คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

แนวโน้ม การเมือง – ผู้คนมักคิดและสรุปว่ากลยุทธ์ “แตกแบงก์พัน” มีจุดเริ่มต้นจาก นายทักษิณ ชินวัตร

อาจจะเห็นจากการเกิดขึ้นของ 1 พรรคไทยรักษาชาติ อาจจะเห็นจากการเกิดขึ้นของ 1 พรรค ประชาชาติ อาจจะเห็นจากการเกิดขึ้นของ 1 พรรคเพื่อชาติ

ล้วนเป็นคนที่เคยอยู่ในร่มเงาของพรรคเพื่อไทย

และภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ไม่ว่าพรรคประชาชาติ ไม่ว่าพรรคเพื่อชาติ ก็ล้วนผนึกตัวอยู่ในแถวเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย เว้นก็แต่พรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบ

ทั้งๆ ที่คำว่า “แตกแบงก์พัน” มิได้งอกมาจาก นายทักษิณ ชินวัตร

แท้จริงแล้ว การประเมินกลยุทธ์ “แตกแบงก์พัน” เริ่มต้นมาจากในพรรคประชาธิปัตย์

เริ่มจากความเชื่อมั่นของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคซึ่งมีความเชื่อมั่นตั้งแต่อ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตั้งแต่ยังเป็นร่างอยู่ระหว่าง “ประชามติ”

ตามมาด้วยบทสรุปของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

จากนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ดำเนินกลยุทธ์ด้วยตนเองผ่านการจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยอันเป็นเส้นทางเดียวกันกับพรรคประชาชนปฏิรูปของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน

จึงเด่นชัดว่า ทุกฝ่าย ทุกกลุ่มล้วนแยกกันเดิน รวมกันตี

 

ยิ่งหากมองไปยังบรรดา “อดีต”พรรคประชาธิปัตย์ทั้งหลายยิ่งเห็นอย่างเด่นชัด

ไม่ต้องนับกลุ่ม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ต้องนับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ไปจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ขอให้ดู นายกรณ์ จาติกวณิช ที่แยกมาตั้งพรรคกล้า

ยิ่งกว่านั้น แม้ระยะหนึ่ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จะไปอยู่ในร่มธงแห่งพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ในที่สุดก็ลงหลักปักฐานผ่านพรรคไทยภักดีประเทศไทย

นี่จะต่างอะไรไปจากพรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งในปี 2566 ข้างหน้าจะเป็นการต่อสู้อันดุเดือด

กลุ่มหนึ่ง ย่อมแวดล้อมอยู่โดยรอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลุ่มหนึ่ง ยืนอยู่ตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ยังเป็นการต่อกรระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” ไม่แปรเปลี่ยน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน