การประเคน – การประเคนพระ คือ การยกสิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภค (สมควรที่พระสงฆ์จะบริโภคใช้สอยได้ ไม่มีโทษทางพระวินัยพุทธบัญญัติ) น้อมถวายให้แด่พระสงฆ์ ด้วยกิริยาอาการที่แสดงความศรัทธาเลื่อมใส มีความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระสงฆ์ผู้รับประเคนนั้นเป็นอย่างดี

การประเคนสิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภค เช่น ภัตตาหารคาวหวาน เป็นต้น แก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้น มีพระวินัยพุทธบัญญัติทรงกำหนดไว้ให้ประกอบด้วยองค์ 5 คือ

1.สิ่งของที่จะประเคนนั้นต้องไม่ใหญ่โต หรือหนักเกินไป ขนาดคนปานกลางคนเดียวยกไหว และต้องยกสิ่งของนั้นให้ขึ้นพ้นจากพื้นที่สิ่งของนั้นตั้งอยู่

2.ผู้ประเคนต้องอยู่ห่างจากพระภิกษุผู้รับประเคน ประมาณ 1 ศอกเป็นอย่างมาก

3.ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้ามาให้ ด้วยกิริยาอาการแสดงความเคารพอ่อนน้อมต่อพระภิกษุผู้รับประเคน

4.กิริยาอาการที่น้อมสิ่งของเข้ามาให้นั้นจะส่งให้ด้วยมือก็ได้ หรือจะส่งให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ใช้ทัพพีตักถวายก็ได้

5.พระภิกษุผู้รับประเคนนั้น จะรับด้วยมือก็ได้ จะรับด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น จะให้ผ้าทอดรับก็ได้ จะใช้บาตรรับก็ได้ จะใช้จานรับก็ได้

ลักษณะการประเคนพระที่ไม่ถูกต้อง เช่น

1.สิ่งของที่จะประเคนนั้นใหญ่โต หรือหนักเกินไป คนเดียวยกไม่ไหว ต้องช่วยกันยกถวาย เช่น ช่วยกันยกโต๊ะอาหารทั้งโต๊ะถวาย เป็นต้น

2.ผู้ประเคนอยู่ห่างจากพระภิกษุผู้รับประเคนเกินกว่า 1 ศอกออกไป จนพระภิกษุนั่งตั้งตัวตรงด้วยมือไม่ถึง หรือการประเคนโดยวิธีวางภาชนะต่อๆ กันออกไป เป็นต้น

3.ผู้ประเคนไม่ยกสิ่งของที่จะประเคนนั้นให้พ้นจากพื้น เช่น การประเคนถวายด้วยวิธีเสือกไสให้เลื่อนไปตามพื้น หรือการประเคนด้วยวิธีใช้มือแตะสิ่งของถวาย เป็นต้น

4.ผู้ประเคนสิ่งของให้พระ ส่งให้ด้วยกิริยาอาการที่แสดงความไม่ความเคารพ เช่น ให้ด้วยกิริยาอาการดุจทิ้งเสีย เป็นต้น

5.พระภิกษุผู้รับประเคน ยังไม่ทันรับสิ่งของนั้น ผู้ประเคนวางสิ่งของลงเสียก่อน

6.สิ่งของที่ประเคนนั้น เป็นของไม่สมควรแก่สมณบริโภค

7.นำเอาวัตถุสิ่งของประเภทอาหารคาวหวานไปถวายให้พระภิกษุรับประเคนในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันไปแล้ว

วิธีการประเคนพระนั้น ถ้าผู้ประเคนเป็นชาย นิยมยกส่งให้ถึงมือพระภิกษุผู้รับประเคน ถ้าผู้ประเคนเป็นหญิง นิยมวางถวายบนผ้าที่พระภิกษุทอดรับประเคนนั้น และต้องรอให้พระภิกษุท่านจับที่ผ้าทอดรับนั้นก่อน จึงวางสิ่งของลงบนผ้าที่ทอดรับนั้น

ถ้าพระภิกษุนั่งอยู่กับพื้น ผู้ประเคนนิยมนั่งคุกเข่าประเคนสิ่งของ ถ้าพระภิกษุนั่งเก้าอี้ เช่น นั่งเก้าอี้ฉันภัตตาหารที่วางบนโต๊ะ ผู้ประเคนนิยมยืนประเคนสิ่งของ

ในการถวายภัตตาหารคาวหวานแด่พระภิกษุสงฆ์นั้น นิยมถวายเฉพาะสิ่งของที่พระภิกษุสงฆ์จะพึงฉันได้เท่านั้น ส่วนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระโถน จาน ชาม ช้อน แก้ว เป็นต้น นิยมไม่ต้องยกประเคนพระ เพียงแต่วางมอบให้เท่านั้น

โดย พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร /www.watdevaraj.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน