คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ถาม นักเลือกตั้ง – ปฏิบัติการในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ แหลมคมในทางการเมือง

แหลมคมไม่เพียงเพราะพรรคพลังประชารัฐจับมือกับ 250 ส.ว.หักพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ว่า เพื่อไทย ไม่ว่าก้าวไกล ไม่ว่าเสรีรวมไทย ไม่ว่าประชาชาติ ไม่ว่าเพื่อชาติ ไม่ว่าพลังปวงชนไทย

อย่างไม่แยแส อย่างไม่สนใจไยดี

หากแม้กระทั่งความเรียกร้องต้องการของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ถูกมองเมินจากพรรคพลังประชารัฐ

ประการหลังนี้แหละที่ “แสบ” ไปถึง “ทรวงใน”

หากถามพรรคประชาธิปัตย์ว่าเหตุใดจึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

เสียงขานรับการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก 50 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเดือนกันยายน 2562 นับว่าดังกังวานสะท้านไปทั่วประเทศ

นั่นเพราะพรรคพลังประชารัฐยอมรับเงื่อนไขสำคัญ

เป็นเงื่อนไขสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐยอมบรรจุเอาไว้ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในเวลาต่อมา นั่นก็คือ นโยบายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แต่แล้วพรรคพลังประชารัฐก็ตอบแทนพรรคประชาธิปัตย์อย่างสาสม

ต้องยอมรับว่ากระแสเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกระแสที่ขึ้นสูง

หากไม่ขึ้นกระแสสูง พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยืนยันในมติพรรค หากไม่ขึ้นกระแสสูง พรรคภูมิใจไทยก็ดี พรรคชาติไทยพัฒนาก็ดี ก็เล่นบท “เกี๊ยะลอยตามน้ำ” ไปก็ย่อมจะได้

แต่คราวนี้เล่นบทเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์

เป็นการเล่นอย่างเป็น “มติพรรค” มือที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐปรากฏขึ้นอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำให้เสียงที่คัดค้านเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

แต่ที่ต้องพ่ายแพ้ก็เพราะ 250 ส.ว.มาชี้ขาด

ไม่ว่าในที่สุด ทิศทางของ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” จะดำเนินไปอย่างไร

กระนั้น การลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ก็มีลักษณะในทางประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นธาตุแท้ของพรรคพลังประชารัฐ ของ 250 ส.ว.อย่างไม่ปิดบังอำพราง

นี่ย่อมท้าทายต่อ“จิตวิญญาณ” ประชาธิปไตยเป็นอย่างสูง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน