คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

รุ่นใหม่ รุ่นเก่า – อายุเสมอเป็นเพียง “ตัวเลข” มิได้บ่งบอก รุ่นใหม่ หรือรุ่นเก่าเสมอไป

ขอให้ดูจาก พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ซึ่งมีอายุ 59 กับ นางออง ซาน ซู จี ซึ่งมีอายุเหยียบไปที่ หลักเลข 7 ตอนปลายใกล้จะเหยียบไปยังหลัก เลข 8 ตอนต้น

ถามว่าใคร “รุ่นใหม่” ถามว่าใคร “รุ่นเก่า”

พลันที่ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ตัดสินใจใช้ “รัฐประหาร” มาเป็นเครื่องมือ ขณะที่ นางออง ซาน ซู จี ยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย ให้คะแนนจากประชาชนเป็นตัวตัดสิน

ก็รู้แล้วว่าใคร “รุ่นเก่า” ใคร “รุ่นใหม่”

ถามว่าระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นายทักษิณ ชินวัตร ใคร “ใหม่” กว่ากัน

ตามความเคยชินเมื่อมองผ่านใบหน้าและอายุก็ต้องตอบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อ่อนเยาว์กว่า นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังจะเหยียบหลักเลข 7 แน่นอน

แต่หากมองจาก “บทบาท” ในทาง “ความคิด”

เพียงเห็นความตื่นตัวในการขานรับ “เทคโนโลยี” ใหม่ และวิธีวิทยาใหม่ๆ ในทางการเมืองเมื่อแสดงความเห็นใครก็รู้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร ใหม่กว่า

แทบจะมายืนข้างๆ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยซ้ำ

อย่าได้แปลกใจที่อะไรที่ นายทักษิณ ชินวัตร เข้าไปแตะจะมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะทดลองเข้าไปทำงานผ่านพรรคพลังธรรม ไม่ว่าจะเมื่อตัดสินใจก่อรูปพรรคไทยรักไทยขึ้นพร้อมกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541

สโลแกนที่ว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” ก็มาจากพรรคไทยรักไทย มิใช่หรือ

และภายหลังจากให้สัมภาษณ์ยาวเหยียดในช่วงส่งท้ายปีเก่า 2563 กับ สวัสดีปีใหม่ 2564 ก็ชี้เบาะแสว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทย

เปิดพื้นที่ให้กับ “คนรุ่นใหม่” มากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แท้จริงแล้ว อายุเสมอเป็นเพียงตัวเลข บ่งบอกถึงประสบการณ์และบทเรียนในทางการเมือง ในทางสังคม ที่มีมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านบวกและด้านลบ

แต่ที่สำคัญก็ยังเป็น “รุ่นใหม่” ที่พร้อมรับกับ “การเปลี่ยนแปลง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน