ศิลปหัตถกรรมไทย คลังความรู้ดิจิตอล – ศ.ศ.ป.เดินหน้าพัฒนาคลังความรู้ ดิจิตอลศิลปหัตถกรรมไทยเสริมแกร่งเศรษฐกิจชาติ

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ศ.ศ.ป.) หรือ SACICT กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ศ.ศ.ป. ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โดยพัฒนาระบบด้านการจัดการความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับการบริการศูนย์ข้อมูลให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบรับการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ตนวางแนวทางพัฒนาคลังความรู้ภายใต้แนวคิดยกระดับปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการประชาชนก้าวสู่บริการยุค Library 4.0 มีการบริหารจัดการทรัพยากรทางด้านศิลปหัตถกรรมไทย ตั้งแต่ต้นน้ำคือ ผู้ผลิตไปยังปลายน้ำคือหาตลาดเพื่อจำหน่าย

ผู้ใช้บริการเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการอ่านที่ทันสมัย เริ่มจากการพัฒนาห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Library ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยในรูปแบบแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได้ทั้งเว็บไซต์และผ่านสมาร์ตโฟนซึ่งใช้จัดเก็บและสร้างฐานข้อมูลองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของระบบและข้อมูลทรัพยากรในระบบ จะเปิดบริการภายในระยะเวลาอีก 1 เดือน

ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวต่อว่าเนื้อหาภายในห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์มีการรวบรวมทรัพยากรด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยไว้บริการครบถ้วน ทุกประเภท

ทั้งผลงานจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลป หัตกรรมแบ่งเป็นประเภทงานศิลปหัตถกรรมไทย และหมวดหมู่องค์ความรู้เชิงช่างต่างๆ ได้ความรู้ทั้งประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ภูมิปัญญา ท้องถิ่น เทคนิควิธีการดำเนินงาน อาทิ โขนพระราชทาน ผ้าไทย การแกะสลัก จักสาน ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ นำเสนอทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษผ่านรูปแบบหนังสือ วารสารหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์มัลติมีเดีย และสื่อต่างๆ รวมถึงมีกิจกรรม และโครงการความเคลื่อนไหวของ ศ.ศ.ป. ด้วย

“ในอนาคต ศ.ศ.ป. ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางบริการระบบคลังความรู้ดิจิตอล จึงต้องพัฒนาระบบคลังข้อมูลเพื่อให้ประชาชนกำหนดทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่จะนำไปต่อยอดทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านอาชีพ เป็นองค์ความรู้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการคงอยู่ได้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สร้างอาชีพให้ยั่งยืน มีรายได้จริง และยังช่วยวางแผนการตลาด สร้างค่านิยมในศิลปหัตถกรรมไทยในคนไทยทุกระดับ

2.การจัดการองค์ความรู้ เกิดการถ่ายทอด เผยแพร่ และสืบสาน เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยไม่ให้สูญหาย และ 3.เกิดความยั่งยืนในสังคมโลกด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำวัสดุธรรมชาติมาสร้างผลงานและส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทน อีกทั้งส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตจากกระบวนการและเทคโนโลยีที่ใส่ใจผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับเทรนด์ของโลก” นายพรพลกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน