบปกติคือยิ่งสูงยิ่งหนาวดังภาพที่ 1(a) โดยอุณหภูมิจะลดลงราว 6.5 องศาเซลเซียส ทุกๆ 1 กิโลเมตรที่สูงขึ้น การที่อากาศใกล้พื้นอุ่นกว่าอากาศที่อยู่สูงขึ้นไปมีสาเหตุเนื่องจากพื้นดิน (หรือพื้นน้ำ) คายความร้อนออกมาทำให้อากาศที่อยู่ติดพื้นรับความร้อนนี้ไปอีกทั้งใกล้พื้นมีความกดอากาศสูงกว่าบริเวณที่อยู่เหนือขึ้นไป

ภาพที่ 1(a) อุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากอากาศมีความหนาแน่นลดลงเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้นแสงอาทิตย์ถูกหักเหให้เดินทางเป็นเส้นโค้ง ผลก็คือ ดวงอาทิตย์จะดูเหมือนแบนลงในแนวดิ่ง (ราว 20% ในสภาวะเงื่อนไขปกติ) เรียกว่า flattened sun แปลตรงตัวว่า ดวงอาทิตย์ถูกกดให้แบน แต่ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า ดวงอาทิตย์แบน ก็แล้วกัน ดูภาพที่ 1(b) ครับ

ภาพที่ 1(b) ดวงอาทิตย์แบน
ที่มา > https://www.atoptics.co.uk/fz609.htm

ควรรู้ด้วยว่า ดวงอาทิตย์ที่ปรากฏจะอยู่สูงกว่าตำแหน่งจริงบนท้องฟ้า เช่น ขณะที่เราเห็นขอบล่างของดวงอาทิตย์กำลังแตะขอบฟ้าอยู่นั้น แท้จริงแล้ว ดวงอาทิตย์ได้ตกลับฟ้าไปแล้ว

ชวนไปชมคลิป Yellow orange flattened sun แสดงดวงอาทิตย์แบนลง

 

กรณีที่ 2 : อุณหภูมิผิวพื้นอุ่นผิดปกติ

หากพื้นดิน (หรือพื้นน้ำ) ถูกแดดจ้าแผดเผามาตลอดช่วงบ่ายถึงเย็น ก็จะทำให้อากาศที่อยู่ติดพื้นอุ่นผิดปกติ ดังภาพที่ 2(a) ผลก็คือ เกิดภาพที่เรียกว่า มิราจแบบอยู่ใต้วัตถุจริง (inferior mirage) ขึ้น กรณีนี้คล้ายกับที่เราเห็นภาพแอ่งน้ำบนพื้นถนนที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน โดยหากมีรถ (หรือวัตถุใดๆ) อยู่ตรงนั้น เราก็จะเห็นภาพสะท้อนของรถในแอ่งน้ำนั้นด้วยนั่นเอง

ภาพที่ 2(a) อุณหภูมิผิวพื้นอุ่นผิดปกติ

ในกรณีที่ดวงอาทิตย์ใกล้จะตก จะเกิดภาพมิราจโผล่ขึ้นมาจากขอบฟ้า และในที่สุดขอบล่างของดวงอาทิตย์ก็จะสัมผัสกับขอบบนของภาพมิราจ แล้วผนวกรวมกัน บริเวณที่ผนวกรวมกันนี้มีสีแดง จึงเรียกว่า วาบสีแดง (red flash)

ส่วนภาพดวงอาทิตย์โดยรวมมีรูปร่างคล้ายตัวอักษรกรีกโอเมก้าจึงเรียกว่า ดวงอาทิตย์ตกรูปโอเมก้า (Omega Sunset) ดังภาพที่ 2(b)

ภาพที่ 2(b) : ดวงอาทิตย์รูปโอเมกา
ยามเช้า 26 พฤศจิกายน 2558 เวลา 06:34 น.
หาดปึกเตียน เพชรบุรี
ภาพ : นรินทร์พัชร บุณโยทัย

ชวนไปชมคลิป Omega Sun and Etruscan Vase แสดงดวงอาทิตย์รูปโอเมกา ฝีมือ ดร.พิธาน สิงห์เสน่ห์ ได้ที่นี่ครับ

 

กรณีที่ 3 : อุณหภูมิผกผัน ความสูงบางระดับ

ทีนี้หากในบางช่วงเหนือพื้นผิวอุณหภูมิเกิดสูงขึ้น (แทนที่จะลดลง) เมื่อความสูงเพิ่มขึ้น ก็จะเรียกว่าเกิด การผกผันของอุณหภูมิ (temperature inversion) ดังภาพที่ 3(a) ปรากฏการณ์นี้อาจเกิดขึ้นจากกลไกบางอย่าง เช่น อากาศอุ่นเหนือพื้นดินไหลไปทับอยู่บนอากาศเย็นเหนือพื้นน้ำทะเล เป็นต้น

ภาพที่ 3(a) อุณหภูมิผกผัน ณ ความสูงบางระดับ

หากเราอยู่เหนือชั้นอากาศที่มีอุณหภูมิผกผันดังกล่าว ก็จะเห็นดวงอาทิตย์มีรูปร่างบิดเบี้ยว เรียกว่า ม็อค มิราจ (mock mirage) ดังภาพที่ 3(b)

ไขความรู้ เมื่อดวงอาทิตย์ไม่เป็นแผ่นกลม

ภาพที่ 3(b): ม็อคมิราจ
20 ธันวาคม 2560
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ภาพ: พรจันทร์ เอี่ยมนาน้อย

ชวนไปชมคลิป Rare and unusual (The Novaya Zemlya effect) sunset mirage with green flashes and whales spouts แสดง ม็อค มิราจ ได้ที่

เรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ยังมีอีกมาก เอาไว้จะหาจังหวะมานำเสนอในคอลัมน์นี้นะครับ :-D

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

แนะนำแหล่งข้อมูล
หากสนในน้ำแข็งในธรรมชาติอีกกว่า 20 แบบ ขอแนะนำหนังสือ Cloud Guide คู่มือเมฆและปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ ติดต่อ สนพ.สารคดี


โทร: 02-547-2700 ต่อ 111, 116
อีเมล: [email protected]
line id : 0815835040

…………………..

อ่าน Weather Wisdom ตอนก่อนหน้านี้ :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน