นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนก.ค. 2566 เท่ากับ 107.82 เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.38% ปรับสูงขึ้นจากมิ.ย. 2566 ซึ่งอยู่ที่ 0.23% ผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.49% อาทิ ผักและผลไม้สด ไข่ ไก่ ข้าว เป็นต้น รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปราคาสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.38% จากราคาน้ำมันลดลง เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. 2566 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.01% ตามราคาสินค้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2566 สูงขึ้น 2.19% ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด 1.0-3.0%
“เงินเฟ้อก.ค. ที่สูงขึ้น 0.38% ขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา เพราะเนื้อสุกร และเครื่อง ประกอบอาหาร ราคาลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงราคาลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5”
นายพูนพงษ์กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ส.ค.2566 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยในกรอบแคบๆ ต่ำกว่า 1% ส่วนแนวโน้มอีก 5 เดือนที่เหลือคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 1% เช่นกัน ทำให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี ที่ 1-2% หรือค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมติฐาน จีดีพีขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 71-81 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 33.5-35 บาท/เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ยอมรับยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เงินเฟ้ออาจไม่เป็นไปตามคาด คือภัยแล้งอาจทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดน้อยและ ส่งผลกระทบต่อราคา รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มขยายตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปก และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีความตึงเครียดมากขึ้น หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงกระทรวงพาณิชย์จะมีการพิจารณาทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง ในเดือนก.ย. 2566