ทช.ลุยสอบด่วน
พันไร่เกาะทะลุ

ทช.ลุยสอบวันนี้ ปะการังเกาะทะลุ ประจวบฯ พังเป็นแถบกว่าพันไร่แจงสัญญาโครงการจ้างเอกชนปลูก-ฟื้นฟูเกาะหมดปีนี้ แต่ไม่มีสิทธิ์ตัดหรือหักปะการัง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรใต้น้ำบางสะพานน้อยเจ้าของโพสต์ภาพความเสียหาย จี้เร่งสอบ คาดปะการังเขากวางถูกตัดไปกว่า 4 หมื่นกิ่ง ทั้งหน้าอ่าวขาม อ่าวกรวด และอ่าวใหญ่ แหล่งดำน้ำสำคัญเกาะทะลุ สภาพถูกหักยอดยาว 10-15 ซ.ม. ชาวบ้านระดมทุนปลูกขยายพันธุ์มาตั้งแต่ปี 58

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความ คืบหน้ากรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ประจักษ์ ทองรัตน์ โพสต์ข้อความพร้อมรูปและคลิป เผยให้เห็นความเสียหายของปะการังเขากวางจำนวนมากที่ถูกหักกิ่ง หรือถูกตัดยอดไปจากใต้ทะเล เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจให้กับนักอนุรักษ์ใต้ทะเลและชาวบ้านมาก

นายประจักษ์ ทองรัตน์ เจ้าของเฟซบุ๊กที่เผยแพร่ภาพและคลิปปะการังถูกหัก และเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรใต้น้ำ ชุมชนบ้านปากคลอง อ.บางสะพานน้อย กล่าวว่า ประเมินคร่าวๆ คาดว่าปะการังเขากวางที่ถูกหักกิ่งไปน่าจะเสียหายมากกว่า 4 หมื่นกิ่ง โดยจุดที่พบอยู่หน้าอ่าวขาม อ่าวกรวด และอ่าวใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำที่สำคัญของเกาะทะลุ

“ผ่านมาผมและชาวบ้านพร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรใต้น้ำ ชุมชนบ้านปากคลอง ได้ดำน้ำเพื่อสำรวจปะการังที่ได้ปลูกขยายพันธุ์ไว้เมื่อปี 2558 โดยระดมเงินจากกลุ่มชาวบ้านด้วยกันเองเพื่ออนุรักษ์แนวปะการัง แต่พบถูกหักยอดหรือหักกิ่งออกไป ความยาว 10-15 ซ.ม. เบื้องต้นคาดว่าพื้นที่เสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ไร่” นายประจักษ์กล่าว

นายประจักษ์กล่าวต่อว่า เบื้องต้นพบว่าในบริเวณดังกล่าว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนจากจ.ชุมพรเข้ามาปลูกปะการังเกาะทะลุเพื่อซ่อมแซมเพิ่มเติมในพื้นที่ 25 ไร่ โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2564 จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

ด้านนางสุมณา ขจรวัฒนากุล ผอ.สถาบัน วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทช. กล่าวว่า อธิบดี ทช.ได้ให้ความสนใจกรณีดังกล่าว และสั่งการให้ติดตามตรวจสอบความเสียหายบริเวณแปลงปะการังว่าเกิดจากสาเหตุใด พิกัดที่แน่ชัด ซึ่งจุดดังกล่าวตามภาพที่ปรากฏน่าจะอยู่ในพื้นที่ เมื่อหันหน้าจากฝั่งเข้าหาเกาะทะลุจะเป็นด้านขวามือของเกาะ ก่อนถึงปลายหางเกาะทะลุ และจากการสอบถามไปยังบริษัทที่ดำเนินการยืนยันว่าไม่มีการตัดหรือหักปะการังจากแปลงดังกล่าว

“สถาบันวิจัยฯ จะจัดส่งนักวิชาการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งจึงจะทราบว่าบริษัทที่ว่าจ้างมีวิธีการดำเนินการอย่างไร และปะการังที่เสียหายเกิดจากสาเหตุใด” นางสุมณากล่าว

นายโสภณ ทองดี อธิบดีทช. กล่าวว่า ได้รับรายงานเรื่องนี้แล้ว โดยตนได้สั่งการให้นางสุมนา ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามตรวจสอบ และหาข้อมูลรายละเอียดความเสียหายของบริเวณแปลงปะการังตามภาพที่ปรากฏว่าเกิดจากสาเหตุใด เบื้องต้นทางบริษัทที่ทช.ว่าจ้างได้ชี้แจงกับตนว่า ไม่มีการหักยอดปะการังอย่างแน่นอน ซึ่งในวันที่ 4 มี.ค. ทางทช.จะลงพื้นที่ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมสำรวจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร

“ทช.ได้ว่าจ้างบริษัทปลูกเสริมปะการัง ในพื้นที่เกาะทะลุ พื้นที่ 25 ไร่ โครงการจะแล้วเสร็จในปี 2564 โดยตามสัญญาทางบริษัทที่เข้าดำเนินการจะต้องเก็บกิ่งพันธุ์ ที่หักและหล่นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น จะไม่ให้ตัดหรือหักกิ่งพันธุ์แต่อย่างใด และกรณีที่ในพื้นที่มีกิ่งแตกหักในธรรมชาติไม่เพียงพอ จะตัดกิ่งพันธุ์ในแปลงที่เคยปลูกฟื้นฟูไว้ ก็จะต้องทำหนังสือขออนุญาตจากทช.ก่อน” นายโสภณกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน