“ซื้ออาวุธ รถถัง เครื่องบิน เรือดำน้ำ สุดท้ายมารบกับ Lazada”

ทูตนอกแถวระเบิดเสียงฮาแทนประชาชน หลังสี่เหล่าทัพประกาศแบน Lazada ซึ่งวาสนา นาน่วม เปรียบเปรยว่า “ปฏิวัติเงียบ?” โฆษกเหล่าทัพแถลงกลางดึก ส่งสัญญาณเตือนขบวนการหมิ่นสถาบัน

Lazada ผิดไม่ผิดว่าอีกประเด็น แต่การประกาศแบนของกองทัพ เป็นเรื่องที่ทั้งขบขันและล้ำเส้น

ขำตั้งแต่ต้น เพราะ ทบ. ประกาศห้ามรถขนส่ง Lazada เข้าค่ายทหาร ชาวบ้านชาวเน็ตหัวร่องอหาย เพชร กรุณพล ต้องช่วยท้วงว่า ท่านไม่รู้หรือ Lazada เป็นแอพสั่งซื้อสินค้า ซื้อแล้วส่งมาทางขนส่งรายอื่น จะห้ามรถได้ไง ไม่มีรถสักคัน

กองทัพไทยอันมีแสนยานุภาพเกริกไกร หลังรบกับลาวที่สมรภูมิร่มเกล้า ไม่เคยรบกับใคร นอกจากใช้ปืนจี้รัฐบาลทำรัฐประหาร จู่ๆ มารบกับแอพสั่งสินค้า มันคนละโลกกัน เหมือนขี่ช้างจะไปทำยุทธหัตถีกับสปายแวร์

สำคัญที่สุดคือล้ำเส้น ใช้อำนาจรัฐกีดกันการค้า อาจผิด กติกาตลาดเสรี WTO FTA ต้องเข้าใจว่า การรณรงค์บอยคอตสินค้าบริการนั้นทำได้ เช่นหมอวรงค์ชวนลบแอพ Lazada เพราะกลัวประเทศไทยจะเป็นแบบยูเครน หรือม็อบสามนิ้วแบนโฆษณาทีวีสุดโต่ง เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แบนตามความสมัครใจ

แต่นี่กองทัพบกใช้อำนาจสั่งทุกหน่วยห้ามใช้บริการ Lazada ห้ามส่งสินค้าในเขตทหาร ไม่เช่นนั้น ผบ.หน่วยมีความผิด แม้อ้างว่าไม่ห้ามสั่งซื้อ ก็คือการใช้อำนาจรัฐกีดกัน Lazada ฟ้องได้นะ เพียงแต่คงไม่ฟ้องเพราะบริษัทเอกชนย่อมเกรงใจอำนาจ

อันที่จริงท่าทีแต่ละเหล่าทัพก็เห็นชัด หลังจาก ทบ. ทะเล่อทะล่าใช้อำนาจสั่งแบนแล้วทัวร์ลง กองทัพอากาศซึ่งประกาศทีหลังก็ถอยไปก้าวหนึ่ง ไม่ใช้คำสั่งห้าม ใช้คำว่าขอความร่วมมือ (สั่งกันภายในนั่นแหละ) กองทัพเรือยิ่งหล่อ เรียกร้องให้ประชาชน “ไม่อดทนอดกลั้น” (zero tolerance) ต่อการนำความบกพร่องของบุคคลอื่นมาล้อเลียน

แปลว่ารู้ตัว ใช้อำนาจสั่งล้ำเส้น พยายามปรับท่าที หันมาประณามว่าล้อคนป่วยคนพิการ ผบ.ทบ.ก็อ้างหลักสิทธิมนุษยชนสากล อย่าดูหมิ่นเหยียดหยามคนที่มีลักษณะพิการ

ตลกจัง! ทหารไทยแปลงร่างเป็นนักสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ทำรัฐประหารใช้อำนาจเผด็จการจับกุมคุมขังประชาชนไว้ในค่าย แทบทุกปีก็มีข่าวซ้อมพลทหารตายเจ็บ เบ่งกร่าง คลั่งยิงกราด บังคับกินอสุจิ ฯลฯ ยังกล้าๆ พูดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ถ้าคนไทย Zero Tolerance ไม่ทนอำนาจเผด็จการทหาร ประเทศคงไม่ตกต่ำขนาดนี้

ปฏิบัติการ “รัฐประหาร Lazada ส่งการบ้าน” วาสนา นาน่วม เปรียบเทียบถูกอยู่เหมือนกัน ว่ามันคือ “รัฐประหารเงียบ” ใช้อำนาจคุกคามภาคสังคมภาคธุรกิจ ให้หวาดกลัวต่อการนำเสนอเนื้อหาโปรโมตโฆษณาหรือเผยแพร่ความคิด ที่อาจถูกตีความอย่างกว้างขวางว่าผิด หมิ่น ก้าวล่วง ฯลฯ ทั้งที่สามารถตีความเป็นอื่น เช่น ตลกเอพริลฟูลเดย์สายการบินเวียตเจ็ท

โฆษณา Lazada ถามว่าผิดตรงไหน ทั้งที่โดยเนื้อหาไม่มีอะไรเลย เป็นการโฆษณาว่า คนป่วยคนพิการนั่งรถเข็นก็สามารถซื้อสินค้าได้ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องไปเบียดคนในห้าง

ปฏิบัติการรัฐประหาร Lazada โดยกองทัพ จึงเป็นปฏิบัติการคุกคามทางจิตวิทยาที่หวังผลว่า หนึ่ง ภาคสังคมภาคธุรกิจจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างหนัก ไม่ให้เฉียดกรายถูกตีความได้ว่า “หมิ่น” สอง เป็นการกดดันทั้งผู้ถูกกล่าวหาและกระบวนการยุติธรรม เพราะกองทัพพิพากษาให้แล้วว่า “ก้าวล่วง” จะไม่ผิดได้อย่างไร

ต้องย้ำว่า การวิจารณ์การแอนตี้หรือบอยคอตเป็นเสรีภาพ แต่โฆษณา Lazada ถูกรวบรัดว่าผิดแล้วปิดปาก สร้างความหวาดกลัวให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง บริษัทและผู้ผลิตต้องขอขมา สื่อสุดโต่งปลุกมวลชนฝ่ายขวาข่มขู่ แล้วอำนาจรัฐก็บดขยี้ สังคมวงกว้างที่ไม่ได้ดูโฆษณาต้นฉบับ เพราะถูกระงับเผยแพร่ทุกช่องทาง ก็เชื่อตามๆ กันว่าผิด ทั้งที่หากได้ดูก็สามารถใช้วิจารณญาณว่าผิดจริงหรือไม่

น่าสังเกตว่า การปลุกกระแสอย่างนี้เป็นพักๆ ก็เหมือนกับปลุก 6 ตุลาแบบย่อมๆ แต่จำกัดวงเฉพาะกรณี ขีดพื้นที่สร้างความหวาดกลัว ไม่ให้คนทั่วไปเข้ามายุ่ง เหมือนการใช้ 112 ในช่วงหลัง กับนักเคลื่อนไหวเยาวชนอย่าง “ตะวัน” “ใบปอ” “บุ้ง” และอีกหลายคนที่ถูกคุมขังไม่ได้ประกัน ก็หวังใช้มาตรการกำราบกด ไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวอีก มองอีกอย่างคือยอมรับกลายๆ ว่าเอาชนะคนรุ่นใหม่ทางความคิดความเชื่อถือศรัทธาไม่ได้ แต่ต้องการใช้อำนาจบังคับให้อยู่เฉยๆ

แต่จะกำราบได้จริงหรือ ก็แค่กดไว้ชั่วขณะ ขณะที่สถานการณ์ใหญ่ ระบอบรัฐประหารสืบทอดอำนาจอยู่ในทางตัน

กรณี Lazada ก็ดูเหมือนได้เปรียบทุกอย่าง แต่การ “เล่นใหญ่” ใช้กองทัพประกาศสงคราม แทนที่จะจำกัดวง ก็กลายเป็นตีปี๊บประโคมให้โลกขบขันกันทั่วไป

นี่คือวิถีอำนาจที่ชอบทำอะไรเกินกว่าเหตุ คิดว่าจะอวดโอ่ ไม่ยักรู้ว่าน่าอับอาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน