‘ฝน’ขอเป็นกระบอกเสียง – สําเร็จการศึกษา ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มาหลายปีแล้ว แต่นักแสดงสาวหน้าเด็กวัย 27 ปี ‘ฝน’ ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล ก็ยังหาความรู้เพิ่ม ลงเรียนออนไลน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในช่วงงานแสดงพักเพราะพิษโควิด

หลังลงเรียน ปรากฏได้รับรู้ปัญหาจากนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เลยขอเป็นกระบอกเสียง ให้นักเรียนนักศึกษาที่เรียนออนไลน์ ที่ต้องเสียโอกาสพัฒนา ไอคิว-อีคิว รวมถึงประสบการณ์ชีวิตในช่วงวัยเรียนที่หาไม่ได้จากวัยอื่น

เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องควรบริหารและจัดการทรัพยากรอย่างจริงจัง เร่งด่วน เพื่อให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านไปโดยเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด

เป็นยังไงบ้างช่วงนี้?

ฝน – “ช่วงนี้อยู่ห้อง 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ไปไหนเลย มีงานที่ถ่ายค้างอยู่ จริงๆ ตามกำหนดต้องเสร็จตั้งแต่เดือน 2-3 แล้ว แต่นี่เดือน 7 แล้ว ถ่ายมาไม่ถึงครึ่งทางเลย เพราะเราเปิดๆ ปิดๆ ล็อกดาวน์กันมาเรื่อยๆ ก็ค้างเป็นปีแล้วค่ะ นักแสดง นักร้อง หรือคนทำงานด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ส่วนใหญ่เจอปัญหาเดียวกัน คือทำงานไม่ได้เลย และด้วยสถานการณ์ไม่ดี ก็ต้องอยู่ให้นิ่งที่สุด จะไปทำอย่างอื่น หรือสร้างกิจการใหม่ก็ไม่ใช่เวลาที่ดีในการลงทุน รายได้ไม่มี รายจ่ายเท่าเดิม คือเราไม่มีเงินเดือน เราเหมือนฟรีแลนซ์ ถ้าไม่มีชิ้นงานก็ไม่มีอินคัม”

ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่อีกหลายเดือน แพลนล่วงหน้าไว้ยังไง?

ฝน – “คิดแล้ว แต่ยังหาทางออก ไม่ได้ ก็เลยไปลงเรียนออนไลน์ หาความรู้เพิ่มเติม โอเคมันเหนื่อยขึ้นลำบากขึ้น แต่ก็ต้องปรับตัว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็เตรียมพร้อมที่จะกลับไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เรียนออนไลน์เพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่าน ฝนลงเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นปริญญาตรีอีกใบหนึ่ง คือฝนจบปริญญาตรีมาแล้ว 5-6 ปี แต่ใบนี้ที่มาเรียนเพิ่มเติม ในเมื่องานแสดงเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ด้วยเราคนเดียว เราก็มาทำอีกอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำได้ในช่วงเวลานี้ก่อน ก็มาโฟกัสเรื่องเรียน”

เห็นมีบ่นๆ ว่าการเรียนออนไลน์ไม่สะดวก ไม่เสถียรสำหรับทุกๆ คน?

ฝน – “ใช่ค่ะ ตัวเราได้รับฟีดแบ็กจากรอบๆ ข้าง ไม่ว่าที่เรียนปริญญาโท หรือนักเรียนนักศึกษาที่เรียนเป็นครั้งแรกของเขา มัน ซัฟเฟอร์กับการที่จะต้องมานั่งเรียนหน้าคอมพ์เฉยๆ ทั้งวัน แล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอุปกรณ์การเรียนที่พร้อม ไม่ใช่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนสามารถอยู่สอนเด็กข้างๆ ได้ โอเคการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิดรุนแรงมันก็ดีกว่า ไม่ได้เรียน แต่ตัวคุณครูที่เคยสอนที่โรงเรียนมาตลอด วันหนึ่ง ปรับตัวมาใช้เทคโลยีไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีปรับตัวไม่ทัน สื่อการสอนไม่เพียงพอ คือคุณครูต้องพัฒนา เด็กต้องปรับตัว โรงเรียนก็ต้องช่วย ไหนจะเรื่องค่าเทอมอีก ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงลดค่าเทอม สำหรับเรา เราจ่ายไหว แต่หลายๆ คนต้องเดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาเช่าหอพัก หนึ่งปีสองปีที่ เขาจองไว้เพื่อมาเรียนที่มหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยให้เรียนออนไลน์ เขาเสียค่าเช่าฟรี โดยไม่ได้อะไรเลย”

สิ่งหนึ่งที่บอกว่าการออกไปเรียนคือ การได้รับทั้งอีคิวและไอคิว?

ฝน – “คือเราทุกคนผ่านช่วงวัยเรียนมา รู้ว่าประสบการณ์ช่วงวัยเรียนมีค่า ออกจากครอบครัวเข้าไปสู่โรงเรียน คืออีกสังคมหนึ่ง ที่ชีวิตของคนคนหนึ่งจะได้เติบโตและเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ทั้งทางวิชาการ กีฬาสี กิจกรรมกลุ่ม การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด เรียนรู้มนุษยสัมพันธ์ การอยู่ร่วมกับคนอื่น เรื่องภาวะผู้นำ ภาวะผู้ตาม เหมือนคุณครูก็จะมอบบทบาทสมมติให้เราได้ทดลอง ให้เราเรียนรู้ ว่าเราชอบอะไร อยากเป็นอะไร อยากเข้ามหาวิทยาลัยแบบไหน ชอบอยู่ในสังคม แบบไหน มันคือการเรียนรู้จริงๆ แต่การ เรียนออนไลน์มันไม่มีทางได้ครึ่งหนึ่งของประสบการณ์จริงจะให้ได้”

มีคนช่วยแชร์ประสบการณ์ในการเรียนออนไลน์ให้ด้วย?

ฝน – “เยอะมากๆ ค่ะ ตอนนี้ฝนว่าสำหรับน้องๆ นักศึกษา นักเรียน เรียนออนไลน์ 90-100 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนจะเจอปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องแบกภาระในการซื้ออุปกรณ์การศึกษาเพิ่ม ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะ รับไหว ถัดมาคุณครูเปลี่ยนจากการสอนในห้องเรียนมาสอนออนไลน์เตรียมการสอนไม่ทัน ก็อาจใช้วิธีเดิม อ่านให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่เด็กจะคอนเซนเทรตกับสิ่งนั้นๆ ได้ มันต้องพัฒนาสื่อการสอน ไม่งั้นก็เหมือนเรานั่งฟังบรรยายอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่ได้รับความรู้จริงๆ มันต้องช่วยเหลือกันทุกส่วน โรงเรียนหรือผู้บริหารอาจต้องจัดโปรแกรมให้คุณครูได้เรียนรู้ ต้องมีส่วนมาช่วยในจุดนี้เพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เพราะครูคนเดียวคงแบก ไม่ไหวกับสิ่งที่ต้องจัดการค่ะ”

ภาครัฐ หรือหน่วยงาน ควรช่วยเหลือหรือแนะนำในเรื่องไหนบ้าง?

ฝน – “ถ้าถามถึงความคาดหวังของนักเรียนนักศึกษา ใครๆ ก็อยากกลับไปเรียนในระบบปกติอยู่แล้ว แต่ถ้ามองมุมนั้น ก็มีรีเสิร์ชหลายอย่างมากที่บอกว่าถ้าประชากร ได้รับวัคซีน 70-90 เปอร์เซ็นต์ การติดโรคจะน้อยลง โรคแพร่กระจายน้อยลง เราสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เกือบปกติที่สุด นั่นก็หมายความว่าประชากรต้องได้รับวัคซีน 70-90 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน มันต้องให้ประชากรหมู่มากได้รับวัคซีนในระยะใกล้เคียงกัน ถ้าระยะห่างกันมันแทบไม่มีประโยชน์ เพราะไม่งั้นวัคซีนมันหมดภูมิ เหมือนต้องนับหนึ่งไปเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นส่วนที่ภาครัฐจัดการได้”

พลเทพ สารภิรมย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน