คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

บทบาท ของสื่อ กับ #ม็อบ20มีนาคม ข้อมูล ความจริง – แท้จริงแล้ว พรมแดนแห่งการต่อสู้ไม่ว่าทางความคิด ไม่ว่าทางการเมืองได้เข้าสู่แนว “ใหม่”

ที่บอกว่าปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 คือ การสร้างปรากฏการณ์ “ใหม่” ในการเคลื่อนไหว

ถูกต้องอย่างยิ่ง ถูกต้องอย่างที่สุด

มิใช่เพราะว่าในที่สุดได้นำไปสู่ปรากฏการณ์ม็อบไร้แกนนำ ม็อบไร้เวที ไร้การปราศรัยเหมือนที่เห็นๆกันนับแต่สถานการณ์ #ม็อบ28กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา

หากแต่เพราะการเคลื่อนไหวได้เปิด “พรมแดน” ใหม่ “พื้นที่” ใหม่

จากสถานการณ์ #ม็อบ20มีนาคม ได้ดึงเอา “สื่อมวลชน” เข้ามาเป็น “คู่”ของความขัดแย้งเด่นชัด

สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็น “สื่อเก่า” อย่างหนังสือพิมพ์ อย่างโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น “สื่อใหม่” อย่างสื่อออนไลน์ อย่างสื่อยูทูบ ล้วนถูกลากให้มาเป็นคู่กรณีอย่างแหลมคม

จะปฏิเสธได้อย่างไร เมื่อ “นักข่าว” ถูกยิง

จะปฏิเสธได้อย่างไร เมื่อหน่วยควบคุมฝูงชนจะเปิดปฏิบัติการ “เข้ม” ก็จะต้องมีมาตรการกัน “สื่อ” ออกไปจากพื้นที่ปฏิบัติการทุกคราวไป

ตรงนี้แหละคือจุดเริ่มต้นแห่งการปะทะอันแหลมคม

เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจะ “ผูกขาด” ข้อมูลและความเป็นจริง

เพราะทันทีที่ออกมาจากโฆษกรัฐบาล ออกมาจากโฆษกตำรวจ บทบาทและความหมายก็จะถูกตีตราโดยฉับพลันทันใดว่าเป็นข้อมูล “ด้านเดียว”

แล้วก็ถูกสวนกลับจาก “ข้อมูล” ในอีกด้าน

กล่าวสำหรับประชาชนซึ่งอยู่ในฐานะผู้เสพสื่อจะกำหนดบทบาทและท่าทีอย่างไร เมื่อประสบเข้ากับข้อมูลจากตำรวจ ข้อมูลจากสาธารณะ ณ สะพานวันชาติในคืนเดียวกัน

พลันที่ปราการแห่งข้อมูลถูกพังทลาย “ความจริง” ก็ปรากฏ

เส้นแบ่งอย่างมีนัยสำคัญ นั่นก็คือ เส้นแบ่งจากสถานการณ์ #ม็อบ20มีนาคม

ระหว่างถ้อยแถลงของทางการกับถ้อยแถลงของสมาคมและองค์กรสื่อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “สื่อ” ที่อยู่ในเหตุการณ์พบเห็นด้วย 2 ตาของตน

ยากเป็นอย่างยิ่งที่ใครจะสามารถ “โกหก” ได้อีกแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน