14จว.เกิน300แจกเอทีเคอีก

ป่วยพุ่งพรวด 29,318 คน รวมติดเชื้อใหม่ 17,349 คน บวกเอทีเคอีก11,969 คน ยอดทะลุหมื่น 13 วันติด ตายอีก 22 เศร้าคร่าทวดวัย 105 ปี 14 จังหวัดเกิน 300 คน กทม.ยังหนัก 3 พันต่อเนื่อง อนุทินยันคุมโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้ แม้แพร่เร็ว เร่งฉีดบูสต์ ป้องกันผู้สูงวัยกลุ่มเสี่ยง โอดด้อยค่าซิโนแวคฉีดเด็ก แจงวุ่นไม่ได้ถอดโควิดจากยูเซ็ป แค่ปลดพ้นโรคฉุกเฉิน เล็งทำ ยูเซ็ป พลัส ดูแลโควิดแบบมีโรคร่วม รักษาในร.พ. รมต.ตี๋ ชี้ยังไม่ถึงเวลาปลด สธ.แนะตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ ร.พ.ตามสิทธิ หากพ้นฉุกเฉิน สปสช.ตามจ่าย 1.2 พัน อนุมัติแจกเอทีเครอบสอง ปรับรูปแบบหน่วยบริการ จ่ายชดเชยชุดละ 55 บาท

โควิด+เอทีเคพรวด 2.9 หมื่น
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 หรือศบค. รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่ จำนวน 17,349 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 17,104 ราย จากต่างประเทศ 245 ราย ผู้ป่วยสะสม 432,976 ราย ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 หายป่วยกลับบ้าน 11,561 ราย หายป่วยสะสม 321,318 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 144,061 ราย เสียชีวิต 22 ราย

ขณะที่ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากผลแอนติเจน เทสต์ คิต (เอทีเค) อีก 11,969 ราย อาการหนักใช้ท่อช่วยหายใจ 163 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 728 ราย หากรวมผู้ป่วยใหม่ 17,349 ราย กับผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากเอทีเคอีก 11,969 ราย ในวันนี้พบผู้ป่วยถึง 29,318 ราย

ผู้เสียชีวิต 22 ราย มาจาก 18 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 3 ราย, กทม. สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย, สมุทรปราการ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เชียงราย ชุมพร ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 12 ราย อายุ 50-105 ปี เฉลี่ย 73 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 96%

ส่วน 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 3,063 ราย 2.สมุทรปราการ 866 ราย 3.ชลบุรี 821 ราย 4.นครศรีธรรมราช 743 ราย 5.ภูเก็ต 510 ราย 6.นนทบุรี 423 ราย 7.นครราชสีมา 415 ราย 8.สมุทรสาคร 414 ราย 9.ปทุมธานี 395 ราย และ 10.บุรีรัมย์ 339 ราย

33 จังหวัดยังหนัก
จังหวัดติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไปยังมีอีก 33 จังหวัด คือ ระยอง 327 ราย, นครปฐม 318 ราย, ขอนแก่น 315 ราย, ฉะเชิงเทรา 307 ราย, อุบลราชธานี 285 ราย, สงขลา 284 ราย, เชียงใหม่ 276 ราย, ราชบุรี 264 ราย, ชัยภูมิ 261 ราย, สระบุรี 257 ราย, นครสวรรค์ 240 ราย, กาญจนบุรี 239 ราย, กำแพงเพชร 238 ราย, สุราษฎร์ธานี 237 ราย, กาฬสินธุ์ 216 ราย, พระนครศรีอยุธยา 212 ราย, ร้อยเอ็ด 208 ราย, สุรินทร์ 202 ราย, สุพรรณบุรี 200 ราย, มหาสารคาม 187 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 182 ราย, ลพบุรี 176 ราย, อุดรธานี 172 ราย, หนองคาย 169 ราย, พิษณุโลก 157 ราย, ปราจีนบุรี 156 ราย, เพชรบุรี 155 ราย, ชุมพร 152 ราย, หนองบัวลำภู 149 ราย, จันทบุรี 148 ราย, กระบี่ 116 ราย, พัทลุง 112 ราย และสุโขทัย 107 ราย ส่วนวันนี้ไม่มีจังหวัดใดที่ติดเชื้อหลักหน่วย

ขณะที่การติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 169 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 245 ราย ใน 42 ประเทศ ซึ่งประเทศต้นทางที่มีการติดเชื้อมาก เช่น รัสเซีย 85 ราย, กัมพูชา 22 ราย, เยอรมนี 17 ราย, ฝรั่งเศส 14 ราย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 13 ราย, คาซัคสถาน 9 ราย, อิสราเอล ยูเครน ประเทศละ 8 ราย, เดนมาร์ก 7 ราย, ตุรกี 6 ราย ภาพรวมเข้าระบบ Test&Go 97 ราย แซนด์บ็อกซ์ 109 ราย ระบบกักตัว 34 ราย และลักลอบเข้าประเทศ 5 ราย

สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-16 ก.พ. 2565 จำนวน 103,395 ราย รายงานติดเชื้อ 2,890 ราย คิดเป็น 2.8% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 57,023 ราย ติดเชื้อ 556 ราย คิดเป็น 0.98% แซนด์บ็อกซ์ 39,614 ราย ติดเชื้อ 2,139 ราย คิดเป็น 5.4% และกักตัว 6,758 ราย ติดเชื้อ 195 ราย คิดเป็น 2.89%

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.พ. ฉีดได้ 182,122 โดส สะสมรวม 120,702,893 โดส เป็นเข็มแรก 52,911,072 ราย คิดเป็น 76.1% ของประชากร เข็มสอง 49,323,928 ราย คิดเป็น 70.9% ของประชากร และเข็มสาม 18,467,893 ราย คิดเป็น 26.6% ของประชากร

จี้ฉีดบูสต์คุมพันธุ์ BA.2
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ที่แพร่เร็วกว่า BA.1 ซึ่งมีแนวโน้มพบเพิ่มมากขึ้นว่า ระบบเฝ้าระวังเป็นการเฝ้าระวังทุกสายพันธุ์อยู่แล้ว โดยขอให้ยึดหลักการป้องกันตนเองสูงสุด (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด ระวังตลอดเวลาก็ป้องกันความเสี่ยงจากโควิดได้มากทุกสายพันธุ์ ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเราก็พยายามควบคุมทุกอย่าง ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. ติดเชื้อในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ถือว่าสายพันธุ์โอมิครอนยังไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา ถ้าคนฉีดวัคซีนมากขึ้น ตอนนี้เราฉีดบูสเตอร์โดสให้มากที่สุด ก็น่าจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ได้ อัตราผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังควบคุมสถานการณ์ได้เช่นกัน

เมื่อถามถึงกรณีเชียงใหม่ที่มีการติดเชื้อสูงขึ้น แต่การเข้ารักษาโฮมไอโซเลชั่น (เอชคิว) ติดต่อยาก นายอนุทินกล่าวว่า จะให้ปลัด สธ.ไปติดตามและหาทางพัฒนาระบบขึ้นมา เมื่อถามถึงกรณีผู้สูงอายุ 2.2 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน นายอนุทินกล่าวว่า ก็ต้องฝากให้ลูกหลานหรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุทุกคนต้องมาฉีด เพราะหากฉีดแล้วจะเกิดความปลอดภัยแน่นอน สถิติการศึกษาวิจัยแสดงชัดเจนว่าผู้รับวัคซีนมีความปลอดภัยจากการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตเป็นหลายร้อยเท่า วัคซีนไม่มีอันตรายอย่างแน่นอน มีมาตรฐาน ฉีดเกิน 120 ล้านเข็มแล้วทั่วประเทศ

ส่วนการฉีดนักเรียนก็เร่งฉีด มีทั้งไฟเซอร์ ซิโนแวคดีทั้งนั้น อย่าเชื่อคนด้อยค่าว่า ซิโนแวคฉีดเด็กไม่ได้ ซึ่งก็ฉีดคนจีนทั้งประเทศ 2 พันล้านคน ประเทศจีนก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องของการติดเชื้อ การเสียชีวิตหรือตาย และไม่มียี่ห้ออื่นในจีน ก็ต้องถือว่าคนจำนวนเกือบ 2 พันล้านคนก็เป็นการพิสูจน์ชัดเจนว่าวัคซีนเขาก็เวิร์ก เราก็มีทุกตระกูลให้คนไทยได้เลือก โดยเฉพาะตระกูลหลักๆ

นายอนุทินกล่าวต่อว่า การติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพราะเชื้อโอมิครอน บทวิจัยบทศึกษาชัดว่าติดง่ายกว่าเชื้อเดลตา การติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น เราถึงต้องเน้นคนมาฉีดวัคซีนมากที่สุด เพราะหากฉีดแล้วการ์ดตกไปบ้างติดเชื้อก็ไม่มีอาการ ซึ่งมากกว่า 85% ติดเชื้อก็ไม่มีอาการ คนเสียชีวิตมากกว่า 90% คือไม่รับวัคซีนและเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง มันยังอยู่ในเกณฑ์กรอบของการควบคุมโรคอยู่ ไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุอย่างนี้ พยายามควบคุมให้สูญเสียน้อยที่สุด ส่วนเตียงรองรับโควิดไม่มีปัญหา เพราะคนร่วมมือ เอชไอ หรือคอมมิวนิตี้ ไอโซเลชั่น (ซีไอ) ถ้ารับความร่วมมือเช่นนี้ เตียงก็ไม่มีปัญหา ก็กำหนดมาตรฐานของระดับอาการว่า ถึงระดับอาการไหนใช้วิธีการรักษาอย่างไร

ย้ำไม่ได้ถอดโควิดพ้นยูเซ็ป
นายอนุทินกล่าวถึงกรณีการปลดโรค โควิด-19 จากสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรีทุกที่ (UCEP) ว่า ไม่ได้ถอดโควิดออกจากยูเซ็ป หรือยกเลิกยูเซ็ป แต่เป็นการปรับปรุงวิธีการให้บริการตามอาการของผู้ป่วยโควิด สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือถอดออกจากเป็นโรคฉุกเฉิน เพราะโควิดเป็นโรคที่อยู่กับเรามา 2 ปีแล้ว ไม่ใช่โรคใหม่ ฉะนั้นต้องจัดระบบบริการเพื่อรองรับเขาได้ ประเทศไทยไม่ได้มีโรคโควิดอย่างเดียว แต่มีโรคติดต่ออื่นๆ และโรคไม่ติดต่อด้วย ที่รอใช้บริการทางการแพทย์ รอเตียง รอการบริการใน ร.พ.ต่างๆ ถ้าเน้นโควิดฉุกเฉินจะต้องแซงคิว ต้องได้อภิสิทธิ์เหนือโรคอื่นทุกอย่าง จะทำให้ระบบสาธารณสุขรวนได้ นี่จึงเป็นการปรับระบบการให้บริการให้สอดคล้องสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้นในไทย ต้องทำให้ระบบพื้นฐานไม่ให้รับผลกระทบ สำหรับโควิดที่มีอาการฉุกเฉินจริงๆ เช่น หายใจไม่ได้ มีอาการเหนื่อยหอบ ไอรุนแรง ก็เข้ารักษาฉุกเฉินที่ใดก็ได้ เราให้การดูแลเช่นเดิม และเพื่อให้เกิดความสบายใจและคล่องตัว ทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. ได้กำหนดโซน UCEP Plus ขึ้นมา หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวไม่มีอาการให้อยู่บ้าน แต่หากเป็นสีเหลือง สีแดง ต้องมีวิธีการให้การดูแลเฉพาะ

แจงสิทธิ์‘ยูเซ็ปพลัส’
ด้าน นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า โรคโควิด-19 มีการพิจารณาแล้วจะไม่ได้เป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป ส่วนที่ผ่านมาต้องกำหนดเป็นโรคฉุกเฉินเนื่องจากเป็นโรคใหม่และกังวล จะไม่มีที่รักษาพยาบาลและทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว แต่ปัจจุบันคนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ก็เหมือนโรคหวัดทั่วไปที่มีคนป่วยหลายแสนรายต่อวันก็ไม่มีปัญหา เช่นเดียวกันตอนนี้คนติดโควิดที่จำเป็นต้องนอน ร.พ.มีไม่มาก ขณะนี้อยู่ที่ราว 700 คน จึงไม่น่าจะเป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป

ส่วนยูเซ็ป ปัจจุบันมี 2 ส่วนคือ ทั่วไป และโควิด ซึ่งไปรักษาที่ ร.พ.เอกชนตอนไหน เวลาไหนก็ได้หากพบว่าติดโควิด เพราะเป็นเหตุเร่งด่วนฉุกเฉินทั้งหมด แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง การติดโควิดต้องไม่นำแล้ว แต่ยูเซ็ปยังมีอยู่ โดยหากคนไข้โควิดมีอาการรุนแรงถึงขนาด เช่น มีโรคร่วมที่เป็นอันตรายรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดโควิด แม้โควิดไม่รุนแรงมาก แต่โรคไตรุนแรง ก็จะพิจารณาให้เข้าข่ายเป็นยูเซ็ป โควิด เพื่อให้ได้รับการดูแล เพราะการดูแลไม่ใช่ดูแลแบบโรคไต แต่เป็นการดูแลแบบ โควิด เมื่อต้องเข้ารับการรักษาใน ร.พ.ก็ต้องเข้าอยู่ในขอบข่ายของโควิด แม้โรคโควิดจะไม่ได้รุนแรง จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดทำยูเซ็ป พลัส คือรองรับคนติดโควิดและมีโรคร่วมเดิม แม้ว่าโควิดจะไม่รุนแรง ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะหารือร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อพิจารณาเกณฑ์ที่เข้าข่ายรักษาแบบยูเซ็ป พลัส

ป้องกันผู้สูงวัยป่วย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลกับสายพันธุ์ของโอมิครอน ไม่ว่าจะเป็น BA.1 BA.2 เพราะการป้องกันการรักษายังเหมือนเดิม ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และมีระยะห่าง และการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 เพราะการแพร่เชื้อของ BA.2 เร็วขึ้น แต่ความรุนแรง และการหลบภูมิคุ้มกันยังไม่ต่างจาก BA.1 และองค์การอนามัยโลก (ฮู) ยังไม่ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเฝ้าระวัง ขณะเดียวกัน คร. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์ ยังติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวล คาดว่าความวิตกกังวลของประชาชนในขณะนี้เกิดจากข้อมูลที่มากล้น

“การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรคได้ดี แม้ว่าโรคนี้จะติดง่ายหรือสายพันธุ์ไหนก็ตาม เชื้อไวรัสทะลุหน้ากากไปไม่ได้ ส่วนที่มีคนตั้งคำถามแค่พูดคุยกันไม่นานเพียง 15 นาที ทำไมถึงติดเชื้อ หากใส่หน้ากากกัน ก็ไม่ต้องกังวล เพราะถือว่าความเสี่ยงต่ำ ส่วนอัตราป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ตรงกันข้ามอัตราตายของไทยต่ำกว่าต้นเดือนที่ผ่านมา จากเดิม 0.22 เหลือ 0.20 และถือว่าน้อยกว่าทั่วโลก โดยอัตราตายของทั่วโลก จากเดิมอยู่ที่ 2.2 ขณะนี้เหลือ 1.4 แต่คนเสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ จึงอยากเชิญชวนให้มารับวัคซีน ขณะเดียวกันบ้านคนหนุ่มสาวที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยก็ขอให้ระวังตนเองให้ดี เพื่อป้องกันคนในบ้านได้รับเชื้อ เนื่องจากส่วนใหญ่สาเหตุการติดเชื้อในผู้สูงอายุมาจากการรับเชื้อจากคนในครอบครัว” นพ.โอภาสกล่าว

รมช.ชี้ไทมิ่งไม่เหมาะ
ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเสนอให้ปรับโรคโควิด-19 ไปสู่การรักษาตามสิทธิแทนการเป็นโรคฉุกเฉินวิกฤต เป็นวันที่ 1 เม.ย.2565 ว่า ได้หารือกับนายอนุทินไปอีกรอบแล้ว แต่ท้ายสุดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ รมว.สธ.ว่าจะลงนามให้มีผลบังคับใช้เมื่อใด จะเป็นวันที่ 1 มี.ค. ตามข้อสรุปของสธ.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณา 2 ส่วนคือ หลักการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการให้ประชาชนกลับไปรักษาตามสิทธิ ใช้สิทธิไหนไปสิทธินั้น แต่อีกเรื่องคือเวลา ซึ่งช่วงที่คิดเรื่องให้กลับไปรักษาตามสิทธิขณะนั้นการติดเชื้อลดลง แต่ขณะนี้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะมีการวางแผนเรื่องผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการสีเขียวให้สามารถทำเอชไอและซีไอได้ แต่ยังมีปัจจัยหน้างานที่ต้องคำนึง เช่น พื้นที่ กทม. อาศัยอยู่คอนโดมิเนียม เมื่อติดเชื้อให้กักตัวในห้อง แต่นิติบุคคลไม่เข้าใจก็ไม่ให้อยู่ รวมถึงยังกังวลผู้ที่มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง โรคปอด แม้จะไม่มีอาการ แต่ก็มีความจำเป็นต้องใช้ศักยภาพเตียง ทำให้ผู้ให้บริการและศักยภาพเตียงจะถูกใช้มากขึ้น ถ้าเคสไม่ขึ้นมากกว่านี้ก็อาจไม่เป็นปัญหา แต่หากเคสเพิ่มขึ้นความแออัดอาจกลับมาสู่ ร.พ.รัฐ และสถานการณ์เดิมจะกลับมา

แจก‘เอทีเค’กลุ่มเสี่ยงรอบ 2
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. มีมติเห็นชอบการสนับสนุนชุดตรวจ ATK-self test (ตรวจด้วยตนเอง) สำหรับคนไทยทุกสิทธิที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ตามแนวทางที่สธ.กำหนด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาที่บ้านและในชุมชน ทั้งนี้ การ กระจายชุดตรวจรอบนี้ สปสช.ได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ โดยให้หน่วยบริการที่ร่วมกระจายชุดตรวจ เบิกจ่ายชดเชยมาที่ สปสช. แทนในอัตรา 55 บาทต่อชุด รวมค่าชุดตรวจ ค่าบริการในการให้คำแนะนำการใช้ชุดตรวจ การอ่านผล และการปฏิบัติตัวของประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับชุดตรวจอย่างทั่วถึง หลังลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น โดยขอรับชุดตรวจได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมกระจายชุดตรวจ ได้แก่ ร้านยา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด หน่วยเทคนิคการแพทย์ฯ หรือหน่วยบริการอื่นที่สนใจ

ส่วนกรณีช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อโควิดประสานติดต่อ สปสช.ไม่ได้ และร.พ.ไม่รับเข้าระบบการรักษา นพ.จเด็จกล่าวยอมรับว่า พื้นที่ กทม.และปริมณฑล เริ่มมีคนโทร.มาประมาณวันละ 2 หมื่นสาย อย่างเมื่อวันที่ 16 ก.พ. โทร.มาราว 2 หมื่นสาย ได้เข้าระบบเอชไอประมาณครึ่งหนึ่ง เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องการเข้าฮอสพิเทล ทำให้ต้องรอและจัดระบบ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า หากไม่มีอาการและสะดวกรักษาที่บ้านขอให้เข้าเอชไอ แต่หากไม่สะดวกจะมีการจัดบริการการรักษาในชุมชนรองรับ ซึ่งทั้งหมดระบบจะดำเนินการให้

คุมร.พ.คิดค่าตรวจเกินไม่ได้
เมื่อถามว่าหากต้องรักษาโควิดตามสิทธิ คนกังวลว่าต้องติดต่อเพื่อเข้ารักษาเอชไอ ตามสิทธิของตนหรืออย่างไร นพ.จเด็จกล่าวว่า บัตรทองติดต่อ 1330 หรือประกันสังคมโทร. 1506 แต่ขณะนี้หากโทร.มาที่สปสช. 1330 ได้ ซึ่งเราก็ดำเนินการให้ทั้งหมด

“เรื่องการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ ต้องขอย้ำว่า หากตรวจเอทีเคเองแล้วผลเป็นบวกก็รักษาผ่านเอชไอและซีไอได้ หากไม่มีอาการใดๆ และต้องการไปตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ เดิมนั้นตรวจได้หมด เพราะเราจะตามจ่ายให้ เพียงแต่หากไม่ได้กำหนดว่าอยู่ในยูเซ็ปแล้ว ถ้าไม่มีอาการฉุกเฉิน และต้องการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ ก็ขอไป ร.พ.ตามสิทธิ หรือ ร.พ.รัฐ ทางเราจะตามจ่าย ขณะนี้เราจ่ายค่าตรวจอาร์ที-พีซีอาร์อยู่ที่ 1,200 บาท แต่ปัญหาที่พบคือ ร.พ.เอกชนบางแห่งมีการคิดค่าตรวจเกิน อย่างบางราย 3-4 พันที่ร้องเข้ามา ซึ่งเราก็ไปเจรจาและตามจ่ายในราคากลางที่กำหนด ซึ่งเมื่อคิดเกินราคา ในส่วน สปสช.ไม่มีอำนาจในเรื่องกฎระเบียบกฎหมาย ต้องเป็นส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” เลขาธิการสปสช.กล่าว

คุกลำปางลาม 1,012 คน
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค โควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ ที่จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 292 ราย โดยเป็น ผู้ติดเชื้อในจังหวัด 288 ราย อีก 4 ราย จากต่างจังหวัดและต่างประเทศ

ส่วนคลัสเตอร์ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง อ.ห้างฉัตร พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 21 ราย รวมผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. เป็นต้นมาถึงปัจจุบันจำนวน 1,012 ราย รักษาหายแล้ว 44 ราย อยู่ระหว่างรักษา 962 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

โคราชป่วยขาขึ้นอีก 578 คน
ด้านศูนย์บัญชาเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อโควิด-19 จ.นครราชสีมา รายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 578 ราย เป็นการติดเชื้อนอกพื้นที่ 29 ราย และในพื้นที่ 549 ราย

นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนพ.สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ 32 อำเภอ ของจ.นครราชสีมา ได้เข้าสู่รอบการระบาดเหมือนช่วงกลางปี 2564 โดยเป็นยอดผู้ป่วยเพิ่มต่อวันเฉลี่ย 400-500 ราย แต่บริบทต่างกัน เนื่องจากเป็นการติดเชื้อในพื้นที่มากกว่านอกพื้นที่ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อาจพิจารณาใช้มาตรการเข้มข้นและมีคำสั่งปิดสถานบริการหรือโรงงานที่มีการติดเชื้อต่อเนื่อง เพื่อยับยั้งการลุกลาม มิเช่นนั้นบุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระหนักและปัญหาอุปสรรคการครองเตียง จึงขอให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนต้องร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

เสม็ดให้ตรวจเอทีเคที่ท่าเรือ
ด้านนายอนันต์ นาคนิยม รองผวจ.ระยอง กล่าวถึงกรณีการตั้งกฎระเบียบตามมาตรการป้องกันโควิด ที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะเสม็ด ต้องผ่านการตรวจเอทีเค พร้อมใบรับรองจากสถานพยาบาล หรือแพทย์ที่เชื่อถือได้ จนเกิดความไม่เห็นด้วยจากหลายฝ่าย จากการเรียกประชุมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะเสม็ด ในทุกภาคส่วน เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ได้ข้อสรุปว่า นักท่องเที่ยวสามารถนำชุดเอทีเค ที่ผ่านการรับรองจากอย. มาตรวจได้เองที่จุดบริการ แต่ละท่าเรือได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของท่าเรือ เป็นผู้ช่วยกำกับดูแลในการตรวจ โดยไม่ใช้แบบชนิดที่ใช้ตรวจน้ำลาย

อยุธยาถกคุมป่วยพุ่ง
ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อใหม่ 236 ราย

นายวีระชัยกล่าวว่า หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อถึง 400 รายต่อวัน จะนำมาตรการกลุ่มพื้นที่สถานการณ์สีแดงและสีแดงเข้มมาใช้ต่อไป

ฉีดแรงงาน – แรงงานต่างด้าวนอกสถานประกอบการจำนวนมาก เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ผ่านระบบสแกนม่านตาและตรวจสอบใบหน้า เพื่อยืนยันตัวบุคคล ที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร เมื่อ วันที่ 17 ก.พ.

มหาชัยสแกนม่านตา
ที่ตลาดทะเลไทย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้ทดลองระบบสแกนม่านตาแรงงานข้ามชาติที่พักอาศัย และทำงานอยู่ในพื้นที่ เพื่อจัดระบบการฉีดวัคซีน หลังจากได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินการดังกล่าว โดยนพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นพ.สสจ.สมุทรสาคร ได้นำทีมเจ้าหน้าที่ในสังกัดสธ. บูรณาการความร่วมมือกับ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย,ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข, และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ทดลองระบบการเก็บข้อมูลของแรงงานต่างด้าว ด้วยการสแกนม่านตา พร้อมกับการตรวจสอบใบหน้า และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยมีกลุ่มเป้าหมายในตลาดทะเลไทยเกือบ 3,000 คน

นพ.สุริยะกล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้เกิดความสะดวกในการบันทึกข้อมูลบุคคลและประวัติการรับวัคซีน เมื่อแรงงานมีการย้ายที่อยู่หรือที่ทำงาน หรือเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศก็สืบประวัติได้ อีกทั้งช่วยเรื่องการยืนยันตัวตนต่อองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบได้ด้วย ซึ่งหากระบบนี้ทำแล้วได้ผลดี ก็จะขยายไปยังจังหวัดอื่นต่อไป

จี้กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน-เอทีเค
ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ยังคงออกไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ โดยที่ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อและไม่ได้เข้าสู่ระบบการกักตัว ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในวงกว้าง ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ ให้รีบตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจเอทีเค ด้วยตนเอง โดยตรวจทันทีหากมีอาการป่วย หรือตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 5-6 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อวันสุดท้าย และตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 10 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อวันสุดท้าย หากพบว่าผลตรวจเป็นบวกให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษา โทร.สายด่วน 1330 กด 14 หรือ โทร. 1669 กด 2 หรือโทร.สายด่วนโควิด EOC 50 เขต

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.ได้จัดบริการตรวจเอทีเค ในร.พ.สังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบไดรฟ์ ทรู จากทีมแพทย์เคลื่อนที่ ร.พ.ราชพิพัฒน์ ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ ถนนบรมราชชนนี (สายใต้ใหม่) เขตตลิ่งชัน จนถึงวันที่ 1 เม.ย.65 โดยตรวจฟรีเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตามที่ สปสช.กำหนด

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเป็นจำนวนมากนั้น สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ได้เดินหน้าฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกกลุ่มเป้าหมาย และเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกสูตรวัคซีน มีการให้บริการทั้งในร.พ. ศูนย์บริการสาธารณสุข และการให้บริการนอกโรงพยาบาล ได้แก่ ศูนย์ฉีดวัคซีนกทม. หน่วยบริการฉีดวัคซีน (โมบาย ยูนิต) และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย หรือเนิร์สซิ่ง โฮมด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน