คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

สถานการณ์ “วัคซีน” ฉายภาพชัดเจนถึงความ ขัดแย้ง “ภายใน”ของ“รัฐบาล”

มิได้ดำเนินไปภายใต้ “ปฏิกิริยา”ในเชิงเบียดขบกันระหว่าง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในบางพื้นที่ ต่อความสงสัยในการกระจาย “วัคซีน” ของกระทรวงสาธารณสุข

พุ่งเป้าไปยัง “บุรีรัมย์” เน้นหนักแน่นไปยัง “ระยอง”

เพราะว่าบุรีรัมย์ถือได้ว่าเป็น“กล่องดวงใจ”ของพรรคภูมิใจไทย เพราะว่าระยองเป็นจังหวัดอันเป็นฐานทางการเมืองของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

กรณีบุรีรัมย์ กรณีระยอง ยังเป็นเรื่องเล็ก เล็ก

คําถามอยู่ที่การบูรณาการประสานระหว่าง “ศบค.” กับ “สาธารณสุข”มากกว่า

ความเป็นจริงก็คือ อำนาจในการบริหาร อำนาจในการตัดสินใจในเรื่องอันเกี่ยวกับโควิดอยู่ในมือของ “ผู้อำนวยการศบค.”ตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ “ฉุกเฉิน”

เรื่องของ“วอล์ก อิน”จึงกลายเป็น“ออน ไซต์”

เมื่อสถานการณ์อันเกี่ยวกับ“วัคซีน”โดยเฉพาะ แอสตร้าฯมีความไม่แน่นอน นั่นก็คือ ไม่มั่นใจว่าจะได้มาแค่ไหนในเดือนมิถุนายน แผนฉีดวัคซีนก็ต้องปรับ

จึงต้องชะลอ “หมอพร้อม”และฉีดไปตาม “สถานการณ์”

ทั้งหมดนี้คืออาการเบียดขบระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

เนื่องจากภายในโครงสร้างของศบค.อาจมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจมีอธิบดีกรมควบคุมโรค นั่งอยู่ แต่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ข้อเสนอ “วอล์ก อิน”จึงถูกปัดปฏิเสธกะทันหัน

เมื่อการกำหนดแผนฉีด“วัคซีน”มาจากศบค. เท่านั้น น้ำเสียงของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล แม้ จะยอมรับในฐานะคนปฏิบัติ แต่ก็ไม่สดชื่นแจ่มใสเท่าใดนัก

หงุดหงิดอาจมีอยู่ แต่ก็ต้องเคารพต่อมติศบค.

การดำรงอยู่ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล การดำรงอยู่ของพรรคภูมิใจไทยจึงละเอียดอ่อน

จำนวน 60 กว่า ส.ส.ในมือของพรรคภูมิใจไทย ชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็นอย่างแน่นอนในทางการเมือง แต่บนฐานแห่งความเป็นพรรคภูมิใจไทยยังดำรงการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ที่รอคือ “จังหวะ” และ “เวลา” อันเหมาะสมเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน