ศบค.ชุดเล็กถกกระทรวงสธ. ค้านจัด วอล์กอินฉีดทั่วประเทศ ห่วงเป็นคลัสเตอร์ใหม่ รัฐบาลแจงเปิดลงทะเบียนชุดใหม่ 31 พ.ค. ให้คนอายุ 18-59 ปีจองฉีดวัคซีน องค์การเภสัชฯ กระจาย ‘ซิโนแวค’ล้านโดส ให้ 77 จังหวัดแล้ว ส่วนล็อตมิตรภาพ ที่จีนให้ฟรี 5 แสนโดส ตรวจคุณภาพอยู่ ทูตจีน เผย สิ้นเดือนพ.ค.ส่งให้อีก 1.5 ล้านโดส แม้จีน ยังมีวัคซีนไม่พอ แต่พร้อมช่วยไทย ‘อนุทิน’ ยกองค์การอนามัยโลก รับประกันซิโนแวค มีคุณภาพต้านโควิด เร่งหาวัคซีนเพิ่มทุกเดือนฉีดให้คนไทยทั่วถึง กทม.จี้เร่งสอบแคมป์ก่อสร้างทั่ว 50 เขต ยันคุมได้แล้ว 7 จาก 27 คลัสเตอร์ ใน 17 เขต ด้านจุฬาฯปิดต่อถึง 13 มิ.ย. ส่วนตลาดคลองเตยก็ปิดไปถึง 31 พ.ค.

ส่ง 1 ล้านโดสตามแผนแล้ว

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ตามที่มีวัคซีนจากซิโนแวคเข้ามาถึงไทยเมื่อวันที่ 6 พ.ค. จำนวน 1 ล้านโดสนั้น ผ่านการ ตรวจคุณภาพ มาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และทางการจีนได้ส่งเอกสารมาประกอบแล้วทำให้ตอนนี้ได้กระจายวัคซีนล็อต 1 ล้านโดสไปตามแผนของกรมควบคุมโรค (คร.) เรียบร้อยแล้ว โดยทยอยส่งไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา และส่งที่เหลือออกไปวันนี้ สำหรับวัคซีนซิโนแวคอีก 5 แสนโดสที่ประเทศจีนสนับสนุนให้ไทย เข้ามาเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรอเอกสารประกอบจากทางการจีนอีก คาดว่าใช้เวลา 1 สัปดาห์น่าจะกระจายได้

รับอีก 5 แสนโดสจากจีน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) และนายหยาง ซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ลงนามเอกสารรับมอบวัคซีนซิโนแวคจำนวน 5 แสนโดส โดยนายหยาง ซิน กล่าวว่า การมอบวัคซีนในครั้งนี้แสดงถึงไมตรีจิตและความ รับผิดชอบต่อสังคมโลก

“ไวรัสไม่มีพรมแดน ต้องอาศัยความร่วมมือ ระหว่างประเทศจึงระงับโรคนี้ได้ ซึ่งจีนเป็นประเทศแรกที่ประกาศให้วัคซีนที่ผลิตเองเป็นสินค้าสาธารณะ และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญามาตลอด ปัจจุบันจีนมีการบริจาควัคซีนให้กับ 80 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ และส่งออกกว่า 50 ประเทศ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงและซื้อวัคซีนได้ ไทยและจีน นับเป็นพี่น้อง เมื่อตกอยู่ในภาวะลำบากเราอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ แม้วันนี้จีนฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 400 ล้านโดส แต่มีประชากรเป็นพันล้านคน ต้องยอมรับว่าวัคซีนที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ แต่เมื่อไทยเผชิญวิกฤต เราก็ต้องจัดส่งวัคซีนให้ ซึ่งเดือนนี้จะมาอีก 1.5 ล้านโดส ขอให้ประเทศไทยต่อสู้และควบคุมโรคโควิดได้เร็ว” นายหยาง ซินกล่าว

ยัน‘ฮู’การันตีซิโนแวค

นายอนุทินกล่าวว่า นี่เป็นเที่ยวแรกเท่านั้น แต่ยังมีอีก 5 แสนโดสที่จีนจะสนับสนุนเข้ามา ทั้งนี้ การได้วัคซีนเข้ามาเกิดขึ้นได้เพราะความเชื่อมั่นในมิตรภาพของ 2 ประเทศ และอุปทูตหยางซินที่สนับสนุนประเทศไทยมาตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่จีนสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จำเป็นให้ไทยอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงช่วยให้ไทยที่สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคได้รับการอนุมัติให้ส่งวัคซีนมาไทยได้อย่างรวดเร็ว

“วัคซีนซิโนแวคได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก วงการแพทย์ต่างๆ ว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลที่ดีมากในการต่อต้านเชื้อโควิด หากป่วยก็อาการไม่หนัก และไม่เสียชีวิต วันนี้รัฐบาลได้รณรงค์อย่างสุดความสามารถที่จะให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนมากที่สุด ซึ่งได้ตกลงกับบริษัทผู้ผลิตคือพยายามจัดหาเข้ามาทุกเดือน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราจะมีวัคซีน เพียงพอที่จะฉีดให้กับพี่น้องคนไทยตั้งแต่ วันนี้จนถึงสิ้นปี” นายอนุทินกล่าว

ยันมีวัคซีนพอ

นายอนุทินกล่าวภายหลังเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้รายงานสถานการณ์และแผนการบริหารจัดการและการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในแต่ ละเดือน ซึ่งจะมี 3 รูปแบบคือ 1.ผ่านหมอพร้อม 2.อสม.ชักชวน และ 3.กลุ่มองค์กรรัฐและเอกชน รวบรวมพนักงานรวมถึงคนในครอบครัวมาฉีด โดยทำหนังสือถึงกรมควบคุมโรคเพื่อขอรับการสนับสนุนวัคซีน มีทั้งรูปแบบใช้สถานที่และบุคลากร สธ.ฉีดให้ หรือจัดสถานที่ฉีดแล้วจ้างบุคลากรจาก ร.พ.เอกชนมาฉีดให้ก็ได้ เหมือนกระทรวงคมนาคมจัดพื้นที่สถานีกลางบางซื่อฉีดให้กับบุคลากรขนส่งสาธารณะ ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ โดย สธ.จะขอใช้เป็นพื้นที่ฉีดให้กับองค์กรอื่นๆ ต่อไป หรือกรณีกระทรวงแรงงานจะฉีดให้ผู้ประกันตนเอง ถือเป็นรูปแบบที่ดีช่วยประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มาก ช่วยแบ่งเบาภาระ สธ. โดยใครฉีดแล้วก็ตัดยอดออก ยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอ

วอล์กอินคิวต่อท้าย

นายอนุทินกล่าวว่า วัคซีนแอสตร้า เซนเนก้าจะเข้ามาในปลาย พ.ค.นี้อีก 1.7 ล้านโดส ทั้งนี้พื้นที่ไหนจะได้วัคซีนชนิดใดนั้น ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ อย่างพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก ในชุมชนแออัด ก็จะต้องใช้วัคซีนของแอสตร้าฯ เพราะภูมิคุ้มกัน ขึ้นเร็ว ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็ใช้วัคซีนของซิโนแวค

เมื่อถามว่ากลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากลงทะเบียนตามระบบแล้วต้องรอคิวฉีด แต่กลับถูกแซงคิวโดยกลุ่มคนวอล์กอิน นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีแซงคิว การวอล์กอินจะได้ลำดับท้ายๆ ของวันด้วยซ้ำไป หลังจากที่คนนัดหมายไม่มาตามนัด เพราะวัคซีนเตรียมเอาไว้แล้วต้องฉีด

18-59 ปีจองฉีดได้ 31 พ.ค.

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงทะเบียนฉีดประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18-59 ปีว่า เริ่มลงทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ทั้งไลน์ ออฟฟิเชี่ยลแอ๊กเคาต์ และแอพ พลิเคชั่น ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป และยังจองฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านโรงพยาบาล ที่มีสิทธิรักษา อสม. รพ.สต. และช่องทาง อื่นๆ รวมทั้งวอล์กอิน ตามประกาศของจังหวัดด้วย ขณะเดียวกัน สธ.อยู่ระหว่างการวางระบบการลงทะเบียนเพื่อให้ชาวต่างชาติ ที่ทำงานในไทยเข้าถึงการรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เช่นเดียวกัน

น.ส.รัชดากล่าวว่า ในพื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพฯ ได้ฉีดวัคซีนแล้ว 125,228 โดส ทำให้มีการฉีดวัคซีนสะสมในพื้นที่กทม. 450,285 โดส

ศบค.-สธ.ถกวอล์กอินฉีด

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้ ศบค.ชุดเล็ก ประชุมร่วมกับ สธ. เพราะยังมีความเห็นต่างเรื่องการวอล์กอินฉีดวัคซีน ซึ่งทางสธ. ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะที่ ศบค. เห็นว่า อยากเปิดโอกาสให้ประชาชน ลงทะเบียนและทยอยมารับวัคซีน ไม่ควรให้วอล์กอิน เพราะเกรงว่าคนจะแห่กันมา ทำให้เกิดแออัด อีกทั้งถ้าวอล์กอินมาแล้วแต่ไม่ได้ฉีดก็จะเป็นปัญหาอีก ซึ่งต้องบริหารจัดการให้พอดี กับวัคซีนที่มีอยู่ในแต่ละเดือนด้วย โดยมี ความเห็นว่า น่าจะใช้วิธีให้ลงชื่อ บัญชีสำรองไว้ วันไหน ที่ไหนว่างให้ติดต่อกลับไปแล้วนัดมาฉีด

จุฬาฯปิดต่อถึง 13 มิ.ย.

ด้านศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกประกาศวันที่ 17 พ.ค. เรื่องการขยายเวลาการปิดสถานที่ทำการชั่วคราว การจัดการเรียนการสอน และการปฏิบัติงาน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากถึงวันที่ 24 พ.ค. เป็น 13 มิ.ย.2564 ทั้งที่ตั้งในและนอกเขตกรุงเทพฯ โดยให้นักเรียน นิสิต และบุคลากรปฏิบัติตามประกาศจุฬาฯ เรื่องการปิดสถานที่ ทำการชั่วคราว การจัดการเรียนการสอน และการปฏิบัติงานในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-49 ลงวันที่ 8 เม.ย.2564 ต่อไป

จี้สำรวจแคมป์ก่อสร้าง

วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งพบการระบาด 27 คลัสเตอร์ ใน 17 เขต อยู่ระหว่างการควบคุมโรค 20 คลัสเตอร์ และควบคุมได้แล้ว 7 คลัสเตอร์ ทั้งนี้ไม่รวมคลัสเตอร์ที่ราชทัณฑ์ โดยเขตที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 ลำดับแรกคือ ดินแดง ห้วยขวาง บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว บางแค คลองเตย วังทองหลาง วัฒนา บางกะปิ สำหรับผลการให้บริการวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้ได้รับวัคซีนรวมจำนวน 403,446 โดส ครบ 2 เข็ม จำนวน 112,104 ราย

ส่วนการแก้ไขปัญหากรณีพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในตลาดคลองเตยและชุมชนใกล้เคียง จากการตรวจเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่คลองเตย 494 คน และพบผู้ติดเชื้อในตลาดคลองเตยจำนวน 332 คน เขตจึงได้มีคำสั่งปิดตลาดไปแล้ว 5 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน ครั้งล่าสุด 11-13 พ.ค.2564 แต่ยังไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้ จึงเห็นควรให้ปิดตลาด คลองเตยต่อไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. โดยจะมีการออกประกาศให้ทราบ

รวมทั้งที่ประชุมเห็นชอบให้ 50 สำนักงานเขตสำรวจจำนวนคนงานก่อสร้างในแคมป์ให้เป็นปัจจุบัน พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน นอกจากนี้จะมีการจัดประชุมผู้ประกอบการก่อสร้างในพื้นที่ กทม.เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการปฏิบัติตามแนวทาง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ยังโล่งร้าง – ร้านไก่ย่างชื่อดังย่านโค้งวัดสาละวัน จ.นครราชสีมา จัดร้านพร้อมเปิดบริการ หลังได้รับการผ่อนปรนให้นั่งกินได้ แต่บรรยากาศยังซบเซา เจ้าของร้านโอดลูกค้ายังไม่มั่นใจ ระบุความหวังสุดท้ายอยู่ที่วัคซีน เมื่อวันที่ 17 พ.ค.

ร้านดังไก่โคราชยังเหงา

ขณะที่จ.นครราชสีมา ที่ร้านไก่ย่างโค้งวัดป่าสาละวัน ถนนสืบศิริ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นร้านไก่ย่างชื่อดังเมืองโคราช พนักงานได้จัดเตรียมโต๊ะ เก้าอี้ และทำความสะอาดร้านไว้พร้อม เพื่อต้อนรับลูกค้าที่จะมานั่งรับประทานอาหารในร้าน หลังจากที่ได้รับการผ่อนปรนจากทาง ศบค.จังหวัดนครราชสีมาแล้ว แต่บรรยากาศภายในร้าน ก็ยังคงเป็นไปด้วยความเงียบเหงา โดยมีลูกค้ามานั่งภายในร้านเพียงแค่ 1 โต๊ะเท่านั้น

กินที่ร้านวันแรกเงียบ

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการพื้นที่ควบคุม วันนี้เป็น วันแรก โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารได้ไม่เกิน 25% และเปิดให้นั่งได้ถึง 21.00 น.เท่านั้น ซื้อกลับบ้านได้ถึง 23.00 น. ต้องยอมรับว่าบรรยากาศร้าน ส่วนใหญ่ยังเงียบ ผู้ซื้อยังไม่กล้านั่งกินที่ร้าน คนขายก็ยังไม่กล้าการรับลูกค้าจำนวนมาก

โหรงเหรง – บรรยากาศร้านขายอาหาร หลังคลายล็อกให้นั่งรับประทานในร้านได้ แบบเว้นระยะ จำกัดจำนวนที่นั่ง เนื่องจากการระบาดของโควิด ที่ฟู้ดคอร์ต ห้างเซียร์รังสิต พบว่าร้านลูกค้ายังมีไม่มาก หากเทียบกับเมื่อก่อน เมื่อ17 พ.ค.

ในสภาวะที่มีคลัสเตอร์ใหม่ๆเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวนมาก ยิ่งทำให้เกิดความกังวลและไม่กล้าทั้ง ฝ่ายของผู้ซื้อและผู้ขาย และยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องของประกาศางการให้นั่งกินที่ร้านได้โต๊ะละคน ในกฎหมาย หรือประกาศ ศบค.ไม่มีระบุไว้ แต่ในเรื่องของสาธารณสุขแค่กำหนดเรื่องของการเว้นระยะห่าง อย่างน้อย 1 เมตร

ดังนั้นหากโต๊ะขนาดเล็กในทางปฏิบัติคงนั่งได้แค่คนเดียว แต่ประกาศทางการคือให้เว้นระยะห่างเพื่อป้องกันสารคัดหลั่ง น้ำลาย น้ำมูกกระเด็นไปโดนคนอื่น แต่ถ้าร้านไหนมีโต๊ะใหญ่ก็ทำฉากกั้น ก็นั่งได้ 2 คน มาด้วยกันนั่งด้วยกันได้แต่ต้องมีฉากกั้น เพราะต้องเข้าใจร้านอาหาร คือสถานที่สาธารณะต้องทำตามฎกหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน