“หึงโหด” คดีที่สังคมไทยให้ความชอบธรรม

เรื่องโดย จินตามาศ ศักดิ์ศรชัย

ในวิดีโอเทปประกอบคำรับสารภาพ ธนกฤต ประกอบ หรือ “วุธ” กล่าวกับตำรวจถึงรายละเอียดเหตุการณ์ในวันที่เขาลงมือสังหาร ลักษณา กำลังเก่ง หรือ “เมย์” ผู้หญิงที่เขาประกาศตนว่ารักสุดหัวใจ

สามสัปดาห์หลังจากที่ลักษณาโทรศัพท์มาบอกเขาว่าเธอกลับไปอยู่กินกับสามีเก่าแล้ว ธนกฤตคว้าค้อนกระหน่ำตีเข้าที่ศีรษะของเธอขณะที่เธอกำลังเก็บข้าวของของเธอที่ห้องของเขา หั่นร่างของเธอออกเป็น 14 ชิ้นและนำใส่กระสอบออกไปทิ้งไว้ในป่าในเขตคลองสามวาของกรุงเทพฯ

น่าเศร้าที่โศกนาฏกรรมเช่นนี้กลับเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งตามข่าวรายวัน และดูเหมือนจะสร้างความชาชินว่ามันเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ไปเสียแล้ว

ชายคนหนึ่งถ่ายวิดีโอเฟซบุ๊กไลฟ์ขณะกำลังทุบตีแฟนสาวจนยับเยิน อีกรายหนึ่งเดินเข้าไปในโรงพยาบาลจังหวัดนครปฐมและยิงภรรยาที่เพิ่งคลอดลูกอ่อนให้เขาและพ่อตาเสียชีวิตก่อนจะยิงตัวตายตาม ชายอีกคนในจังหวัดชุมพรทุบตีภรรยาและพยายามจะจับเธอแขวนคอต่อหน้าลูกๆ ของพวกเขา

กรณีเช่นนี้มักได้รับการบรรยายว่าเป็นคดี “หึงโหด” จากความเกรี้ยวกราดของชายเหล่านี้ต่อภรรยาหรือแฟนสาวของพวกเขา

เดือนมิถุนายนดูเหมือนจะเป็นเดือนที่มีข่าวเช่นนี้เกิดขึ้นถี่เป็นพิเศษ เมื่อรวมกับคดีฆาตกรรมแฟนสาวของนายธนกฤตแล้ว ในเดือนดังกล่าวมีรายงานข่าวผู้หญิงที่ถูกฆ่าหรือทำร้ายโดยแฟนหรือสามีอย่างน้อย 25 ข่าว เรียกได้ว่าเกิดขึ้นแทบจะรายวัน โดยในบางวันนั้นมีรายงานข่าวเช่นนี้มากกว่า 1 ครั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ความรุนแรงภายในครอบครัวนั้นมีความเกี่ยวพันทับซ้อนอยู่กับค่านิยมปิตาธิปไตยที่ยังคงหยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทย และในขณะนี้ มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไม่มากนักที่ทุ่มเทกำลังต่อต้านวัฒนธรรมซึ่งเพิกเฉย หรือแม้กระทั่งส่งเสริมการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่ารายงานข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงภายในครอบครัวดูจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นผิดปกติจริง แต่ปัจจัยหลักนั้นเกิดมาจากปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน ซึ่งรอเพียงจังหวะเวลาที่จะระเบิดออกมาเท่านั้น

อังคณามองเห็นว่าจำนวนข่าวที่พุ่งสูงอาจเป็นเพราะสื่อให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวเช่นนี้มากขึ้น และมีผู้หญิงกล้าที่จะออกมาพูดถึงปัญหานี้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

“สาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงดำรงอยู่คือความไม่เท่าเทียมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังมีการใช้อำนาจที่เหนือกว่าต่อกัน ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ รู้สึกว่าจะใช้ความรุนแรงต่อคู่ของเรายังไงก็ได้” อังคณากล่าว

การจะระบุจำนวนที่แน่นอนของผู้หญิงไทยที่ถูกกระทำรุนแรงโดยคู่ของตนนั้นยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการเก็บสถิติที่น้อยและไม่ครอบคลุม รวมถึงผู้ถูกกระทำนั้นยังมีแนวโน้มที่จะเก็บเรื่องเช่นนี้ไว้เป็นความลับ

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีความพยายามจะแสดงให้เห็นปัญหานี้ด้วยการรวบรวมจำนวนผู้หญิงที่มาขอความช่วยเหลือจากศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข โดยในปี 2559 มีผู้หญิงรายงานว่าถูกกระทำความรุนแรงถึง 18,919 คน สูงขึ้นจากตัวเลขเมื่อปี 2556 และ 2555 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีจำนวน 12,637 และ 10,869 คนตามลำดับ

 

ผู้ร้ายกลับใจ

ตามรายงานข่าว ชายเหล่านี้มักอ้างว่าตนลงมือทำร้ายหรือฆาตกรรมคู่รักของตนเพราะขาดสติจากอาการหึงหวง คดีที่ปรากฏในรายงานข่าวเดือนมิถุนายนส่วนมากอ้างถึงความแค้นเนื่องจากเรื่องชู้สาว การเลิกราหรือถูกปฏิเสธการง้องอนขอคืนดี

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ชายสองคนชักปืนยิงอดีตแฟนสาวจนเสียชีวิตในที่สาธารณะและยิงตัวตายตาม เนื่องจากหญิงทั้งสองคนปฏิเสธที่จะคืนดีด้วย สี่วันหลังจากนั้น ชายอีกสองคนฆาตกรรมภรรยาของตนและกล่าวกับตำรวจว่าคนมีอาการหึงหวงกลัวว่าภรรยากำลังนอกใจ

แต่การ “หึงโหด” นั้นเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ของปัญหานี้เท่านั้น เมื่อได้พูดคุยกับผู้ชายซึ่งเคยใช้ความรุนแรงกับคู่ของตนแล้ว พวกเขาต่างอธิบายถึงชีวิตที่เหลวแหลกของตนที่ถูกหล่อหลอมจาก “ความเป็นลูกผู้ชาย” และความเชื่อว่าผู้หญิงไม่สมควรจะมีปากเสียงใดๆ กับตนทั้งสิ้น

อำนาจ แป้นประเสริฐ หนึ่งในนักกิจกรรมจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าก่อนที่เขาจะเข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิเมื่อ 5 ปีก่อน เขาเคยติดเหล้าและมักดื่มจนเมามายอยู่ในทุกๆ วัน ซึ่งในคืนหนึ่งนั้น เขาเกือบบีบคอภรรยาจนขาดใจตายเพียงเพราะทะเลาะกันเรื่องก๋วยเตี๋ยวถุงหนึ่งเท่านั้น

อำนาจ แป้นประเสริฐ

“วันนั้นทะเลาะกันเรื่องก๋วยเตี๋ยวหนึ่งถุง เค้าไม่เทก๋วยเตี๋ยวให้ผม ผมฟิวส์ขาด” อำนาจเล่าถึงเหตุการณ์ในคืนนั้น “ผมทำจนแบบ บีบคอจะให้ขาดใจตาย จนแวบนึงขึ้นมาถึงปล่อย วันนั้นถ้าไม่ปล่อยนี่เค้าตายแน่”

และนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่อำนาจใช้ความรุนแรงกับภรรยาของเขา เขากล่าวว่าชีวิตแต่งงานของเขามีปัญหามาตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากทั้งตัวเขาและภรรยาต่างติดยาเสพติด ก่อนจะเปลี่ยนมาติดเหล้าในภายหลัง ซึ่งเขามองว่าเป็นสิ่งทำให้เรื่องทุกอย่างเลวร้ายลงไปกว่าเดิม

“พอเลิกยาเราก็กลับมากินเหล้า ทีนี้หนักเลย พอกินเหล้ามากๆ ตีสามตีสี่เราซื้อกับข้าวมาถุงนึงจะเอามาให้เค้าเทให้กิน ก็ไปกวนเค้าใหญ่ เค้าด่าเราก็ตี ทั้งเตะ อะไรใกล้มือเอาหมด ทำมาหลายปีอยู่ เหล้านี่ยิ่งกว่ายานะ เรื่องศักดิ์ศรีด้วย แบบ มึงเป็นเมียกูนีหว่าทำไมต้องมาอะไรแบบนี้” อำนาจกล่าว

ในปัจจุบัน อำนาจเปลี่ยนแปลงจากผู้ใช้ความรุนแรงเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อส่งเสริมความตระหนักและเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงภายในครอบครัวและสิทธิสตรีอย่างจริงจัง

อำนาจไม่ใช่ผู้ชายเพียงคนเดียวที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนและหันมาเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิง องค์กรจำนวนเล็กๆ จำนวนหนึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีเพื่อพยายามแก้ไขปัญหานี้ถึงในระดับรากตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ในวิธีที่พวกเขากล่าวว่าได้ผลเป็นอย่างดีแม้จะเชื่องช้าและยังไม่สามารถแพร่ขยายในวงกว้างได้ก็ตาม

พรณรงค์ ปั้นทอง นักกิจกรรมส่งเสริมสิทธิสตรีรุ่นลายครามวัย 52 ปี กล่าวว่าเขาเคยติดเหล้าอย่างหนักและทุบตีภรรยาทุกครั้งที่เขารู้สึก “ไม่พอใจ” กับการกระทำของเธอ

“ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น กินเหล้าอย่างน้อยวันละขวด พอกินเหล้าเสร็จกลับบ้าน เงินไม่พอขอภรรยา ไม่ให้ก็ทำร้ายเค้า จะเอาเงินอย่างเดียวเพื่อไปกินต่อ” พรณรงค์เล่า “เราคิดว่าเค้าไม่มีสิทธิมาห้ามเรา เราจะทำอะไรก็ได้ ตังค์เค้าเราก็เอา เพราะคิดว่าเป็นสิทธิของเรา อยู่กับเราก็ต้องทำตามเรา”

พรณรงค์เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเขายังจำได้เป็นอย่างดี

“ช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังไปดื่มกับเพื่อนฝูง จะไปต่อกันแต่เงินไม่พอก็กลับไปเอาที่บ้าน ภรรยาก็ห้ามเพราะเห็นเมาแล้ว” เขากล่าว “พอห้ามเราก็หลังมือ เค้ากระเด็นไปติดข้างฝาแล้วล้มลง เราก็ขับออกไปกับเพื่อนจนสว่างถึงกลับ เราไม่เคยถามว่าเค้าเป็นยังไงบ้าง”

พรณรงค์ ปั้นทอง

ก่อนจะแต่งงานกับภรรยาเมื่อ 26 ปีที่เล้า พรณรงค์กล่าวว่าเขาเป็นเสือผู้หญิงตัวยงและคิดว่าตัวเองสามารถทำอะไรกับผู้หญิงได้ตามแต่เขาจะต้องการ

“ช่วงนั้นถือคติว่าผู้หญิงเป็นขนมหวาน จะไปหยิบมากินเมื่อไหร่ก็ได้ บางครั้งมันได้มาง่ายๆ” เขากล่าว “ถ้ายุ่งเกี่ยวกันแล้วคือเป็นสมบัติเรา ไปยุ่งกับคนอื่นไม่ได้”

ผู้ร้ายกลับใจเหล่านี้มักกล่าวถึงความรู้สึกขาดและไม่มั่นคงในจิตใจของตน ซึ่งยิ่งขับเคลื่อนให้การกระทำเหยียดเพศของพวกเขามีความรุนแรงยิ่งขึ้น

“ถ้าชอบใครแล้วก็ทำทุกวิถีทางให้ได้เค้ามา ไม่ได้ก็จะเสียศักดิ์ศรี ถ้าพูดหวานๆ แล้วไม่ได้ก็ใช้วิธีบังคับ ถ้าเค้าไม่เอาด้วยก็ลากเค้าไปเลย” พรณรงค์เล่าถึงพฤติกรรมของเขาสมัยยังเป็นวัยรุ่น “เพื่อนฝูงในวงเดียวกันจะคล้ายๆ กัน มีการแข่งเก็บสถิติด้วย ถ้าไปชอบใครก็จะมีแข่งกันว่าใครจะได้ฟันก่อน พอคนนึงได้แล้วก็จะมีการเปลี่ยนถ่าย”

พรณรงค์ดูลังเลเล็กน้อยเมื่อถูกขอให้ขยายความคำพูดดังกล่าว และกล่าวต่อเพียงว่า “พอเป็นสมบัติเราแล้วเราจะยกเขาให้ใครก็ได้”

เมื่อถามว่าเหตุใดพวกเขาจึงสามารถใช้ชีวิตเช่นนั้นโดยไม่เคยถูกลงโทษหรือห้ามปรามใดๆ พรณรงค์กล่าวว่าเป็นเพราะ “สมัยก่อนคนก็ไม่ยุ่งไม่สนใจ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนไทยที่มักถูกปลูกฝังไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในครอบครัวของคนอื่น แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่กัดกร่อนทำร้ายผู้หญิงเหล่านี้ด้วยการส่งเสริมความรุนแรงในทางอ้อมก็ตาม

ถอนรากความรุนแรง

ค่านิยมชายเป็นใหญ่ของสังคมไทยถูกสะท้อนผ่านสำนวนสุภาษิตต่างๆ เช่น “สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง” ซึ่งถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่การลดทอนบทบาทและอำนาจของผู้หญิงในสังคม

เด็กผู้ชายมักได้รับการสั่งสอนให้แสดงกำลัง ได้รับอนุญาตให้เล่นแรงๆ หรือเสียงดังได้ สังคมจึงมักมองข้ามว่าเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้น สิ่งที่พวกเขาได้รับการปลูกฝังมาดังกล่าวนั้นสามารถแปรสภาพออกมาเป็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น และผู้หญิงที่ร้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจกล่าวว่าพวกเธอมักถูกปฏิเสธ บอกให้ไลก่เกลี่ยกันและก้มหน้ารับสภาพเช่นนั้นต่อไป

การเปลี่ยนทัศนคติที่ฝังลึกเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่อังคณาประสบมาระหว่างเวลาเกือบ 20 ปีในการทำงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ เธอเชื่อว่าการศึกษาและกระบวนการบำบัดทางความคิดที่ยาวนานและซับซ้อนนั้นมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

นอกจากอาจไม่ได้รับการตอบสนองแล้ว การบุกเข้าไปสั่งสอนว่าการกระทำของพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่ผิดน่าจะสร้างการต่อต้านอย่างรุนแรงอีกด้วย ทางมูลนิธิจึงต้องคิดหาวิธีอื่นเพื่อพัฒนาสถานการณ์ในชุมชนต่างๆ ที่พวกเขาเข้าไปเยี่ยมเยือนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ของมูลนิธิจะมีกระบวนการของการเข้าไประดับนึง แต่ไม่ใช่ทำให้มันต่างจากวิถีชีวิตของเค้า ต้องเนียนๆ การแทรกเรื่องความรุนแรงต้องไม่ใช้ศัพท์ใหญ่โต คำวิชาการ ต้องใช้ภาษาเดียวกันกับเค้า ทำให้ไม่รู้สึกว่าไปกระทบศักดิ์ศรีความเป็นลูกผู้ชายของเค้า อันนี้สำคัญ ถ้าไปชี้ว่านู่นนี่ก็เป็นเรื่อง” อังคณากล่าว

การพูดถึงสาเหตุเบื้องหลังความรุนแรงในเชิงเศรษฐกิจ อัตลักษณ์และความเท่าเทียมทางเพศอย่างลอยๆ จะไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลมากมายนัก ทางมูลนิธิจึงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงด้วยการชักชวนให้คนเลิกดื่มเหล้า ซึ่งถือเป็นสิ่งที่กระตุ้นความรุนแรงที่คนทั่วไปเข้าถึงได้มากที่สุด

“เราใช้เหล้าเป็นเครื่องมือในการทำงานกับผู้ชาย เราเชื่อว่าแนวคิดชายเป็นใหญ่มันเป็นสาเหตุหลักอยู่แล้ว แต่การทำงานกับผู้ชายต้องมีเครื่องมือ เพราะหลายคนไม่เข้าใจหรอกว่าระบบคิดชายเป็นใหญ่คืออะไร” อังคณากล่าว “พอเค้าเข้าใจ เพราะลดละเลิกเหล้า มูลนิธิก็จะทำให้เค้าเข้าใจเรื่องเพศ เรื่องบทบาทหญิงชาย และเรื่องอื่นๆ มากขึ้น เค้าก็จะเป็นพลเมืองที่ไปต่อยอดเรื่องอื่นได้”

มูลนิธิจะใช้สถานการณ์ทางการเงินเป็นแรงกระตุ้น อธิบายกว่าการเลิกเหล้าจะช่วยให้พวกเขามีเงินเก็บมากขึ้น นำไปสู่ชีวิตที่สุขสบายขึ้น เมื่อชายเหล่านี้ตกลงใจเลิกเหล้า พวกเขาจะได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกระบวนการให้ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายอบรม การประชุมกลุ่มหรือการให้คำปรึกษาตัวต่อตัว เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิสตรีภายในชุมชนให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งอำนาจและพรณรงค์ต่างเคยเข้าร่วมโครงการเช่นนี้ แม้จะใช้เวลาหลายปี แต่ในขณะนี้พวกเขามีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขขึ้น และได้รับแรงบันดาลใจมากพอจะลุกขึ้นมาทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงด้วยตัวเองอีกด้วย

อำนาจผู้เคยเกือบจะฆาตกรรมภรรยาเพราะก๋วยเตี๋ยวหนึ่งถุง ในขณะนี้ทำงานเต็มเวลาให้กับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในบ้านเกิดของเขาที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เขากล่าวว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังเข้าร่วมโครงการของมูลนิธิเมื่อ 5 ปีก่อน

“ตอนมูลนิธิเค้ามาเข้าไม่ได้บอกว่าให้เราลดความรุนแรง ให้มาวิเคราะห์ดูว่าในชุมชนเราเนี่ยมีมั้ย ทีแรกเราก็มองว่าทำไม เค้าตีกันเดี๋ยวก็คืนดีกัน” อำนาจกล่าว “ถ้ามูลนิธิไม่เข้ามาในชุมชนผมก็ตีกันประจำ เรารู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องผัวเมีย แต่พอเข้ามาพัฒนาไปเรื่อยๆ เราก็เห็นภาพ”

ถึงจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อำนาจกล่าวว่าการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาไม่เคยคิดจะทำมาก่อน เช่นการช่วยภรรยาทำงานบ้าน ทำให้เขาค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองของตัวเองไป และกล่าวว่าเขากับภรรยาไม่ได้ทะเลาะกันมามากกว่าปีหนึ่งแล้ว

“ผู้ชายส่วนใหญ่ลืมนึกไปว่าผู้หญิงเหนื่อยเยอะแยะมากมาย คิดแค่ว่าตัวเองออกไปทำงานเหนื่อยแล้ว แล้วคิดว่าผู้หญิงแต่งงานแล้วก็เป็นของฉัน ฉันจะทำอะไรเธอก็ได้ แล้วสังคมก็ไม่ช่วยนะ เห็นคนตีกันไม่มีใครเข้าไปช่วยหรอก แต่ทำไงให้ผู้หญิงที่โดนทำร้ายร่างกายลุกขึ้นออกมาส่งเสียง ให้รู้สึกว่ายังมีคนที่จะคอยช่วยเหลือคุณอยู่ พอเงียบก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็เกิดความสูญเสีย ผู้หญิงบางทีไม่กล้าลุกขึ้นมาเพราะต้องพึ่งพาผู้ชายอยู่ เรื่องเงินทองบ้านช่อง ถ้าออกมาจะเอาอะไรกิน” อำนาจกล่าว

พรณรงค์ซึ่งทำงานอยู่ที่หมู่บ้านคำกลาง จังหวัดอำนาจเจริญ อันถือเป็นชุมชนแรกๆ ที่มูลนิธิเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นชุมชนตัวอย่างให้กับโครงการนี้ กล่าวว่าการที่ตัวเขาเองเคยเป็นคนติดเหล้าที่ชอบใช้ความรุนแรงมาก่อนและเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองไปได้อย่างแท้จริง ทำให้เขามีความเข้าอกเข้าใจความคิดของผู้ชายคนอื่นและรู้วิธีเกลี้ยกล่อมพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพ

“ผมเองก็ปีสองปีกว่าจะเปลี่ยนได้ คนรอบข้างเค้ามองเห็นเค้าก็เปลี่ยนเองโดยที่เค้าไม่รู้ตัว เค้าซึมจากเราไป นอกจากคนดื่มหนักจริงๆ ลูกเมียอยากให้เราช่วยก็ใช้วิธีเพื่อนช่วยเพื่อน ล้อมวงคุยกัน ให้คนที่เลิกแล้วคุยให้ฟัง เลิกแล้วเป็นยังไง ให้คนที่ดื่มเนี่ยได้คิด” พรณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังตั้งศูนย์จัดหางานเพื่อช่วยให้พวกเขามีรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากปัจจัยทางการเงินนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่มากระตุ้นความรุนแรงในครอบครัวด้วย

“พอทำโครงการปลอดเหล้าไปได้ระยะนึง ก็มารู้ว่ามันก็ไม่ใช่ต้นเหตุจรืงๆ ในเรื่องความุรนแรง พอมาศึกษา ปัญหาหลักคือเศรษฐกิจ เรื่องรายได้ ทำให้เป็นปากเสียงกันบ่อยๆ หลังจากชวนเลิกเหล้าแล้ว ถ้าไม่มีอาชีพเขาก็หันกลับมาใช้ความรุนแรงกันอีก” พรณรงค์กล่าว

พรณรงค์ยังเป็นหนึ่งในแกนนำที่เรียกร้องและผลักดันจนกระทั่งเกิดการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเมื่อปี 2550 อีกด้วย และเขาเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อังคณาเชื่อว่า ผู้ร้ายที่กลับตัวกลับใจได้เหล่านี้สามารถกลายเป็นนักกิจกรรมที่ทรงพลังและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด เนื่องจากพวกเขามีมุมมองและความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่ใกล้ชิดและพิเศษมากกว่าคนทั่วไป

“บางคนที่เปลี่ยนได้แล้วเราอยากให้ออกมาทำแบบนี้ แล้วมันจะเห็นพลังของคนตัวเล็กตัวน้อย เงื่อนไขของการเปลี่ยนนโยบาย กฎหมาย มันมาจากคนเล็กคนน้อย เราไม่เชื่อว่ามันเกิดมาจากคนชั้นกลางหรือชั้นสูงที่อยากแก้มัน” อังคณากล่าว “เราจะเห็นว่าทำไมจุดเริ่มแค่ในหมู่บ้านเล็กๆ ทำให้ทั้งจังหวัดเปลี่ยนได้”

……………

อ่านรายงานที่เกี่ยวข้อง :

หรือทัศนคติเรื่องผัวเมียคือการฆาตกรรมทางอ้อม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน