ราชภัฎวไลยอลงกรณ์ฯ คว้าแชมป์โลกการแข่งขัน “เวิลด์ โรบอต โอลิมปิเอด” ครั้งที่ 14 มหกรรมการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ระดับโลก ระหว่าง 10-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่กรุงซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกา

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.เวลา 13.30 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ อินทโชติ นำทีมคณะนักศึกษา ทีม VARAYA-ALONGKORN จากมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี ได้แก่ นายอวิรุทธ์ แท่นสูงเนิน, นายอภินันท์ ศรีโสภา และนายณัฐพงษ์ เชื้อจิ๋ว เดินทางกลับถึงเมืองไทยด้วยสายการบินคาเธย์ แปซิฟิค เที่ยวบินที่ CX615 เวลา 12.15 น. หลังสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกการแข่งขัน “เวิลด์ โรบอต โอลิมปิเอด” ครั้งที่ 14 พร้อมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

สำหรับการแข่งขันนี้มีประเทศเข้าร่วมทั้งหมด 60 ประเทศ ระยะเวลา 3 วัน เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ ในด้านการออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ ใช้หุ่นยนต์จาก บริษัทเลโก้มาทำการแข่งขันกันในระดับประเทศและนานาชาติ โดยการแข่งขันครั้งนี้ เป็นการแข่งขันในระดับประถมและมัธยมศึกษา อุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป

​กติกาการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ประจำปี 2560 (WRO : World Robot Olympiad 2017) ภายใต้หัวข้อ “Sustainabots : Robots for sustainability” (การพัฒนาอย่างยั่งยืน : หุ่นยนต์เพื่อความยั่งยืน)

​ประเภทของการแข่งขัน 4 ประเภท ได้แก่

​1. ประเภททั่วไป (Regular Category) รุ่นอายุไม่เกิน 12, 15, 19 ปี

​2. ประเภททั่วไป ระดับมหาวิทยาลัย (Advanced Robotics Challenge)

​3. ประเภทหุ่นยนต์เตะฟุตบอล (WRO Football)

​4. ประเภทความคิดสร้างสรรค์ (Open Category) รุ่นอายุไม่เกิน 12, 15, 19 ปี

ผลการแข่งขันปรากฏว่าทีม VARAYA-ALONGKORN จากมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี สามารถสร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์ในประเภททั่วไป รุ่นมหาวิทยาลัย มาครองได้สำเร็จ

ขณะที่ อ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลับราชภัฎวไลยอลงกรณ์ฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยดีใจเป็นอย่างยิ่งและขอแสดงความยินดีกับผลการแข่งขันในครั้งนี้ เนื่องจากในแต่ละปีนั้น ได้ส่งนักศึกษาของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ มาหลายครั้งแล้ว โดยจะมีทีมอาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและสามารถคว้ารางวัลมาได้หลายครั้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นแชมป์ระดับประเทศไทย 4 ปี ซ้อน ตั้งแต่ปี 2557-2560

“ปีนี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติอีกครั้ง และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมาได้เป็นความภาคภูมิใจต่อสถาบันและประเทศไทย มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนด้านการเรียน การสอน การค้นคว้าและวิจัย ให้บุคลากรและนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่แท้จริงจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย”

ขณะเดียวกัน ไทยยังได้รางวัลอันดับ 4 ประเภทหุ่นยนต์เตะฟุตบอล โดยทีม YB-BETA จากโรงเรียนโยธินบูรณะ (บุณย์ หาวารี, จิรภัทร จิรบวรพงศา, พัฒน์ งามเดชากิจ และนายปรัชย์ ใจกว้าง(ผู้ควบคุมทีม)

สำหรับการแข่งขัน “เวิลด์ โรบอต โอลิมปิเอด” จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2004 โดยองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างโอกาสการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ของนักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจ ผ่านกิจกรรมการแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์ปฏิบัติการซึ่งโจทย์การแข่งขันจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี รวมทั้งอายุของผู้แข่งขันที่ถูกกำหนดในแต่ละรุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน