ขั้วที่สาม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ขั้วที่สาม – พรรคที่มีจำนวนส.ส.ขนาดกลาง หรือราว ครึ่งร้อย อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เป็นที่จับตาทั้งก่อนและหลังการเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญประจำปี 2562

เนื่องจากยังไม่เคยประกาศท่าทีชัดเจนว่าจะจับมือกับฝ่ายใด ระหว่างพรรคที่มีจำนวนส.ส.อันดับหนึ่งและแนวร่วมรวม 7 พรรค กับพรรคที่มี จำนวนส.ส.อันดับสอง บวกพรรคเล็ก และการสนับสนุนจากวุฒิสภาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง

เหตุผลคล้ายกันของทั้งสองพรรคที่ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนคือรอฟังเสียงต่างๆ ทั้งภายในพรรคและจากประชาชน

ส่วนที่ผู้คนทั่วไปให้ความเห็นจนถึงขั้นมีการทำโพลถามความเห็นประชาชน คือการจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 ของพรรคขนาดกลาง

แม้การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี และการต่อรองผลประโยชน์ทางกลุ่มธุรกิจ อาจเป็นปัจจัยอย่างไม่เป็นทางการในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ผู้แทนราษฎรควรประกาศท่าทีที่ชัดเจนต่อประชาชน เหมือนกับเมื่อตอนหาเสียง ว่าจะเลือกเส้นทางใดหลังช่วงรัฐประหารให้กับประเทศ

ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลหนนี้จะมีสองขั้ว หรือสามสี่ขั้ว ทิศทางเลือกยังมีอยู่สองเส้นทางเดิม คือเปลี่ยนแปลงแล้วเริ่มต้นใหม่ หรือเดินหน้าด้วยผู้นำเดิมจากยุคคสช.

กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องยากหรือต้องยืดเยื้อ เพราะไม่ต้องรอผลการคำนวณสูตรพลิกแพลงใดๆ

สถานการณ์การเมืองผ่านจุดที่ประชา ธิปไตยตกต่ำและล้มลุกคลุกคลานมานานพอแล้ว จนถึงช่วงที่ผู้แทนประชาชนต้องคิดและพูดกันอย่างตรงไปตรงมา

หากพรรคการเมืองตั้งเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลว่าต้องรับทุกนโยบายของพรรคตนเองไปปฏิบัติ เงื่อนไขดังกล่าวย่อมเป็นขั้นตอนการเจรจาต่อรองตามปกติทางการเมือง

เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ คำสัญญาหรือคำหาเสียงที่แจ้งไว้กับประชาชนจนพรรคได้รับเลือกมาเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกันต้องไม่ละทิ้งแนวทางการเลือกเส้นทางจัดตั้งรัฐบาลที่ประกาศไว้

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งไม่ได้มีหนเดียว สิ่งที่พูดไว้คือไม่เพียงเป็นนายของตนเอง ยังบันทึกและกระจายเป็นเครื่องเตือนใจอยู่ในสื่อ ทั้งกระแสหลักและโซเชี่ยลมีเดีย

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน