คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

เวรกรรมของประชาชน – เป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญ สำหรับความสามารถการบริหารจัดการรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

ซึ่งในการระบาดระลอกแรก รัฐบาลเลือกใช้การล็อกดาวน์ หยุดทุกอย่างของประเทศ ปิดกิจการ เคอร์ฟิว สร้างความหวาดผวาการติดเชื้อให้รุนแรงเลวร้าย

ผลลัพธ์คือสามารถควบคุมโรคได้ มีผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ติดต่อกันอย่างยาวนาน

แลกกับความพังทลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งลูกจ้าง ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี ที่ฉิบหายขายตัวกันไปนับไม่ถ้วน

เว้นแต่บรรดาเจ้าสัวใหญ่ที่สายป่านยาว ที่ยังบริบูรณ์พูนสุข

แต่ครั้งนี้รัฐบาลรู้ ประชาชนรู้ ว่าการใช้มาตรการแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว

เพราะไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปจะย่ำแย่ แต่ฐานะทางการเงินของรัฐบาลก็ถังแตก ต้องกู้หนี้ยืมสินกันมามหาศาล

ดังนั้นในภาวะนี้นอกจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติ ยังต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีสมอง และสื่อสารต่อสังคมได้อย่างชัดเจน

น่าเสียดายที่เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่ต้องการได้เลย

สิ่งที่เห็นคือการแสดงความไม่รับ ผิดชอบใดๆ ศบค.ที่ควรจะเป็นหัวเรือใหญ่ ก็กลัวจะต้องชดเชยเยียวยาจากผลคำสั่งของตัวเอง

มอบให้ท้องถิ่นจัดการดูแล แต่เมื่อจัดการไม่ตรงใจก็เข้ามาล้วงลูก เหมือนเรื่องกำหนดเวลากินอาหารในร้าน ที่มั่วซั่วกันไปมา

เรื่องล็อกดาวน์ นายกฯ-ศบค. ยืนยันไม่มี แต่รมช.สาธารณสุขก็ตีปี๊บกันว่า ล็อกดาวน์แล้ว 5 จังหวัด

บทสรุปก็คือพื้นที่ควบคุมสูงสุด เข้มงวด ที่ต่างจากล็อกดาวน์ก็คือไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

หรือเรื่องสั่งให้ใครที่ออกนอกพื้นที่ 28 จังหวัด ต้องกักตัว 14 วัน แต่ไม่มีรายละเอียดใดๆ เหมือนสั่งจากความฝันให้มาทำในความจริง

ไม่เพียงแค่นั้น ต้นตอของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นขบวนการค้ามนุษย์ บ่อนการพนัน กลับถูกเพิกเฉย

ตร.ก็ทำได้เพียงทราบว่า มี แต่ไม่มีหลักฐาน แล้วก็ขู่กันสารพัด เหมือนคิดว่าบรรดานายบ่อนจะกลัวลนลาน

ถ้าทำได้เท่านี้ ก็อดคิดไม่ได้จริงๆ ว่ามันคงเป็นเวรกรรมของประชาชน

ที่ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด!??

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน