สําหรับช่วงวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก ในวันที่ 14 ก.พ.ของทุกปี
ความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุขไทย มักจะพุ่งเป้าไปที่ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ของกลุ่มวัยรุ่น
ในปีนี้ กรมควบคุมโรค โดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้ชูแคมเปญ “Love is All Around ให้รักที่ปลอดภัยอยู่รอบตัวเรา” โดยเน้นย้ำให้มี ‘รัก’ ที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 14 ก.พ. ตรงกับวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก เป็นเทศกาลที่คนแสดงความรักต่อกัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนจะให้ความสำคัญกับความรักในช่วงวันวาเลนไทน์นี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมองว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก ถือเป็นการแสดงความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันได้
ส่วนแคมเปญ “Love is All Around ให้รักที่ปลอดภัยอยู่รอบตัวเรา” โดยเน้นย้ำให้มี ‘รัก’ ที่ปลอดภัย ดังนี้
‘ให้พกและใช้ถุงยางอนามัย ให้เป็นเรื่องปกติ’ โดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคน ทุกช่องทาง เลือกให้ ถูกไซซ์ ใช้ให้ถูกขั้นตอน (Step) เก็บและทิ้งให้ถูกวิธี ป้องกันได้ทั้งการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์
รวมถึง ‘ให้สื่อสารเพื่อป้องกัน ให้เป็นเรื่องปกติ’ เพื่อให้เราและคู่กล้าพูดและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยโดยไม่เขินอาย กล้าที่จะสื่อสารเจรจาต่อรองให้มีรักที่ปลอดภัย
โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ที่มี แนวโน้มการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลปี 2564 พบวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-24 ปี กว่า 8,000 คน ติดเชื้อโรคซิฟิลิสและหนองใน และยังพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน
ส่วนในปี 2565 พบวัยรุ่นและเยาวชนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี ถึงร้อยละ 22.2 จากผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2551 ที่พบร้อยละ 9.5 สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการใช้ถุงยางอนามัยที่ยังคงต่ำ
จากข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีในปี 2562 กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์ เพียงร้อยละ 80.3 และการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอทุกครั้ง ยังมีอัตราที่ต่ำมาก โดยเฉพาะการใช้ถุงยางอนามัยกับแฟนและคนรัก มีอัตราไม่ถึงร้อยละ 40 ดังนั้น จึงต้อง ย้ำให้มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคน ทุกช่องทาง เพื่อให้มีรักที่ปลอดภัย
นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคสนับสนุนให้วัยรุ่นและเยาวชน เข้ารับการตรวจคัดกรองเอชไอวีและซิฟิลิสแบบสมัครใจ โดยข้อมูลผู้รับบริการทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ เจ้าหน้าที่จะให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ ประเมินความเสี่ยง และตรวจคัดกรองหาเชื้อ โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว ใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็รู้ผล หากผลตรวจยืนยันเป็นบวกหรือติดเชื้อ จะได้รับการส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษาทันที หากผลเป็นลบหรือไม่พบการติดเชื้อ จะได้รับบริการส่งเสริมการป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย
ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดและประเมินความเสี่ยงได้ที่ Line Official Account “Buddy Square” ID Line : @549vhjtt นอกจากนี้ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้จัดบริการตรวจ คัดกรองโรคหนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส และเอชไอวี ฟรีตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค ชั้น 9 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2590-3291 และ 0-2286-2465
ขณะที่ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาให้ความเห็นถึงวันวาเลนไทน์ ว่า คู่รักหลายคู่อาจมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน แล้วมาใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์
ทั้งนี้การคุมกำเนิดมีหลากหลาย และมีข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การทำหมัน การใส่ห่วงอนามัย และการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด มีทั้งที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำแบบรายเดือนและยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเกิดความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเท่านั้น
ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นชนิดฮอร์โมนเดี่ยวมีส่วนประกอบของโปรเจสโตเจนปริมาณสูง มี 2 ขนาด คือ 0.75 มิลลิกรัม/เม็ด และ 1.5 มิลลิกรัม/เม็ด สามารถใช้ได้ 2 แบบ คือ 1.กินยาขนาด 0.75 มิลลิกรัม ให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ไม่เกิน 72 ชั่วโมง และกินเม็ดที่ 2 ภายใน 12 ชั่วโมงต่อมา และ 2.กินยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม ให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยทั้ง 2 แบบให้ผลไม่ต่างกัน
นพ.วิทิตกล่าวอีกว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจพบอาการข้างเคียงได้ ส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดท้องน้อย และความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมายาวนานขึ้น แต่หากพบอาการผิดปกติ หรือสงสัยภาวะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์
ทั้งนี้การใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกหนึ่งในการคุมกำเนิดที่ใช้สำหรับกรณีจำเป็น โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยกว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรายเดือน ทั้งนี้ ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้