บทบาทกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

บทบาทกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง – กรณี บิ๊กแดงพล..อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พููดถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 .. ทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย และตั้งข้อสังเกตุว่าอาจมีใบสั่งจากฝ่ายใดหรือไม่

ขณะที่นักวิชาการมองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการออกมาเคลื่อนไหว

วันวิชิต บุญโปร่ง

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งใช้เงื่อนไขที่รัฐบาลได้แสดงความ ไม่ชัดเจนต่อสถานการณ์ทางการเมือง เอาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต คือการเลื่อนเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลนี้ตลอด 5 ปี เลื่อนมาแล้ว 6 ครั้ง สัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งในปีนั้นปีนี้ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลประกาศ

ทำให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเกิดสภาวะความไม่เชื่อมั่น ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อไหร่ เป็นที่มาของการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การกดดัน การแสดงข้อเรียกร้องต่างๆไปยังกกต. หรือแม้แต่ผู้คนในสังคมให้เห็นการแสดงออก

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีความใกล้ชิดแนบแน่นกับพรรคการเมืองที่ตรงข้ามกับรัฐบาล

ส่วนมีใบสั่งจริงหรือไม่ ผมมองว่าที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมักมองว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จะเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองที่มีความแนบแน่นอยู่แล้ว

ทำให้ฝ่ายความมั่นคงคิดว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งเหมือนมีความใกล้ชิด เคลื่อนไหวสอดรับกับพรรคการเมืองที่ตัวเองนิยมชมชอบอยู่ด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายความมั่นคงจะอนุมานในเบื้องต้นได้เพียงกรอบเท่านี้

หากประเมินถึงความพอเหมาะ พอดี ของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ผมมองว่าท้ายที่สุดกลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องไป แสดงความกดดันที่กกต. ไม่ใช่ไปใช้พื้นที่เชิงสัญลักษณ์ของการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ทำให้ประชาชนในส่วนอื่นๆเกิดความไม่สบายใจ

ฉะนั้น ความชอบธรรมที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งควรแสดงออกมากที่สุด คือการไปเรียกร้องต่อผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง คือกกต.ภาพจึงจะออกมาดูเหมาะสมมากที่สุด

แต่ถ้าไปเรียกร้องหรือระดมมวลชน สถานการณ์แบบนี้นำไปสู่การถูกกล่าวหา และการถูกให้ร้ายได้ ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะสุดท้ายจะถูกลดทอนความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเอง

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังเชื่อว่าความวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่กกต.จะได้แสดงออกซึ่งความชัดเจนต่อสังคม ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันที่เท่าไหร่

ความชัดเจนของกกต.จะกำหนดสถานการณ์ บรรยากาศทางการเมืองไทยมากกว่า

 

โคทม อารียา

ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นปฏิกิริยาที่เริ่มตั้งแต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เข้าไปพบกกต. เพื่อชี้แจงรายละเอียดต่างๆถึงความเหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง ว่าควรเป็นช่วงเวลาใด ทำให้กำหนดการรวนไปหมด และออกมาพูดในเชิงกระบวนการทางกฎหมาย

ผมจึงเข้าใจว่าคนที่ไม่ค่อยจะสนิทใจนักกับกระบวนการเหล่านี้ คงอยากให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เหมาะสมหรือไม่นั้น ผมเห็นว่าไม่ว่าใครจะออกมาแสดงความเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็เป็นเพียงความเห็นของบุคคลนั้น คนอื่นไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย เพราะทุกคนมีเหตุผลความคิดของตัวเอง

ดังนั้น ถือว่าเคารพเหตุผลซึ่งกันและกันจะดีที่สุด

ในเมื่อข้อเรียกร้องให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปบอกว่ามีเหตุผล ผมก็พยายามจะฟังนายวิษณุ เป็นลำดับมาก็ยังไม่เห็นเหตุผลความจำเป็นเลย

แทนที่จะบอกว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีเหตุผลหรือไม่ ก็อาจจะถามกลับไปว่า แล้วการเคลื่อนไหวที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป อะไรคือเหตุผล เพราะเขาก็อธิบายได้ไม่ชัดเจนเหมือนกัน

เมื่ออธิบายไม่ชัดเจน ผมก็ดูที่เหตุก่อน ผลที่ตามมาคือคนเกิดความสงสัยทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ฝ่ายหนึ่งบอกไว้ใจผมเถอะ โดยบอกว่าตัวเองมีเหตุผลต่างๆนานา ที่ทำให้การเลือกตั้งที่คราวแรกคิดว่าจะจัดขึ้นโดยเร็ว บอกว่าจะเลือกตั้งปีนั้นปีนี้ก็หลายปีแล้ว ความไว้วางใจก็กร่อนลงไป

แต่ที่จริงทั้งหมดหากดูตามข้อกฎหมาย เป็นหน้าที่ของกกต. ซึ่งกกต.ควรออกมาพูดหรือชี้แจงให้มาก ทุกคนรอฟังกกต.เพราะน่าจะเหมาะที่สุด

เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อขัดแย้งระหว่างนายทหารคนหนึ่งคนใดกับคนนั้นคนนี้หรือกับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ปล่อยให้กกต.ทำหน้าที่ไป

หากอธิบายได้สมเหตุสมผลก็ยอมรับ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลก็ไม่ได้รับการยอมรับ เราต้องเฝ้าดูกกต.ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ไม่ใช่รัฐบาล ข้าราชการ หรืออื่นๆ

ส่วนเสียงวิจารณ์ว่ามีใบสั่งให้ออกมาค้านการเลือกตั้งนั้น ก็พอๆกัน หากสงสัยได้ว่ามีใบสั่งให้ค้านการเลื่อนหรือไม่ ผมก็สงสัยได้ว่ามีใบสั่งให้เลื่อนได้เหมือนกัน สรุปแล้วคือไม่มีใครทราบว่ามีหรือไม่มีใบสั่ง

ขณะที่การเคลื่อนไหวขณะนี้จะทำให้เกิดความวุ่นวายจนการเลือกตั้งจะขยับเลยกรอบ 150 วันหรือไม่ ผมเห็นว่าการกำหนดเรื่อง 150 วัน เป็นข้อกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม

คนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่างหากที่ต้องกลัวผลกระทบ

 

วิโรจน์ อาลี

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การบอกว่าม็อบรับใบสั่งมาชุมนุมนั้น ทำให้รู้สึกว่านี่คือการ กล่าวหากัน ถือว่าไม่ยุติธรรมกับประชาชนสักเท่าไร ทำให้หลายฝ่ายที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านต่างพากันสงสัยในจุดยืนของกองทัพและคสช.ตามไปด้วย

หากว่ากันตามตรงถ้ามีข้อสงสัยเรื่องรับงาน รับใบสั่งมาชุมนุมแล้วมีหลักฐานว่าจะเกิดปัญหากลายเป็นภัยความมั่นคงก็ควรดำเนินคดีตามกฎหมาย

ไม่ควรให้ข่าวดิสเครดิตกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่มาชุมนุมแสดงออกคัดค้าน ตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยเหตุผลในการคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องกำหนดวันมาหลายปีแล้ว

ผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวจึงเป็นลบกับฝั่งกองทัพ และคสช.มากที่สุด

ยิ่งล่าสุดโฆษกคสช.ออกมาโจมตีอีกว่า ภาวะประชาธิปไตยบกพร่อง ก็ยิ่งเป็นการขยายปมให้บานปลายเข้าไปอีก จึงอยากให้กองทัพรักษาสมดุลตามบทบาทหน้าที่ของตนเองให้ดี ในแง่ของความเป็นกลางตามที่ผบ.ทบ.เคยระบุไว้ ก็ต้องพยายามอย่าหลุดกรอบตรงนั้น

จริงอยู่แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพื่อนำไปสู่การกำหนดวันเลือกตั้ง แต่บรรยากาศทางการเมืองที่คสช.ปลดล็อกตามคำสั่งคสช.ไปแล้ว ก็ควรเปิดพื้นที่ให้ทั้งพรรคการเมือง และประชาชน แสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี

มิเช่นนั้นท่าทีของกองทัพในลักษณะนี้ จะส่งผลให้บรรยากาศทางการเมือง ที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้ง ยิ่งกลายเป็นลบ กองทัพควรใจเย็น ดึงตนเองถอยห่างออกจากความขัดแย้ง

ควรให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการออกมาชี้แจงกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับชาวไทยและชาวต่างประเทศมากกว่า

 

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ถ้ามองจากจุดยืนของฝ่ายคนรักประชาธิปไตยก็อยากให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็ว เพราะเห็นว่ามีการกำหนดวันเลือกตั้งออกมาแล้ว

กกต.เองก็ชี้มาแล้วว่าเป็นวันที่ 24 ..2562 แล้วต่อมารัฐบาลยอมรับว่าวันที่ 24 ..2562 แล้วมากลายเป็นว่าจะต้องมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไป

ดังนั้นฝ่ายที่อยากเห็นระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาเลยมีความรู้สึกผิดหวังว่าทำไมยังมีการเลื่อนออกไปอีก ซึ่งมีการเลื่อนออกไปถึง 4 ครั้งแล้ว เลื่อนอีกครั้งก็จะเป็นครั้งที่5

ฉะนั้นถ้ามองจากจุดยืนคนอยากเลือกตั้งก็จะมีเหตุผลที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งภายในวันที่ 24 ..2562 ซึ่งกกต.ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะทำไม่ได้ แต่กลับยอมรับว่าทำทัน

แม้แรกๆ บอกว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งก็ตาม แต่ตอนหลังยอมรับว่าสามารถทำได้แล้วและทำได้ทัน

พอตอนหลังๆ กลับมีความไม่ชัดเจนว่าใครเป็นฝ่ายที่พยายามให้มีการเลื่อน ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มาพูดเพื่อที่จะให้เกิดการโน้มน้าวให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนออกไป ถึงขั้นไปพบและพูดคุยกับกกต.

แต่สุดท้ายแล้วเมื่อมีการทักท้วงว่าถ้าเลื่อนไปอาจจะเกินกรอบเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำให้กกต.มีความผิดที่จัดเลือกตั้งไม่ทันตามกรอบกำหนด 150 วัน

ประเด็นจึงกลับมาที่การประกาศผลเลือกตั้ง 60 วันนี้จะนับรวมกับ 150 วันหรือไม่ ทางนายวิษณุเองก็พยายามยืนยันว่าไม่รวม แต่สุดท้ายแล้วมาบอกว่าใช้วิธีการบริหารจัดการเข้ามาดำเนินการคือให้รวมกรอบ 150 วัน

ถ้าเป็นอย่างนั้นการเลือกตั้งจะทำได้อย่างช้าคือวันที่ 10 มี..2562 ส่วน 150 วันก็จะไปตกวันที่ 9 .. ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วทางฝ่ายที่รณรงค์ให้เลือกตั้งก็มีความรู้สึกว่าไม่มีเหตุผลในการที่จะเลื่อนเลือกตั้งไปเพื่ออะไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการอ้างถึงการกระทบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ต้องบอกว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร เลือกตั้งวันที่ 24 ..ก็ห่างกันตั้งหลายวัน สมมติมีการเลือกตั้ง 24 ..จริงนับจาก 24 ..ไป 60 วันจะไปตกช่วงเดือนเม.. ทุกอย่างจะเรียบร้อยในช่วงนั้น จึงไม่กระทบกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

นอกเสียจากว่าในที่สุดจะให้รัฐบาลไหนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งคงเป็นรัฐบาลชุดนี้จัดอยู่แล้ว เพราะถ้าเลือกตั้งวันที่ 24 .. รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่คงแต่งตั้งไม่ทันจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การพูดในลักษณะที่ไม่มีหลักฐานอะไรที่ชัดเจนเป็นเพียงการพูดลอยๆ หรืออาจเป็นการพูดแบบคาดคะเน ซึ่งถ้าพูดแบบไม่มีหลักฐานจะถือเป็นการพูดปรักปรำกันมากกว่า

กลุ่มคนเหล่านี้โตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว มีวุฒิภาวะพอ แต่เป็นความคิดความตั้งใจของเขามากกว่า เพราะเรื่องนี้เขารณรงค์กันมานานแล้ว จึงไม่เชื่อว่ากลุ่มนี้จะมีใบสั่งอะไร

ส่วนความวุ่นวายขึ้นอยู่กับว่าเรามองว่าความวุ่นวายคืออะไร ถ้ามองจากมุมของ ฝ่ายทหารการที่ออกมาเดินขบวนรณรงค์ ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วอาจจะมองว่าคือความวุ่นวายต่อบ้านเมือง แต่ถ้ามองจากทัศนคติของกลุ่มคนที่นิยมระบอบประชาธิปไตยจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

และต้องถามว่าเขาทำผิดกฎหมายอะไร ถ้าทำผิดกฎหมายแล้วจึงระบุว่าเขาก่อความวุ่นวาย ซึ่งการก่อความวุ่นวายหมายถึงการก่อจลาจลผิดกฎหมาย และไม่เคารพกฎหมาย

แต่ทุกอย่างที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งทำมีการขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่แล้ว แล้วจะไปว่าเขาก่อความวุ่นวายได้อย่างไร

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน