ศบค.ถกนั่งดื่มผับ-บาร์
ลงทะเบียนเรารักกันคึก

รมว.แรงงานเผยลงทะเบียน ม33 เรารักกัน สำหรับผู้ประกันตนตาม ม.33 วันแรกฉลุย ประกันสังคมจัดเจ้าหน้าที่และจะทยอยส่งจนครบ 2 ล้านโดสตามที่สั่งซื้อ ด้านอ่างทองวุ่น ร.พ.ไชโย ประกาศปิดแผนกผู้ป่วยใน ตั้งแต่ 20-28 ก.พ. หลังเจอคนไข้ปิดบังข้อมูล สั่งกักตัว 16 เจ้าหน้าที่ ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ป่วยใหม่ 92 ราย เกินครึ่งมาจากสมุทรสาคร ส่วนปทุมฯ เจอเพิ่มอีก 17 ราย พยาบาลร.พ.บางละมุง-นักเรียนชายชาวขอนแก่นอายุ 10 ขวบ ติดเชื้อด้วย ส่วนนครปฐมปิดโรงงานพาฝัน เท็กซ์ไทล์ ด้านร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากรฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ประกาศให้เรียนออนไลน์แทน ผลสำรวจความเห็นบุคลากรทางการแพทย์พบร้อยละ 55 ยินดีรับวัคซีน แต่ 1 ใน 3 ไม่แน่ใจโดยเฉพาะแพทย์-พยาบาล ด้านรมว.แรงงานเผยลงทะเบียน ม33 เรารักกัน สำหรับผู้ประกันตนตาม ม.33 วันแรกฉลุย ประกันสังคมจัดเจ้าหน้าที่ตอบคำถามทางสายด่วน มั่นใจระบบฐานข้อมูลไม่มีตกหล่น

แถลงพบผู้ติดเชื้อใหม่ 92 คน

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โรค โควิด-19 ประจำวัน ผ่านเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 111.64 ล้านราย เป็นรายใหม่ 3.72 แสนราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 8,446 ราย สะสม 2.47 ล้านราย ประเทศไทยขยับขึ้นอันดับ 113 ของโลก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 92 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 86 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย หายป่วย 156 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ส่งผลให้มีผู้ป่วยรวมสะสม 25,415 ราย รักษาหายแล้ว 24,285 ราย เหลือรักษาอยู่ 1,047 ราย เสียชีวิตสะสม 83 ราย ส่วนระลอกใหม่ผู้ติดเชื้อสะสม 21,178 ราย หายสะสม 20,108 ราย เสียชีวิตสะสม 23 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่มาจาก 1.สมุทรสาคร 60 ราย คิดเป็น 69.77% สะสม 15,920 ราย คิดเป็น 78.59% 2.กทม. 3 ราย คิดเป็น 3.49% สะสม 950 ราย คิดเป็น 4.69% และ 3.จังหวัดอื่นๆ 23 ราย คิดเป็น 26.74% สะสม 3,386 ราย คิดเป็น 16.72%

เมื่อแยกตามประเภทผู้ป่วยพบว่า 1.มาจากระบบเฝ้าระวัง 48 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 33 ราย กทม. 3 ราย ปทุมธานี 7 ราย ชลบุรี 1 ราย ขอนแก่น 1 ราย และอ่างทอง 3 ราย 2.คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 38 ราย ได้แก่ ปทุมธานี 10 ราย สมุทรสาคร 27 ราย และอ่างทอง 1 ราย และ 3.ต่างประเทศ 6 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล เอธิโอเปีย คูเวต และโอมาน ประเทศละ 1 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อ จ.ชลบุรี เป็นหญิงไทยอายุ 25 ปี อาชีพพยาบาล ติดเชื้อมีอาการเข้ารักษาโรงพยาบาล (ร.พ.) บางละมุง ส่วน จ.ขอนแก่นเป็นนักเรียนชายไทยอายุ 10 ขวบติดเชื้อ เข้ารักษาร.พ.ชุมแพ ภาพรวมวันแรกของสัปดาห์นี้มีการติดเชื้อ 6 จังหวัด

สกัดโควิด – พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ประชุมวางแผนสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจหลบหนีปัญหาการเมืองภายในเข้าไทยทางชายแดนภาคเหนือ ที่ศปก.ตม.จว.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 21 ก.พ.

ม็อบเมียนมาทำด่านชายแดนวุ่น

วันเดียวกัน พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย รองผบก.สส.สตม. พ.ต.อ.หฤษฎ เอกอุรุ รองผบก.ตม.3 พ.ต.อ.มานะ นาคทั่ง รองผบก.ตม.5 พร้อมคณะลงพื้นที่ด่านชายแดนภาคเหนือ เพื่อวางแผนสกัดการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ที่พบระบาดอย่างหนักในประเทศเมียนมา และยังมีปัญหาการเมืองภายในอีกด้วย จนเกรงว่าจะมีชาวเมียนมาทะลักข้ามมาฝั่งไทย เพื่อหลบหนีการปราบปราม โดยคณะ ผบช.สตม.ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน ตั้งแต่พื้นที่ของ จ.เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน และลำพูน

ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. การค้าขายแดนด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย การนำเข้าและส่งออกบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ที่เชื่อมกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ต้องหยุดชะงักชั่วคราว ทำให้รถขนส่งสินค้าจากฝั่งไทยไม่สามารถข้ามไปยังประเทศเมียนมาได้ เนื่องจากมีมวลชนชาว เมียนมาออกมาชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร และพากันไปชุมนุมที่บริเวณด่านพรมแดน โดยมีผู้นำแผงเหล็กไปกั้นที่บริเวณด่านฝั่งท่าขี้เหล็ก จนไม่สามารถทำพิธีการทางศุลกากรได้โดยสะดวก ทำให้ต้องปิดถนนโดยปริยาย

ผบช.สตม.รุดตรวจชายแดน

พล.ต.ท.สมพงษ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. เกิดการประท้วงหนักในเมียนมาเนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศ ต่อมาฝ่ายสืบสวนและความมั่นคงของสตม. สืบพบว่าอาจมีการรวมกลุ่มกันของแรงงานพม่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงรายและเชียงใหม่นั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. จึงสั่งการให้มากำชับการปฏิบัติงานเนื่องจากเกรงว่าจะมีการรวมตัวกันประท้วงในพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงสั่งการให้ฝ่ายสืบสวนของบก.สส.สตม. จัดกำลังออกหาข่าวและพูดคุยกับแรงงานต่างด้าวที่คาดว่าเป็นแกนนำ เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงข้อกฎหมายไทยแล้ว หากรวมตัวกันเพื่อประท้วง ทางเจ้าหน้าที่ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด

พล.ต.ท.สมพงษ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตนยังให้ประสานงานกับหน่วยทหารตามแนวชายแดนที่ป้องกันช่องทางธรรมชาติบริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาของชาวเมียนมา เพราะหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงใน จ.ท่าขี้เหล็ก อาจมีมวลชนหลบหนีเข้ามาในไทยก็เป็นได้ อีกทั้งจากการข่าวพบว่ายังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ต้องการหลบหนีเข้ามาในประเทศด้วย หลังจากที่ทางการได้ปิดการยกเว้นการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวไปแล้ว จึงต้องเข้มงวดในส่วนนี้ด้วย

ฆ่าเชื้อ – จนท.พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อห้องเรียน ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม หลังสิ่งปิดเรียนทุกระดับชั้น และให้จัดการเรียนการสอนออนไลน์ เนื่องจากพบจนท.การเงินระดับชั้นมัธยมติดเชื้อป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.

ร.ร.สาธิตม.ศิลปากรพ่นฆ่าเชื้อ

ส่วนความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ ร.ร. สาธิตมัธยมศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหา วิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม ติดเชื้อโควิด-19 ทางมหาวิทยาลัยและคณะศึกษาศาสตร์ได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์และดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยที่วางไว้ทุกประการ ขณะที่อาคารของ ร.ร.สาธิตมัธยม ศึกษาแยกจากส่วนอื่นของวิทยาเขต ดังนั้นการคัดกรองนักศึกษา คณาจารย์ พนักงาน ข้าราชการ ตลอดจนผู้ที่จะเข้ามาทำงานในพระราชวังสนามจันทร์ยังคงเดิม เพื่อจะได้เตรียมพร้อมทำการเรียนการสอนบางส่วนที่จำเป็นได้ในวันที่ 1 มี.ค.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากประกาศของคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. ถึงผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ของเจ้าหน้าที่การเงิน ร.ร.สาธิตในระดับชั้นมัธยม พบว่าเจ้าหน้าที่และสามีติดเชื้อ โควิค-19 จากญาติที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน

ทั้งนี้ได้ประสานผู้อำนวยการสาธิตมัธยมให้ปิดทำการในสถานศึกษาสถานที่ตั้ง และให้ผู้สอนจัดการเรียนการสอนออนไลน์ 100% ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 ก.พ.เป็นต้นไป และให้บุคลากรของ ร.ร.ปฏิบัติงานที่บ้าน คาดว่าจะเปิดในวันที่ 8 มี.ค.

ส่วน ร.ร.สาธิตปฐมวัยและประถมศึกษา จะปิดทำงานในสถานที่ตั้ง และจัดการเรียนการสอนออนไลน์ 100% ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.เป็นต้นไป และให้บุคลากรปฏิบัติงานที่บ้าน ส่วนกำหนดการเปิด จะติดประกาศจากทาง ร.ร.อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับบุคลากรสังกัดสำนักงานคณบดี ปิดทำงานในสถานที่ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 ก.พ.เป็นต้นไป และเริ่มปฏิบัติงานปกติวันที่ 1 มี.ค. ยกเว้นบุคลากรกรณีที่ทางภาครัฐและสำนักงานคณบดี ขอให้มาปฏิบัติงานตามความจำเป็น โดยสำนักงานคณบดีและ ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากรทุกระดับชั้นปฐมวัย มัธยมศึกษา ได้ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.พ.

นครปฐมปิดบ.พาฝันเท็กซ์ไทล์

ด้านนายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาการแทนผู้ว่าราชการ จ.นครปฐม ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จ.นครปฐม ออกประกาศคำสั่ง จ.นครปฐมที่ 550/2564 ลงวันที่ 19 ก.พ. เรื่องสั่งปิดสถานที่ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่า ผู้ว่าราชการ จ.นครปฐม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.นครปฐม ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 14/2464 เมื่อวันที่ 19 ก.พ. จึงมีคำสั่งให้ปิดโรงงานของบริษัทพาฝัน เท็กซ์ไทล์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.สัมปทวน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม อันเป็นสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของติดเชื้อโควิด-19 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. – 3 มี.ค.

สั่งกักตัว 16 เจ้าหน้าที่ร.พ.ไชโย

ที่ จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงาน ร.พ.ไชโยได้ออกประกาศว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้มีเจ้าหน้าที่ของ ร.พ.ไชโยที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 มีโอกาสสัมผัสเชื้อ จึงต้องเข้ารับการกักตัว 14 วัน มีจำนวนถึง 16 คน ทำให้อัตรากำลังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องปิดแผนกผู้ป่วยใน ในวันที่ 20-28 ก.พ. และนำผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในแผนกผู้ป่วยในส่งต่อไปที่ ร.พ.ใกล้เคียงคือ ร.พ.โพธิ์ทอง ปัจจุบัน ร.พ.ไชโย ยังเปิดให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยนอก กรณีที่มีความจำเป็น นอนรักษาตัวที่ ร.พ.จะส่งตัวต่อไปยัง ร.พ.อ่างทอง หรือ ร.พ.โพธิ์ทองตามความรุนแรงของโรคต่อไป

ส่วนทางด้าน ร.พ.อ่างทอง เมื่อคืนวันที่ 19 ก.พ. ได้เรียกผู้บริหารประชุมด่วน หลังพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในหอพักผู้ป่วยในแผนก 1 ราย เนื่องจากเข้ามารับการรักษาแล้วปิดบังประวัติ จึงต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกันกลางดึก และสั่งให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องไปตรวจหาเชื้ออย่างเร่งด่วนกว่า 100 ราย ทราบผลว่ายังไม่มีผู้ใดติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจหาเชื้ออย่างละเอียดต่อไป

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกสองของ จ.อ่างทอง พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่มอีก 6 ราย ที่ อ.เมือง 3 รายคือ หมู่ที่ 6 ต.โพสะ 1 ราย หมู่ที่ 7 อ.ป่างิ้ว 2 ราย หมู่ที่ 7 ต.องครักษ์ อ.โพธิ์ทอง 1 ราย หมู่ที่ 3 ต.สี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ 1 ราย หมู่ที่ 2 ต.ชะไว อ.ไชโย 1 ราย รวมมี ผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 127 ราย

แจงเหตุพยาบาลร.พ.บางละมุงป่วย

นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ชลบุรี กล่าวถึงกรณีพยาบาล ร.พ.บางละมุงติดโควิด-19 ว่า ร.พ.บางละมุงเป็นร.พ.ที่รับส่งต่อผู้ติดเชื้อจากสถานที่กักกัน การทำงานจึงมีความเสี่ยงมากที่จะเกิดการติดเชื้อได้ โดยรายนี้นับเป็นรายแรกของทางจังหวัดที่ติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ส่งมาจากสถานที่กักตัว ไม่ได้ติดเชื้อจากการไปปฏิบัติงานในสถานที่กักตัวแต่อย่างใด โดยผู้ป่วยมีอาการไอ ตรวจเชื้อเมื่อเช้าวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา

จากการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 11 ราย ตรวจหาเชื้อแล้วไม่พบติดเชื้อ ส่งไปกักตัวที่โลคัลควอรันทีน และสับเปลี่ยนบุคลากรจากแผนกอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมี 5 ราย ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างตรวจและรอผลอีก 3 ราย พร้อมกับการสอบสวนโรคเพิ่มเติมว่ามีช่องโหว่ตรงไหนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น

“เบื้องต้นพยาบาลท่านนี้เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี มักมีการดูแล พูดคุยกับผู้ป่วยบ่อย ดังนั้นในส่วนนี้ต้องกำชับผู้ปฏิบัติงานกรณีที่ดูแล ผู้ป่วยโควิดขอให้เข้าไปพูด และสื่อสารกับ ผู้ป่วยเท่าที่จำเป็น” นพ.อภิรัตกล่าว

เมื่อถามถึงการจัดสรรบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยโควิดและผู้ป่วยทั่วไป นพ.อภิรัตกล่าวว่า ร.พ.ได้แบ่งบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยทั่วไปอย่างชัดเจน ขอประชาชนอย่ากังวล แต่เพื่อสร้างความมั่นใจ ร.พ.จะตรวจหาเชื้อในบุคลากรและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของทาง ร.พ.เพิ่มเติม

ผลสำรวจอสม.ส่วนใหญ่รับวัคซีน

วันเดียวกันโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Hitap) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดผลสำรวจความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อการรับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-16 ก.พ. จำนวน 55,068 ราย ส่วนใหญ่เป็นพยาบาล ร้อยละ 33.40 อสม. ร้อยละ 16.38 โดยในเรื่องการตัดสินใจรับวัคซีนโควิด-19 ในกรณีที่ไม่มีทางเลือก พบว่า ร้อยละ 55 ยินดีรับวัคซีนโควิด ร้อยละ 35 ไม่แน่ใจในการรับหรือไม่รับวัคซีนโควิด และร้อยละ 10 ไม่ยินดีรับวัคซีนโควิด โดย อสม.ยินดีรับวัคซีนโควิดมากที่สุดถึงร้อยละ 71 และพยาบาลยินดีรับวัคซีนโควิดน้อยที่สุดร้อยละ 47

เมื่อแบ่งตามภูมิภาคปฏิบัติงาน พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยินดีรับวัคซีนโควิดมากที่สุดถึงร้อยละ 62 รองลงมาคือภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และน้อยที่สุดคือ กทม. ยินดีรับวัคซีนร้อยละ 46 เมื่อจำแนกตามเขตพื้นที่ควบคุมโรคสูงสุดคือสมุทรสาคร และพื้นที่ควบคุม กรุงเทพฯ ปทุมธานี และสมุทร ปราการ โดยพื้นที่กลุ่มนี้ยินดีรับวัคซีนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

เมื่อถามว่าหากมีทางเลือกในการรับวัคซีนโควิดจะมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 55 ยินดีรับวัคซีนโควิด โดยวัคซีนที่ต้องการคือ อันดับที่ 1 คือ AstraZeneca อันดับที่ 2 Sinovac อันดับที่ 3 Pfizer-BioNTech อันดับที่ 4 Moderna และ Johnson and Jhonson และอันดับที่ 5 Gamaleya ส่วนอีกร้อยละ 35 ไม่แน่ใจในการรับหรือไม่รับวัคซีนโควิด

แต่บุคลากรด้านแพทย์ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาภาพรวม พบว่า การมีทางเลือกจะส่งผลให้กลุ่มที่ไม่ยินดีรับวัคซีนหรือไม่แน่ใจ เข้ารับวัคซีนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 37 ซึ่งทางเลือกด้วยการมีคนจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนก่อนหน้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มีความยินดีรับวัคซีนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากที่สุด

ทั้งนี้ จากผลสำรวจดังกล่าว Hitap ได้สรุปข้อค้นพบสำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มากกว่าครึ่งเล็กน้อย หรือร้อยละ 55 ยินดีรับวัคซีนโควิด-19 ในทุกทางเลือก ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 ยังไม่แน่ใจว่าจะรับวัคซีนหรือไม่ บุคลากรทางการแพทย์ เพศหญิงและผู้ที่มีอายุน้อย หรืออาชีพพยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์และแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มไม่รับวัคซีนโควิด-19 หรือยังไม่แน่ใจ ในสัดส่วนสูงที่สุด การมีทางเลือกรับวัคซีนโควิด-19 ที่ตนเองต้องการและการทราบว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหน้าแล้ว ไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาจทำให้อัตราการยอมรับวัคซีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 90

การรับวัคซีนของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ มีผลต่อการให้คำแนะนำให้บุคคลกลุ่มอื่นๆ รับหรือไม่รับวัคซีน จึงควรให้ความสำคัญกับการยอมรับวัคซีนในกลุ่มนี้ เพราะมีผลสำคัญต่อความสำเร็จของนโยบายการให้วัคซีนโควิดประเทศไทย Hitap มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้เร่งประชาสัมพันธ์ในเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย โดยเฉพาะจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดไปแล้วทั่วโลกของวัคซีนชนิดที่กำลังจะนำมาใช้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มทางเลือกชนิดของวัคซีนโควิดที่จะให้และรอบในการให้วัคซีนในกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจรับวัคซีนรอบแรกๆ โดยเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์ในร.พ. และมีระบบติดตามและสื่อสารจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว และปลอดภัยให้กลุ่มบุคลากรทราบเป็นระยะๆ ซึ่งจะเพิ่มการยอมรับมากขึ้น

วัคซีนมาแล้ว – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข โพสต์ภาพวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก 2 แสนโดส ที่บริษัทซิโนแวค ประเทศจีน เตรียมจัดส่งให้ถึงประเทศไทย ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ตามกำหนด

หนูโพสต์วัคซีนถึงไทย24ก.พ.

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข โพสต์ภาพวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ประเทศจีน ที่จะส่งถึงประเทศไทยล็อตแรก 2 แสนโดส วันที่ 24 ก.พ.นี้ ผ่านเฟซบุ๊กอนุทิน ชาญวีรกูล โดยระบุว่า

“ผู้ผลิตวัคซีน sinovac ส่งภาพนี้มาให้ผม เพื่อยืนยันว่าวัคซีนโควิด ล็อตแรกสำหรับประเทศไทย พร้อมจะเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นี้ ตามที่ผมได้แจ้งต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจะส่งมาอย่างต่อเนื่องจนครบ 2 ล้านโดส ตามที่องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อไป ภายในเดือนเมษายน #คนไทยต้องปลอดภัย”

ขณะที่เฟซบุ๊ก Anutin Charnvirakul โพสต์ภาพวัคซีนโควิดเพิ่มเติม โดยระบุว่า Hello Sinovac Vaccines. Have a safe flight. See you on Wednesday!!!!! วัคซีนมาเดือนกุมภาตามเวลานะ ขอให้เดินทางมาถึงไทยโดยสวัสดิภาพ

ศบค.ชุดใหญ่ถกปรับลดโซนสี

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ ในวันที่ 22 ก.พ. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม เป็นประธาน จะพิจารณาปรับลดพื้นที่โซนสีควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากการแพร่ระบาดอยู่ในระดับที่ดีขึ้น จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข และยังคลายล็อกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย ยกเว้นจ.สมุทรสาคร ที่ยังเป็นพื้นที่สีแดงเข้มตามเดิม

นอกจากนั้น จะเสนอขยายเวลาประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 30 วัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่ยังแพร่ระบาดทั้งนอกประเทศและในประเทศ ที่การผ่านเข้าออกราชอาณาจักร ยังจำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้คนที่เดินทางเข้าประเทศ จะผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว แต่สามารถเป็นพาหะนำโรคมาแพร่ระบาดได้อยู่ตราบใดที่คนไทยยังฉีดวัคซีน ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ถือว่าการเข้ามาของชาวต่างชาติ ยังต้องควบคุมอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และ นายกฯ สั่งการให้นำแผนการกระจายวัคซีนมาหารือในที่ประชุมศบค.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เย็นวันเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “วันพรุ่งนี้ จะมีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่จะมีการพิจารณาคือ การผ่อนคลายมาตรการอนุญาตให้นั่งดื่มในร้านอาหาร และการเปิดสถานบันเทิง ประเด็นนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาอย่างรอบคอบให้ดีที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก ร้านอาหาร และผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก”

เรารักกัน – นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ติดตามผลการลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ‘ม33เรารักกัน’ จากผลกระทบโควิด-19 ที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 21 ก.พ.

แห่ลงทะเบียนเรารักกันคึก

วันเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ภายหลังลงพื้นที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ม33เรารักกัน ซึ่งเริ่มวันนี้เป็นวันแรก ว่า ภาพรวมการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com วันแรก ตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึงเวลา 12.00 น. มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ใช้สิทธิลงทะเบียนแล้วกว่า 5.6 ล้านคน โดยผู้มีสิทธิ์จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ก่อนวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา สำหรับการอำนวยความสะดวก ขณะนี้ สปส.จัดเจ้าหน้าที่บริการข้อมูลทางโทรศัพท์กรณีผู้ประกันตนที่มีปัญหาติดขัดในการลงทะเบียนหรือจะสอบ ถามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ม33เรารักกัน ผ่านสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม

“โครงการ ม33เรารักกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท ข้อดีของโครงการ เนื่องจาก สปส.มีระบบฐานข้อมูลความเป็นผู้ประกันตนของนายจ้างและลูกจ้างในระบบ เชื่อมั่นว่ากรณีข้อมูลตกหล่นจะไม่เกิดขึ้น” นายสุชาติกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบ คือ มีสัญชาติไทย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท วันที่ 31 ธ.ค. 2563 รีบลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ เวลา 06.00 – 23.00 น. ไปจนถึงวันที่ 7 มี.ค. ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และตรวจสอบการได้รับสิทธิ์ จากนั้นธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งประมวลผลคัดกรอง วันที่ 8-14 มี.ค. 2564 ตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” วันที่ 15-21 มี.ค. ได้วงเงินผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ครั้งละ 1,000 บาท รวมทั้งสิ้น 4,000 บาท ในวันที่ 22 มี.ค. 29 มี.ค. 5 เม.ย. และ 12 เม.ย. เริ่มใช้จ่ายเงินสำหรับการซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายในโครงการเราชนะได้ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. – 31 พ.ค.

ส่วนการขอทบทวนสิทธิ วันที่ 15-28 มี.ค. ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ จะสามารถขอทบทวนสิทธิผ่าน www.ม33เรารักกัน.com วันที่ 29 มี.ค.- 4 เม.ย. ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งประมวลผลคัดกรอง วันที่ 5-11 เม.ย. ตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง วันที่ 12 และ 19 เม.ย. ได้วงเงินผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ครั้งละ 2,000 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน