“การทำสมาธิเป็นกิริยาของจิต นั่งทำสมาธิได้ เดินทำสมาธิได้ นอนทำสมาธิได้หรือใครจะแน่จริงวิ่งทำสมาธิก็ได้ ถ้าหากการปฏิบัติ เราไม่ยึดวิธีการเป็นใหญ่” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

พระครูพิมลธรรมรัต หรือ ครูบาบุญตันเตชธัมโม หรือ “ครูบาตั๋น” ที่ปรึกษา เจ้าคณะตำบลบวกค้าง สร้าง “เหรียญรูปเหมือนครึ่งองค์ รุ่นสร้างบารมี 59” รายได้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และ ตั้งกองทุนพระครูพิมลธรรมรัต ลักษณะเหรียญพิมพ์ทรงรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือน ใต้รูปเขียนว่า “ครูบาตั๋น เตชธัมโม”

ด้านหลังเหรียญเป็นอักขระยันต์ ประสิทธิ์ประสาทด้วยพระคาถามหาคุณมหาโชค มหาโภคทรัพย์ ตำรับล้านนา ใต้ยันต์เขียนคำว่า “สร้างบารมี ๕๙” จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำ (น้ำหนัก 25 กรัม) เนื้อเงินหน้ากากทองคำ, เนื้อเงินลงยา แดง, น้ำเงิน เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะเป็นต้น เป็นอีกเหรียญที่ได้รับความนิยม

“พระครูรัตนรังษี” หรือ หลวงพ่อพุ่ม จันทโชโต วัดบางโคล่นอก ยานนาวา กรุงเทพฯวัตถุมงคลโดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก แจกงานทำบุญอายุครบ 77 ปี ในปีพ.ศ.2477 เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูงทีเดียวแต่การจัดสร้างก็นับว่าน้อยเอามากๆ

เหรียญรุ่นแรกปี 2477 จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียว สร้างประมาณ 1,000 เหรียญ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ค่อนข้างกลม แบบหูเชื่อม ขอบเหรียญด้านหน้าและหลังยกเป็นสองชั้น ชั้นนอกเป็นเส้นหนา ชั้นในเป็นเส้นเล็กเรียวเหมือนเส้นลวด ด้านหน้าเหรียญมีรูปเหมือนหลวงพ่อพุ่ม หันหน้าตรงครึ่งองค์ รูปหน้าด้านหลังเหรียญเป็นยันต์น้ำเต้าทอง อักขระด้านบนเป็นตัวอุณาโลม อักขระในยันต์น้ำเต้าทองคือ ตัว นะ ด้านล่างทำเป็นแถวเดียว เขียนอักขระ มะ อะ อุ

ในปี พ.ศ.2499 วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม โดย พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 8 จัดสร้าง “เหรียญพระติ้ว-พระเทียม รุ่น 1” เพื่อฉลองวิหารประดิษฐานพระติ้ว-พระเทียม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ลักษณะเป็นเหรียญกลม ไม่มีหูห่วง เนื้อเมฆพัด เป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุ ผสมระหว่างตะกั่วและทองแดง

ด้านหน้าเหรียญ ซ้ายมือประดิษฐานพระติ้ว และด้านขวามือพระเทียมปางมารวิชัยประทับแท่นบนฐานดอกบัว ใต้ฐานสลักตัวหนังสือนูน พระติ้ว พระเทียม รอบวงรีขอบเหรียญเป็นยันต์อักขระ ด้านหลังเหรียญ กลางเหรียญเป็นลายเส้นนูนภาพอุโบสถ ใกล้กันเป็นวิหารหอคู่ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระติ้ว-พระเทียม ขอบเหรียญจากซ้ายไปขวา ระบุคำว่า วิหารพระติ้ว พระเทียม วัดโอกาส (ศรีบัวบาน) ด้านล่างสลักชื่อจังหวัด “นครพนม” พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ อดีตเจ้าอาวาสปลุกเสก

อริยะ เผดียงธรรม

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน