คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อารมณ์ การเมือง – ความหงุดหงิดจากรัฐประหารในพม่า ความหงุดหงิดจากการต่อต้านรัฐประหารในพม่า

ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมพม่า ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเนปิดอว์ ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงย่างกุ้ง ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองพุกาม ไม่ว่าจะเป็นที่เมือง มัณฑะเลย์ หากในเมือง “ไทย” ก็สัมผัสได้ใน “ความหงุดหงิด”

เป็นความหงุดหงิดที่ไม่เพียงแต่จะยืนอยู่ตรงกันข้ามกับ “รัฐประหาร” หากแต่ยังเป็นความหงุดหงิดที่ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับ “รัฐประหาร”

นั่นก็คือ ทั้งที่เป็น “กองแช่ง” และที่เป็น “กองเชียร์”

ในฐานะที่วางตัว “เป็นกลาง” เราจะสังเกต “ปฏิกิริยา” หงุดหงิดได้อย่างไร

เรื่องนี้ไม่ยุ่งยาก หากแต่ตรงไปตรงมา ต่อข่าว ที่มีความไม่พอใจต่อรัฐประหารและออกโรงมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ “อารยะขัดขืน” จนลงไปอยู่บน “ท้องถนน”

การขานรับ การปฏิเสธมี “ปฏิกิริยา” แตกต่างกัน

หากเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ “รัฐประหาร” ก็ชโยโห่ร้อง มีความคึกคัก หากเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก็จะหงุดหงิด ไม่พอใจ

เป็นอย่างนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กระทั่งวันที่ 8 กุมภาพันธ์

อาการของ “กองแช่ง” อาการของ “กองเชียร์” จึงสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา

สำหรับ “กองเชียร์” เมื่อได้ข่าวว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ชอบ นางออง ซาน ซู จี ก็ดีใจรีบประโคมออกไป เมื่อได้ยินเสียงปืนดังขึ้นที่เมียวดีก็มีความคึกคักโดยอัตโนมัติ

ต่อข่าวเดียวกันนี้ สำหรับ “กองแช่ง” จะหงุดหงิด

ขณะเดียวกัน หากยิ่งวันยิ่งมีข่าวว่ากลุ่มชาติพันธุ์ออกมาต้านรัฐประหาร บรรดา “กองแช่ง” ก็ร้องเฮ บรรดา “กองเชียร์” ก็หงุดหงิด อุทาน “มันเป็นไปได้ยังไง” ออกมา

เชื่อได้เลยว่า ทั้งที่ “พม่า” และใน “ไทย” ก็เป็นเช่นนี้

คําถามก็คือ ทำไม “รัฐประหาร” ในพม่าจึงมีผลสะเทือนมายังการเมืองไทยได้ระดับนี้

มีอย่างแน่นอน เพราะกระบวนการของ พล.อ. อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในเมืองไทยก็เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

อารมณ์ “ร่วม” จากพม่า จะแพร่กระจายมายัง “ไทย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน