หลักฐานหาย

 

บทบรรณาธิการ

คดีเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ยังคงอึมครึมและเป็นความคับข้องใจให้ครอบครัวญาติมิตรของ ผู้ตายไปจนถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก

คดีดังกล่าวปรากฏข้อความอยู่ในรายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการสำรวจสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นหนึ่งในการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ต้องสงสัย

ล่าสุด สำนักงานเลขานุการกองทัพบก มีหนังสือลงวันที่ 6 ส.ค.2561 ส่งถึงทนายความของญาติผู้ตายว่า ไม่พบภาพใดๆ ในวันเกิดเหตุ

แม้ผู้เกี่ยวข้องระดับบังคับบัญชาในกองทัพเคยกล่าวผ่านสื่อว่าได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วเห็นว่าทหารทำสมเหตุสมผลในการยิงป้องกันตัว

คําถามที่ทิ้งค้างและทำให้สังคมคลางแคลงใจคือหลักฐานที่มีคนบอกว่าได้ดูแล้วจากกล้องวงจรปิด หายไปไหน หายไปได้อย่างไร หน่วยงานใดทำหาย

เมื่อกองทัพระบุว่าได้ส่งมอบภาพวงจรปิดในวันเกิดเหตุให้กับพนักงานชั้นสอบสวนของตำรวจเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลแล้ว จึงไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้

เมื่อการทวงถามภาพดังกล่าวข้ามมาถึงปี 2561 กลับไม่พบภาพข้อมูลใดๆ ในวันที่ 17 มี.ค.2560 ฝ่ายกองทัพระบุเพียงว่า ไม่พบอยู่แล้วเพราะไม่มีกล้องติดตั้งตรงจุดเกิดเหตุ

ขัดแย้งอย่างยิ่งกับความเห็นผู้นำกองทัพภาคเมื่อปี 2560 กล่าวถึงการชมภาพแล้วว่า “ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ก็ได้”

การให้ความสนใจในคดีนายชัยภูมิ ป่าแส ของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องปกป้องคนผิด ไม่ใช่การเห็นใจคนร้ายมากกว่าเหยื่อ อย่างที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนมักถูกโจมตี

แต่เป็นการตั้งคำถามและเตือนสติ ว่าชีวิตคนมีค่าและไม่ควรถูกสังหารเอาชีวิตที่ไหนเมื่อใดก็ได้ เพียงเพราะเจ้าหน้าที่รัฐใช้ข้ออ้างว่าต้องปฏิบัติหน้าที่

คำแถลงขององค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดทางภาคเหนือมีหลายคนที่ถูกสังหาร เพราะมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น

ที่น่าวิตกก็คือแต่ละคดีนั้นมีหลักฐาน ชิ้นสำคัญหายไปอีกเท่าใด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน